ใต้เวิ้งฟ้า ใครเคยตั้งคำถามตัวเองบ้าง

นิตยสาร ไทม์ จัดให้นิยายเล่มนี้เป็นหนึ่งในนิยายดีที่สุด ๑๐๐ เล่มที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ระหว่างปี ๒๔๖๖(๑๙๒๓) ถึง ๒๕๔๘(๒๐๐๕) ส่วน เดอะ โมเดิร์น ไลบรารี่  จัดให้อยู่ลำดับ ๙๗ ของนิยายดีที่สุด ๑๐๐ เล่มแห่งศตวรรษ

นิยายเรื่องนี้คือ เดอะ เชลเตอริ่ง สกาย (The Sheltering Sky) ของ พอล โบว์ลส์ (Paul Bowles) ที่เขียนเกี่ยวกับสภาวะอันแปลกแยก และความติดข้องอันลึกซึ้งในจิตใจผู้คน

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นแต่ปี ๒๔๙๒ และกว่าจะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ล่วงเข้าปี ๒๕๓๓ แล้ว โดยผู้กำกับที่เรียกได้ว่ามีชื่ออื้อฉาวตั้งแต่ทำหนัง ลาสท์ แทงโก อิน ปารีส (๒๕๑๕) ที่พระเอก มาร์ลอน แบรนโด ในวัย ๔๘ เปลือยกายแสดงบทรักกับ *มาเรีย ชไนเดอร์* ถูกกล่าวขวัญไปทั่วโลก ต่อมาเป็นเจ้าของงาน

Advertisement

ต่อมาเป็นงานของ เดอะ ลาสท์ เอมเปอเรอร์ (๒๕๓๐) เรื่องจักรพรรดิ์องค์สุดท้ายของจีนกับหนังพุทธประวัติ ลิตเติล พุทธะ (๒๕๓๖)

แบร์นาโด แบร์โตลูชชี ผู้นี้นำนิยายของโบว์ลส์มาให้ภาพทะเลทรายซาฮาราอันงามพิศดาร จากการถ่ายทำให้อัฟริกาเหนือ เดินเรื่องคู่สามีภรรยาจากนิวยอร์คซึ่งปรารถนาจะแสวงการผจญภัย พร้อมเพื่อนชายอีกคน

หนังแสดงชีวิตของหญิงชายที่พยายามสะสางปัญหาการอยู่ร่วม ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยประสบ ขณะเดียวกับต้องรับมือภัยที่คาดไม่ถึง พร้อมๆการสำรวจลึกลงในจิตใจตัวเอง เป็นความยากลำบากที่ต้องตั้งสติอย่างแสนเข็ญ ฝ่ายชายแสดงโดย จอห์น มัลโควิช และฝ่ายหญิงคือ เดบรา วิงเงอร์ ฝีมือระดับชิงตุ๊กตาทองมาแล้วทั้งนั้น เพื่อนชายคือ แคมเบลล์ สกอท

Advertisement

หนังได้รับรางวัลภาพยอดเยี่ยมจากตุ๊กตาทองอังกฤษ ได้รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากลูกโลกทองคำ ฝีมือ ริชาร์ด โฮโรวิทซ์ กับ ริวอิจิ สะกะโมะโตะ ซึ่งฝ่ายหลังยังทำงานกับแบร์โตลูชชีต่อมาอีก ได้รางวัลออสการ์กับลูกโลกทองคำและรางวัลแกรมมีจาก เดอะ ลาสท์ เอมเปอเรอร์ และเข้าชิงลูกโลกทองคำจาก

ลิตเติล พุทธะ แม้จนงานหลังๆเช่น เดอะ เรเวอแนนท์ ที่พระเอก เลโอนาร์โด ดีคาร์ปริโอ คว้าตุ๊กตาทองไป ก็ทำดนตรีประกอบเข้าชิงได้ทั้งตุ๊กตาทองอังกฤษ ลูกโลกทองคำ และแกรมมี

สาธยายมาทั้งนี้เพื่อจะบอกว่า ขนาดหนังซึ่งเป็นภาพที่หากมิใช่นักแสดงมีฝีมือ ย่อมยากจะนำผู้ชมล่วงลึกลงในจิตใจตัวละครได้กระจ่าง แต่ก็ยังให้ภาพและเสียงดนตรีโน้มน้าวได้ไม่น้อยแล้ว ถ้าได้อ่านฉบับพากย์ไทย ใต้เวิ้งฟ้า ซึ่งแปลละมุนโดย อทิมา ผ่านความคิด อารมณ์ และความรู้สึกไล่ตามตัวอักษรไป รสชาติจะกินใจได้หมดจดขนาดไหน โดยเฉพาะผู้ที่เกิดมาเป็นตัวเอง แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะรับมือกับตัวเองในเรื่องต่างๆได้อย่างไร

