ผ้าถุงที่ไม่ไทย? โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ขอบคุณภาพจาก www.leborgabala.com

ผ้าถุงที่ไม่ไทย?

หลังจากที่แบรนด์หรู ชื่อดังอย่าง Balenciaga (อ่านว่า บา-ลอง-เซีย-ก้า ไม่ใช่อ่านว่า บา-ลอง เฉยๆ อย่างที่ชอบเรียกกันย่อๆ จนคนไทยบางกลุ่มเข้าใจผิดว่าชื่อยี่ห้อบาลอง) ปล่อยคอลเล็กชั่นกระเป๋าดีไซน์ใหม่ ที่หน้าตาละม้ายคล้ายเหมือนและชวนให้ระลึกถึงกระเป๋าสายรุ้ง ผ้ากระสอบ ที่เห็นได้ทั่วไปในสยามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคามย่านโบ๊เบ๊ สำเพ็ง ตลาดโรงเกลือ และแม้กระทั่งอีกหลากหลายตลาดนัดทั่วทั้งอุษาคเนย์ ให้เราชื่นใจ (กันไปเอง) ว่าสินค้า OTOP ไทยดังไกลทั่วโลกแล้ว

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ชาวเน็ต” ก็เลยขุดคุ้ยต่อไปอีกว่า นอกเหนือจากถุงสายรุ้งแล้ว “ผ้าถุง” ของไทยก็ยังเคยไปเฉิดฉายบนแคตวอล์กระดับอินเตอร์มาก่อนเหมือนกัน

ก่อนที่จะขยายความ (แบบที่ไม่น่าจะคิดไปถึงขั้นนั้นได้) ว่า “แฟชั่นไทยเป็นผู้นำมานานแล้ว”

แต่เรื่องของเรื่องก็คือ เจ้าผ้าถุงบนแคตวอล์กระดับอินเตอร์ ที่อ้างกันอยู่นั้น ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบที่ชื่อ Maite Muñoz ได้ออกแบบเครื่องแต่งกายดังกล่าวขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน ปี 2016 ให้กับแบรนด์ดังสัญชาติสเปนอย่างเลเบอร์ กาบาลา (Labor Gabala) ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจาก “ดอกชบา” ที่เป็นดอกไม้ประจำชาติของชาวเฮติ ให้กลิ่นอายของคลื่นทะเลลมในทะเลที่สาดกระทบฝั่ง ชายหาด และแสงแดด

Advertisement

เครื่องแต่งกายคอลเล็กชั่นนี้ตัดเย็บด้วยผ้าไหมและผ้าฝ้ายอย่างดี เพื่อให้เกิดความพลิ้วไหว สดชื่น โดยมีทั้งที่ตัดเย็บออกมาเป็นเดรสยาว และใช้เทคนิคของผ้ามัดย้อม ส่วนไอ้เจ้าที่ชาวเน็ตไปตู่ (ไม่ได้หมายถึงชื่อเล่นของท่านผู้นำ) เอาว่าเป็นผ้าถุงนั่น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโชว์บนแคตวอล์กในงานบาร์เซโลน่า แฟชั่นวีก สปริง-ซัมเมอร์ 2016 ที่จัดขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว

ไม่ใช่ว่าทั้งคอลเล็กชั่นที่ว่า จะเต็มไปด้วยเครื่องแต่งกายที่หน้าตากระเดียดมาทางผ้าถุงเสียหน่อย? (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน https://www.matichon.co.th/news/64438)

และต่อให้เครื่องแต่งกายดังกล่าวจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าถุงจริง เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผ้าถุงเป็นของไทยแท้ๆ ไม่ใช่ของชนชาติอื่น ที่เขาก็มีผ้านุ่งหน้าตาแบบนี้ไม่ต่างจากเรานัก?

