ชุมชนป้อมมหากาฬ ถูกทำลายโดยระบบการศึกษาแบบอาณานิคม

เสวนา – ศิลปวัฒนธรรม จัดเสวนา “อินเดียโมเดล กับสยามใหม่รัชกาลที่ 5” โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผศ. ดร. กัณฐิกา ศรีอุดม และ ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ดำเนินรายการ มีผู้ร่วมรับฟังจำนวนมาก ที่ห้องโถงมติชนอคาเดมี ประชาชื่น กทม. เมื่อวันที่ 26 เมษายน (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561 หน้า 7)

 

“ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง” คนชั้นนำไทยใช้หลอกตัวเอง แล้วหลอกคนในไทยให้หลงเชื่อตราบจนทุกวันนี้

Advertisement

แต่ฝรั่งรู้ตลอดมาว่า “ไทยเป็นอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการ”

ความทันสมัยแบบโลกตะวันตกของไทยสมัย ร.5 รับจากอินเดียและสิงคโปร์ เช่น หอสมุดแห่งชาติ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไทยไม่รับตรงจากยุโรปตามที่มีบอกในตำราทางการของไทย

“จุดสำคัญของโลกสมัยใหม่ คือ สิงคโปร์และกัลกัตตา ที่สยามไปดูว่าเป็นอย่างไร และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร”—-“พบว่า ความเป็นโลกสมัยใหม่ต้องมีหอสมุด, พิพิธภัณฑ์ และสวนพฤกษศาสตร์”

Advertisement

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักปราชญ์ร่วมสมัยของไทย บอกในรายการศิลปวัฒนธรรมเสวนา เรื่องอินเดียโมเดลกับสยามใหม่สมัย ร.5 ที่มติชนอคาเดมี เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2561  (มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561 หน้า 7)

จากนั้น คนชั้นนำไทยก็จัดให้มีทุกอย่างแบบอาณานิคมที่พบจากอินเดีย, สิงคโปร์ รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีแบบอาณานิคม

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรื่องราวเหล่านี้ผมได้ยินได้ฟังหนาหูจากนักวิชาการทั้งไทยและไม่ไทย แล้วเชื่อว่าการศึกษาของไทยแบบอาณานิคมจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเองจน “ไม่อาณานิคม” ในช่วงเวลาข้างหน้า

แต่แล้วจนถึงทุกวันนี้ครูบาอาจารย์ส่วนมากไม่เปลี่ยน โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีแบบอาณานิคม ยังยึดถือมั่นคงเหนียวแน่นอย่างไม่น่าเชื่อ จึงเล่ากล่าวขวัญกันมาว่าเป็นที่ปวดเศียรเวียนเกล้าของอาจารย์มหาวิทยาลัยในลอนดอน ที่มีนักศึกษาไทยไปเรียนต่อที่นั่นแล้วอวดภูมิรู้แบบอาณานิคมล้าหลังโคตรๆ

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ ถูกทำลายด้วยสำนึกแบบอาณานิคม

Open museum ควรมีบนโลกโซเชียล เรื่องชุมชนป้อมมหากาฬชานกำแพงพระนคร

เป็นประวัติศาสตร์สังคมว่าชุมชนนี้มีกำเนิดพร้อมกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วล่มสลายขณะฉลอง 236 ปี กรุงเทพฯ ด้วยฝีมือ คสช. และด้วยการนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นของนักโบราณคดีไทยส่วนข้างมาก

ชุมชนชานกำแพงพระนครที่ป้อมมหากาฬ ถูกล้อมปราบราพณาสูร โดยมีเหตุสำคัญจากระบบการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีแบบอาณานิคม

[ราพณาสูร (ราบ-พะ-นา-สูน) แปลว่า ยักษ์ (ส. ราวณ+อสุร) หมายถึง ฉิบหายวายวอด, ป่นปี้, ปู้ยี่ปู้ยำทำลายไม่เหลือชิ้นดี (เป็นการเล่นคำ จากคำว่า “ราบ” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “ราพณ์” อันเป็นชื่อของยักษ์) สรุปจากพจนานุกรม ฉบับมติชน 2547]

