ย้อนอดีตกรุ (ง) แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 4 ‘เครื่องประดับเศียรทองคำ’ (ต่อ)

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

สภาพภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ  มีจิตรกรรมฝาผนังวิจิตรพิสดาร
สภาพภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ มีภาพจิตรกรรมวิจิตรพิสดาร

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

Advertisement

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์ และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

เครื่องประดับเศียร
บทความโดย นายชิน อยู่ดี หัวหน้าแผนกวิชาการ กองโบราณคดี (ต่อจากตอนที่แล้ว)

ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเวปไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)
ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเวปไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

สำหรับเครื่องประดับเศียรชิ้นที่ 2 นั้นเป็นแบบเดียวกับเครื่องประดับพระเศียรที่รูปสัมฤทธิ์ เลขที่ 800 ก. อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ว่าเป็นเจ้าหญิงครั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฎหมายเก่าเล่ม 2 ว่าด้วยกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงเครื่องประดับเศียรสตรีไว้ว่า

Advertisement

(1) พระอัครมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชประโภคมีมงกุฎเกือกทอง
(2) พระราชเทวี พระอัครชายา ทรงราโชประโภคลดมงกุฎทรงพระมาลามวยหางหงส์
(3) ลูกเธอเอกโท ใส่เศียรเพชร มวยกลม
(4) หลานเอกโท ใส่เศียรเพชร มวยกลม
(5) แม่เจ้าสนองพระโอษฐ์ ใส่สนองเกล้า
(6) ชะแม่หนุนหยิก ใส่เกี้ยวดอกไม้ไหวแชม
(7) โขลนเกล้ารัดแครง
(8) เมียนา 10,000 หัวเมืองทั้งสี่ เมื่องานใส่เศียรเพชรมวย เมียจตุสดมภ์เกล้าหนุนหยิกเกี้ยวแชม
(9) เมียนา 5,000 นา 3,000 หนุนหยิกแชม”

มาลาทองคำ

เครื่องประดับพระเศียรที่รูปสัมฤทธิ์ เลขที่ 800 ก. อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ว่าเป็นเจ้าหญิงครั้งกรุงศรีอยุธยา
เครื่องประดับพระเศียรที่รูปสัมฤทธิ์ เลขที่ 800 ก. อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าหญิงครั้งกรุงศรีอยุธยา

เครื่องประดับเศียรชิ้นที่ 2 ที่ได้จากวัดราชบูรณะนี้ เข้าใจว่าเป็นพระมาลามวยหางหงส์ของพระราชเทวี พระอัครชายา
เฉพาะลวดลายนั้น คล้ายลายที่ได้จากภาพเขียนในซุ้มพระสถูป วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย และลายจากวิหารพระศรีอาริย์ วัดพระเชตุพน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย น่าสังเกตว่าครั้งอยุธยาตอนต้น ในด้านวัฒนธรรมมีบางอย่างคล้ายกับสุโขทัย เช่น
1.พระพิมพ์แบบสุโขทัย ขุดได้ที่กรุวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.พระพิมพ์แบบอู่ทอง พบในกรุวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองสุโขทัย
3.ตัวหนังสือแบบสุโขทัยที่มีองค์พระพิมพ์ทำด้วยดีบุก พบที่กรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
4.ลวดลายที่มงกุฎของเทวรูปสมัยสุโขทัย เหมือนกับลวดลายที่มงกุฎพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

มาลาทองคำ

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image