อย่าพลาด

นิยายแปลอีกเรื่องที่ไม่เบื่อหน่ายจะแนะนำ เนื่องจากอยากจะให้ความตื่นเต้นสนุกสนานของเรื่อง ไปถึงมือผู้

นิยมนิยายซึ่งมีชั้นเชิงเล่าเรื่องให้ติดตามได้อย่างไม่ย่อท้อ ยอดกุนซือทะลุมิติ ๘ สี่ร้อยกว่าหน้าและ ยอดกุนซือทะลุมิติ ๙ ห้าร้อยกว่าหน้า อ่านเพลิดเพลินแทบไม่อยากวาง

โดยเฉพาะเมื่อตำรวจนิติเวชพิสูจน์หลักฐานการเสียชีวิต ต้องพลัดจากปัจจุบันสู่อดีตยุคราชวงศ์หมิง ที่จารีตและขนบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนยังกำกับเข้มข้น

ผู้เขียนให้รายละเอียดตัวละครอย่างเป็นธรรมชาติ แม้เจ้าหน้าที่ชันสูตรและลงทัณฑ์หนุ่มนายนี้ จะสามารถไขคดีลึกลับหรือซับซ้อนให้คลี่คลายลงได้ ระหว่างเผชิญปัญหาชีวิตรักที่พัวพันไม่หยุดหย่อน ก็ยังสามารถชักจูงผู้อ่านให้หลงตามไป ด้วยการวางนิสัยใจคอของผู้คนที่แม้จะตกในท่ามกลางธรรมเนียมที่ขาดอิสระ

แต่พื้นเดิมอันดีและมองโลกอย่างที่เป็นอยู่โดยไม่คาดหมาย ก็ทำให้นักอ่านต้องอ่านไปเดาไปกับพฤติกรรมที่บางครั้งคลุมถุงชน บางครั้งมัดมือชก บางครั้งข่มเหงรังแก เป็นเรื่องราวต่างๆขึ้นมา

ยิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับจักรพรรดิ์และราชสำนัก ความละเอียดลออของผู้เขียน ช่วยให้เราเรียนรู้กระทั่งถ้อยคำหรือประโยคสามัญธรรมดาๆ ว่าสำหรับขุนนางแล้ว ประโยคเดียวกันแต่ผู้พูดคนละคน มีผลแตกต่างกันน่ากลัวระดับใด

เล่มล่าสุดหนาถึง ๕๐๐ หน้าเพราะมีคดีสำคัญยากเย็นที่ผ่านมือเจ้าเมืองหลายคนมานับสิบๆปี แต่ยังไม่คลี่คลาย ที่ต้องจบลงให้ได้ หลอกล่อนักอ่านให้รู้สึกเหมือนคาดเดาถูกแล้ว แต่การกลับกลายเป็นอีกรูป

มู่อี้ ใช้วิธีการนี้ต้อนนักอ่านเล่นอยู่เรื่อยๆ จนทำให้นึกจะจับทางให้ได้ว่า ไม่น่าจะลงเอยอย่างนี้หน่า เดี๋ยวจะต้องกลับตาลปัตรเป็นอีกอย่าง สนุก กระดิ่งหยก ผู้แปลไปเลย
ต้องหาอ่านกันให้ได้ เล่มหน้าจะจบแล้ว ขอบอก


จากนิยายที่ล่วงลึกในใจมนุษย์ จากนิยายสนุกสนานผ่อนคลายแต่ได้ความคิด มาถึงเพชรยอดมงกุฎวรรณกรรม นั่นคือบทกวี

ระหว่างวันที่ ๑-๙ ตุลาคมที่จะถึง รางวัล วรรณศิลป์อุชเชนี จะประกาศผู้ชนะในสองสาขา คือประเภทกลอนสุภาพและความเรียง ซึ่งทั้งสองประเภทนั้นมีผู้เข้าแข่งขันสองระดับคือ ระดับนักเรียนกับประชาชน ด้วยหัวข้อการประกวดคือ *เพียงแค่เม็ดทราย* ซึ่งเป็นชื่อความเรียงเล่มหนึ่งของ อุชเชนี ในนามปากกา นิด นรารักษ์

อุชเชนีกับงานกวี ขอบฟ้าขลิบทอง เป็นชื่อที่เคียงคู่กันมายาวนาน ในวาระที่นักอ่านรำลึกถึงกวีฤาแล้ง แหล่งสยามนามหนึ่ง หนังสือที่มอบคุณค่าประโลมจิตใจสังคมสองเล่มนี้ ยังจำหลักอยู่อย่างไม่เริดร้าง
หาหนังสือสองเล่มนี้อ่านเอาเย็นได้ไม่ยากที่ *สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย* ช่องนนทรี ยานนาวา โทร. (๐๒)๖๘๑๓๙๐๐ ต่อ ๑๘๐๕

 

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image