  1. โบราณคดีแท้จริงไม่มีในไทย ที่มีคือ “โบราณคดีแบบอาณานิคม” รับมาจากเจ้าอาณานิคมยุโรป ราว 100 ปีที่แล้ว ซึ่งเต็มไปด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะของคนชั้นนำทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม

จึงให้ความสำคัญสูงสุดที่วัดกับวัง โดยไม่สนใจบ้านเรือนในชุมชนท้องถิ่นที่มีคนรากหญ้ารกรุงรังอีเหละเขละขละ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของบ้านเมืองและรัฐนั้นๆ เป็นกำลังรบสำคัญมากที่สุดในยามสงคราม

 

 หลังเอก – คนงานเข้ารื้อถอนบ้านเลขที่ 123 ในชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นทรงปั้นหยา สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2499 บรรยากาศเป็นไปอย่างโศกเศร้า ส่วนรูปเล็กจิตอาสาช่วยกันจับแมวในชุมชนส่งคลินิกย่านประชาชื่น เพื่อตรวจเลือด ทำหมันและรักษาโรค ก่อนประกาศหาผู้รับเลี้ยงต่อไป เมื่อวันที่ 26 เมษายน (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561 หน้า 1)

 

  1. ประวัติศาสตร์ไทยแท้จริงยังไม่มี ที่มีคือประวัติศาสตร์สงคราม ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม

จึงให้ความสำคัญสงครามวีรบุรุษ โดยท่องจำเหตุการณ์ที่แต่งเป็นนิยายปลุกระดมรักชาติตนเองแล้วเกลียดชาติเพื่อนบ้าน ถือเป็นประวัติศาสตร์บาดหมางสร้างบาดแผลมีแต่ความร้าวฉาน

แล้วรังเกียจลักษณะสังคมหลากหลายนานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วน “ทำมาหากิน” เป็นพลังการผลิตข้าวปลาอาหาร โดยบางกลุ่ม “ทำมาค้าขาย” หารายได้เข้ารัฐ ขณะเดียวกันก็เป็นทกล้าทหารกำลังหลักในสงคราม

 

ชุมชนชานกำแพงพระนคร

ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนชานกำแพงพระนครที่มีชีวิตเหลือแห่งเดียวในไทย

จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีสำคัญมากๆ ของไทย เพราะไทยไม่เคยเก็บรักษาและศึกษาวิจัยสิ่งนี้มาก่อน ไม่ว่าอยุธยา, สุพรรณภูมิ, ละโว้, สุโขทัย, เชียงใหม่, นครศรีธรรมราช ฯลฯ ในอุษาคเนย์ก็ยังไม่เคยพบอย่างนี้ (เว้นเสียแต่ผมเองไม่เคยเห็น แต่คนอื่นเคยเห็น)

เมื่อชุมชนป้อมมหากาฬชานกำแพงพระนครถูกปราบราพณาสูร ขณะฉลอง 236 ปีกรุงเทพฯ ก็เท่ากับ

  1. เผด็จการ คสช. โดย กทม. ทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และประวัติศาสตร์ไทยโดยรวม เกี่ยวกับชุมชนชานกำแพงพระนคร
  2. นักโบราณคดีไทยส่วนมากทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ไม่แสดงปฏิกิริยาคัดค้านการทำลายชุมชนชานกำแพงพระนครที่ป้อมมหากาฬ ก็เท่ากับสนับสนุนมหกรรมทำลายอย่างเต็มอกเต็มใจ แถมบางคนอาจมีส่วนได้ด้วยซ้ำ (มีนักโบราณคดีไม่กี่คนที่ร่วมแสดงตนคัดค้านอย่างจริงจัง)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image