สนทนาก่อนงานหนังสือระดับชาติ ‘สุชาดา สหัสกุล’ กับโจทย์หินของคนทำ”หนังสือ”

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 และเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 งานเทศกาลครั้งสำคัญของคนรักการอ่าน ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

แม้ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจหนังสืออาจจะไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุชาดา สหัสกุล ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่างานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ จะกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่าน “การอ่าน” ให้ได้

ด้วยความเชื่อที่ว่า “การอ่านหนังสือคือการทำให้คนมีคุณภาพ”

Advertisement

สำหรับ สุชาดา เป็นคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิด ในวัยเด็กเธอชื่นชอบและรักการอ่านอย่างมาก

“สมัยก่อนไม่มีหนังสือเด็กอ่าน คุณพ่อจะอ่าน “บางกอก รายสัปดาห์” ส่วนคุณแม่อ่านนิตยสาร “สกุลไทย” เราก็อ่านตามพ่อกับแม่ และรอคอยว่าเมื่อไหร่หนังสือจะมา ส่วนเรื่องเรียนก็อยู่ระดับกลางๆ ชอบพวกวิชาประวัติศาสตร์ ภาษาไทย และศิลปะ แต่ถ้าเป็นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์จะไม่ค่อยชอบ และถามตัวเองว่าจะเรียนไปทำไม (หัวเราะ)”

ตอนจบ ม.ศ.5 สุชาดาอยากเข้ามัณฑนศิลป์มาก แต่เพราะต้องสอบวิชาคณิตศาสตร์ เลยคิดว่าสอบไปคงไม่ติด สุดท้ายตัดสินใจเลือกสอบเข้าคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองพอดี

“ตอนเรียน ม.ศ.5 เป็นช่วง 14 ตุลา 2516 มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งไปร่วมชุมนุม ครูก็ห้ามนะเพราะกลัวว่าจะอันตราย แต่เราดื้อก็แอบชวนกันไปประจำ ในวันที่ 13 ตุลาคม ก็ไปเข้าร่วมแต่กลับมาก่อนในคืนนั้น พอตอนเช้าก็เกิดเหตุขึ้น หลังจากนั้นก็ร่วมกิจกรรม ร่วมเดินขบวนตลอด ซึ่งการร่วมกิจกรรมให้อะไรกับเราเยอะมาก จากเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่สุงสิงกับใคร มีโลกส่วนตัวสูง แต่พอได้มาเรียนรู้เรื่องการเมือง ทำให้ได้สัมผัสกับคนเยอะเเละได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทำให้เรามีวิธีคิด มีมุมมองและวิธีตัดสินใจที่ดีขึ้น ยังเป็นที่มาของการชอบอ่านหนังสือแนวสังคม ปรัชญาการเมือง เพราะตอนนั้นมีหนังสือดีๆ เยอะ”

สุชาดาบอกอีกว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เหมือนประชาธิปไตยแบ่งบาน จะอยู่กับกลุ่มเพื่อนเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปช่วยงานเบื้องหลัง ช่วยเขียนโปสเตอร์ตลอด พอวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ จนประมาณเที่ยงคืนมีความพยายามให้คนออกจากพื้นที่ ก็เลยกลับบ้านมา เเต่คิดว่ารุ่งขึ้นจะกลับไปร่วมกิจกรรมต่อ ปรากฏว่าตอนเช้าได้ทราบข่าวที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์อย่างที่ทุกคนทราบกัน

“ต้องบอกว่าคุณพ่อเป็นทหารอาสาไปรบที่เวียดนามมาก่อน ก็จะมีปัญหากับพ่อตลอด วันที่ 6 ตุลาคม ก็เหมือนพูดกันไม่รู้เรื่อง เขาก็จะห้ามไม่ให้เราไป ซึ่งเราก็รู้ว่าคงเข้าไปข้างในไม่ได้หรอก แต่ก็อยากจะไปเพราะเป็นห่วงเพื่อนที่อยู่ในนั้น”

หลังเหตุการณ์ สุชาดาคอยช่วยเหลือ ซัพพอร์ตเพื่อนจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าป่า

“เราไม่ได้เด่นดัง เเต่ขณะนั้นเราไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีการตามอะไรกันแค่ไหนยังไง เลยต้องเอาหนังสือไปฝัง เอาเข้าจริงเรื่องการเคลื่อนย้าย หรือทำลายอะไรก็ตาม พ่อก็ช่วยเพราะความที่เป็นพ่อลูกกัน”

หลังเรียนจบเป็นครูฝึกสอนอยู่ 1 เทอม เนื่องจากไม่ชอบอยู่ในระบบงานราชการ จึงตัดสินใจทำงานสายกราฟิกดีไซน์ ด้านสิ่งพิมพ์ กระทั่งมีลูกคนที่ 2 ตัดสินใจเปลี่ยนงาน