Advertisement

เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักร แห่งนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ผนวกรวม “ล้านนา” เข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งทางภาคเหนือของสยาม ได้ถวายตัวเป็นสนมในรัชกาลที่ 5 (ต่อมาดำรงพระราชอิสริยยศเป็น พระราชชายา) เมื่อปี พ.ศ.2429 ตลอดระยะที่ทรงใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ พระองค์ทรงเฉพาะแต่ “ผ้าซิ่น” และไม่เคยนุ่ง “โจงกระเบน” เลย

“ผ้าซิ่น” เป็นคำลาวหมายถึง ผืนผ้านุ่งของผู้หญิงที่ไม่ได้เย็บส่วนหน้ากว้างของผ้าเข้าด้วยกันจนเป็นรูปถุง หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “ผ้าถุง”

แต่ทั้ง “ผ้าซิ่น” และ “ผ้าถุง” มีวิธีนุ่งไม่ต่างกันคือปล่อยชายผ้ายาวตกลงมา ไม่ได้มีการถก, ป้ายชายผ้า หรือจัดการให้มีรูปทรงอื่น ลักษณะอย่างนี้ต่างจากการนุ่ง “โจงกระเบน” ซึ่งก็คือการถกผ้าซิ่นที่นุ่งอยู่ขึ้นไปผูกไปทรวดทรงเฉพาะเท่านั้น

การที่เจ้าดารารัศมีไม่ทรงโปรดโจงกระเบน ทำให้เกิดเสียงซุบซิบขึ้นในวังว่า ทรงเป็น “ลาว” นุ่งซิ่น ไม่ใช่ “ไทย” นุ่งโจงกระเบน

อันที่จริงแล้ว “โจงกระเบน” ก็ไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำเขมร โดยคำว่า “โจง” หรือ “จุง” หมายถึง “ผูก” ส่วนคำ “กระเบน” แปลว่า “หาง” โจงกระเบน จึงหมายถึงการนุ่งผ้าแล้วเอาหาง หรือชายผ้ามาผูก หรือมัดเอาไว้ การนุ่งผ้าแบบนี้มีหลักฐานปรากฏอยู่ในเทวรูปของเขมร ที่มีอายุเก่าแก่เกือบๆ 1,500 ปีมาแล้ว ในขณะที่ชนชาติไทย ตามประวัติศาสตร์แห่งชาติ เพิ่งกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 700 ปีมาแล้วเท่านั้น

ผมจึงไม่แน่ใจนักว่า อันที่จริงแล้ว การนุ่งโจงกระเบนควรเป็นอัตลักษณ์ของไทย หรือของเขมร?

อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าดารารัศมีไม่ทรงโปรดโจงกระเบน ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นไทย (และไม่เป็นเขมร?) อย่างน้อยก็สำหรับสาวๆ ชาววังในขณะนั้น อาณาจักรล้านนา ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ในยุคของพระองค์ เรียกตัวเองว่าเป็น “ลาว” ไม่ใช่ “ไทย” อย่างที่มีการเข้าใจผิดกันเป็นบางครั้งในปัจจุบัน

ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ก็มีตัวละครเป็นสาวล้านนา ที่กลับมาอยู่กับขุนแผนคือ นางลาวทอง (แค่ชื่อก็ประกาศตัวว่าไม่เป็นไทยแล้ว) ซึ่งใจความตอนหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่นางวันทอง ต่อว่า (ภาษาสุภาพของคำว่า ด่า) ด้วยการค่อนแคะถึงชาติภาษาของนางลาวทองว่า

“อีลาวชาวดอนค่อนเจรจา กินกิ้งก่ากิ้งกบกูจะตบมึง”

สำนวนในขุนช้างขุนแผนข้างต้น แต่งขึ้นในยุคกรุงเทพฯ ช่วงหลังรัชกาลที่ 2 ลงมา ช่วงเวลาดังกล่าว กรุงเทพฯ ถือเป็นรัฐที่มีอิทธิพลเหนือล้านนาค่อนข้างมาก จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้แต่งจะเอ่ยถึง “ลาว” ล้านนาอย่างดูหมิ่น ผ่านปากของนางวันทองเช่นนี้

เจ้าดารารัศมีถวายตัวเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาไม่ห่างจากสมัยที่นางลาวทองจากล้านนาถูกกล่าวถึงชนชาติของตนอย่างเหยียดหยามนัก “ผ้าซิ่น” (ซึ่งถ้าจับส่วนหน้ากว้างของผ้ามาเย็บติดกันก็จะกลายเป็น “ผ้าถุง”) ยังเป็นสัญลักษณ์ของลาว ที่ถูกเหยียด ก็คงจะเป็นดูเป็นเครื่องแต่งกายที่ดูจะไม่ค่อยอารยะ ในสายตาของพวกไทยที่นุ่งโจงกระเบนด้วย

เอาเข้าจริงแล้ว ร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี สามารถเป็นพยานปากเอกให้กับเราว่า “ผ้าถุง” ไม่เคยถูกตีค่าให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยมาก่อนเลยนะครับ

และถึงแม้ว่าจะมีการริเริ่มนำด้านหน้ากว้างของ “ผ้าซิ่น” มาเย็บเข้าด้วยกันจนเป็น “ผ้าถุง” เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ ในช่วงยุครัชกาลที่ 6 ก็ตาม แต่ผ้าถุงก็ยังไม่ใช่สิ่งที่คนไทยใช้สำหรับการเชิดหน้าชูตาอยู่นั่นเอง

ต้องรอจนกระทั่งวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2484 ที่รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย เลยนั่นแหละ

ผ้าถุงจึงจะถูกนับให้เป็นไทย

(รัฐนิยมที่ว่าก็คือประกาศของทางการ เกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติอันมีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 12 ฉบับ ทั้งหมดประกาศขึ้นระหว่าง พ.ศ.2482-2485 ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังคุกรุ่นทั้งสิ้น)

ถึงแม้ว่าประกาศรัฐนิยมฉบับที่ว่าจะไม่ได้กล่าวอะไรมากไปกว่าการบังคับให้ประชาชนแต่งกายสุภาพ แต่ประกาศฉบับนี้ก็ออกมาพร้อมกับแผ่นภาพโฆษณาของทางการ ที่มีภาพตัวอย่างแสดงให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า ประชาชนชาวไทยควรจะแต่งตัวเช่นไร? (ดูในภาพประกอบ)

ภาพประกอบจาก : http://thaiprogressive.blogspot.com/2008/07/preserve-or-nurture.html
ภาพประกอบจาก : http://thaiprogressive.blogspot.com/2008/07/preserve-or-nurture.html

ภาพทางด้านขวามือ ที่รัฐท่านโฆษณาเอาไว้ว่า “จงทำ ไทยอารยะต้องแต่งกายแบบนี้” แสดงภาพหญิงสาวนุ่งผ้าถุง พร้อมมีคำอธิบายว่า “นุ่งผ้าสิ้น (ผ้าถุง) จงทุกคน” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีความพยายามให้การนุ่งผ้าถุงเป็นไทยอารยะ ตามอย่างประเพณีนิยม

ในขณะเดียวกัน ภาพทางด้านซ้ายมือ ที่มีข้อความจั่วหัวเอาไว้ว่า “อย่าทำ แต่งกายแบบนี้ไม่ใช่ไทยอารยะ” แสดงรูปผู้คนที่นุ่งโจงกระเบน ถึงแม้จะไม่มีคำอธิบายเขียนไว้ชัดๆ ก็เถอะ แต่การนุ่งโจงกระเบน อย่างที่นางในทั้งหลายเคยกระซิบกระซาบว่าเป็นไทยกรุงเทพฯ นักหนากลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่อารยะไปเสียแล้วในช่วงสมัยของจอมพลแปลก

ส่วนการนุ่งผ้าซิ่น ผ้าถุง ที่ถูกกล่าวหาอย่างเหยียดๆ ว่าเป็นลาวนั้น ก็กลับกลายเป็น “ไทยอารยะ” มันเสียอย่างนั้น

เอาเข้าจริงจึงไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่เลยนะครับ ที่ชาวเน็ต สัญชาติไทย บางคนจะอ้างว่า เครื่องแต่งกายชุดนั้นของเลเบอร์ กาบาลา จะเป็นผ้าถุง ก็ในเมื่อ จอมพล ป. ท่านบอกเอาไว้ว่า ผ้าถุง มันแสดงความเป็นไทยอารยะเสียขนาดนั้น?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image