“คิดว่าชีวิตจะนั่งแบบนี้ไปถึงอายุเท่าไหร่ แล้วการทำอาร์ตเวิร์กสมัยนั้นต้องตัดแปะ เลยถามตัวเองว่าลองเปลี่ยนใหม่ไหม ตอนนั้นมีคนชวนไปทำานในออฟฟิศ คล้ายงานธุรการ”

หลังทำงานระยะหนึ่ง สุชาดาก็ตัดสินใจเปิดบริษัทกราฟิกของตัวเอง จนกระทั่งปี 40 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง งบโฆษณาถูกตัดทำให้ธุรกิจกราฟิกเริ่มคลอนแคลน

“คิดว่าถ้าเราเลิกแล้วลูกน้องจะทำอย่างไร เลยตัดสินใจลองทำหนังสือโดยกำหนดวงเงินลงทุนไว้ถ้าไม่รอดก็เลิก แต่กลายเป็นว่าธุรกิจหนังสือไม่ได้สะเทือน เพราะยิ่งคนมีปัญหาก็ยิ่งไขว่คว้าหาความรู้ หาหนังสืออ่าน”

สุชาดาจึงตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์พาส เอ็ดดูเคชั่น ทำหนังสือเด็กเพราะเป็นงานที่ถนัดตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

ก่อนถูกชักชวนมาร่วมงานกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และได้รับเลือกเป็นเป็นนายกสมาคมคนปัจจุบัน

มองธุรกิจหนังสืออย่างไร?

ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่เอื้อต่อปัญญา ทุกวันนี้คนทำสำนักพิมพ์ไม่รวยหรอก แต่สิ่งที่ทำให้ยังนั่งทำอยู่เพราะเรารู้สึกว่าเรามีประโชยน์ต่อสังคม

เป้าหมายที่วางไว้ในฐานะนายกสมาคมเป็นอย่างไร?

ต้องบอกว่าการเป็นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยุคนี้ลำบากมาก ต้องเป็นพวกหมูไม่กลัวน้ำร้อน (หัวเราะ)

จริงๆ ไม่เคยคิดอยากเป็นเพราะชอบทำเบื้องหลังมากกว่า แต่ครั้งนี้เหมือนไม่มีคนแล้วเลยมาลองทำดู ซึ่งสมาคมมีภารกิจที่ตั้งไว้อยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ส่งเสริมอาชีพ 2.ส่งเสริมการอ่าน 3.ส่งเสริมการตลาดและการขาย ซึ่งในภาวะแบบนี้ค่อนข้างยาก เราพยายามประสานงานกับภาครัฐ เช่น กระทรวงวัฒนธรรมกำลังมีแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งน่าจะช่วยได้มากถ้ามีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง รวมถึงเรื่องของโครงการพวงหรีดหนังสือ โครงการหนังสือติดดาว ด้วย

รวมถึงหาช่องทางอื่น เช่น ออนไลน์ มีการอบรมให้สมาชิกรู้วิธีซื้อขายผ่านช่องทางนี้ หลังจากร้านหนังสือปิดตัวลงเยอะ ตรงนี้เป็นการติดอาวุธให้สมาชิก ซึ่งบางคนก็ไปได้ดี แต่ก็มีบางส่วนที่ยังต้องผลักดันอยู่

แสดงว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีเป็นผลดีกับแวดวงหนังสือ?

ดิจิทัลเป็นเรื่องที่เข้ามาแล้ว เราจะปฏิเสธว่าไม่เอาไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมันเข้ามาก็อยู่ที่ว่าจะใช้งานอย่างไรให้ได้ประโยชน์ และระมัดระวังอย่างไรไม่ให้มีปัญหา ซึ่งไม่ใช่แค่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียวที่โดนผลกระทบตรงนี้

ปัญหาใหญ่ของสำนักพิมพ์ในปัจจุบันคืออะไร?

เรื่องการขายและช่องทางการขาย ที่ควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เราถือว่าการอ่านคือการทำให้คนมีคุณภาพ แต่ถ้าไม่ได้ถูกผลักดันเป็นนโยบายของภาครัฐมันก็ยากนะ เพราะว่าเมืองไทยไม่ใช่สังคมที่อ่านหนังสือ เป็นสังคมของคนที่เจ๊าะแจ๊ะพูดคุย ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ขณะที่บางประเทศถูกสอนด้วยสังคมให้อ่านหนังสือมาตั้งแต่เล็ก ดังนั้น เรื่องการอ่านจะต้องมีแผนและนโยบายที่ชัดเจน เเละไม่ใช่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นคนทำ จะต้องมีคนกลางที่สามารถดูแลทั้งหมดและผลักดันให้เกิดการอ่านได้

แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน มองว่ามันจะเห็นผลมากน้อยแค่ไหน?

ตอนแรกก็หวังนะว่ามีแผนแม่บทเเล้วคนไทยจะอ่านหนังสือมากขึ้น เเต่ต้องบอกว่าเหนื่อยแทนกระทรวงวัฒนธรรม เพราะเท่าที่ทราบคือมีงานมาแต่งบไม่มา เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานต้องมีเงิน ไม่ใช่มีแต่โปรเจ็กต์หรือแนวคิด เเต่คนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณ ถ้าบอกว่าเอาไปทำถนนเขาเข้าใจ แต่เอางบไปทำเรื่องส่งเสริมการอ่าน มันนามธรรมมากเลยอาจจะไม่เข้าใจ เลยทำให้ไม่ได้งบและทำให้ขับเคลื่อนไม่ได้

หลายคนมองว่าหนังสือในประเทศไทยราคาแพง?

ต้องถามว่าวัดจากอะไร สมมุติเราไปวัดกับสิงคโปร์หรือเทียบกับไต้หวัน อาจจะดูเหมือนว่าราคาเดียวกัน แต่ค่าครองชีพเขา รายได้เขาเยอะกว่าเรา เลยอาจจะดูแพง แต่ถ้าเอาหนังสือ 1 เล่มไปเทียบกับบุหรี่ 1 ซอง หรือตั๋วหนัง 1 ใบ ราคาอาจไม่ต่างกัน แต่หนังสืออ่านแล้วอ่านอีกได้

ดังนั้น หนังสือจะแพงหรือไม่อยู่ที่ว่าจะเทียบกับอะไร แต่คุณค่าของมันบางทีเทียบไม่ได้ ที่สำคัญที่บอกว่าหนังสือแพง เพราะเราไม่ได้รับการสนับสนุนตรงนี้ ในขณะที่ประเทศอื่นเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

โอกาสที่จะเกิดนักเขียนหน้าใหม่ในปัจจุบันนี้ มองว่ายากง่ายอย่างไร?

นักเขียนเขาพูดเองเลยว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นนักเขียนง่ายเพราะมีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถ้าเขียนดีก็มีคนมาทักทาย กดไลค์ กดแชร์ มีช่องทางในการนำเสนอไม่เหมือนนักเขียนสมัยก่อนที่ต้องเดินหอบต้นฉบับไปเสนอจนรองเท้าสึก ดังนั้น สมัยนี้มีโอกาสกว่า

แล้วสำนักพิมพ์เกิดใหม่ล่ะ?

ภาวะวิกฤตแบบนี้ มันน่าจะมีคนล้มหายตายจากไปเหลือไม่กี่เจ้า แต่มันแปลกตรงที่ว่า ทุกเดือนจะมีคนเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ มาสมัครเป็นสมาชิก คือมีเก่าไปใหม่มา เพราะฉะนั้น มันอาจจะเป็นแพชชั่นของคนที่อยากจะทำสำนักพิมพ์ หรืออาจจะมองว่าหนังสือแนวนี้น่าทำ แล้วยังไม่มีคนทำเข้ามา

แสดงว่าในธุรกิจหนังสือก็ยังมีช่องทางและโอกาส?

คิดว่าทุกคนมีโอกาส แต่ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ อันนี้อยู่ที่ฝีมือ และปัจจัยแวดล้อม

จากสถานการณ์ตอนนี้ มีหนังสือหมวดไหนบ้างที่กำลังเติบโต?

ตอนนี้คนอ่านหนังสือหมวด “วาย” เยอะ และเท่าที่สังเกตหมวดวรรณกรรมแปลก็เริ่มมา เช่นหนังสือ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ Sapiens” ยังไม่ทันเปิดตัวขายไปแล้ว 5-6 พันเล่ม เขาพิมพ์แล้วพิมพ์อีก น่าอิจฉามากเลย (หัวเราะ)

คิดว่าหนังสือแปลมีข้อดีคือ มีเครดิตมาแล้วบางเล่มเป็นเบสต์เซลเลอร์หรือได้รางวัล ก็มีโอกาสขายได้ทำให้สำนักพิมพ์ไม่ต้องมาเสี่ยงกับการปั้นหนังสือเอง

ซึ่งการเลือกพิมพ์หนังสือ ถ้าทำถูกจุดก็สามารถพิมพ์ได้เรื่อยๆ มันอยู่ที่ว่าเขาหาถูกหรือเปล่าว่ามันมีหนังสืออะไรที่คนรออ่านแล้วยังไม่มีคนทำ อย่างตอนนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีคนเริ่มต้นทำหนังสือสำหรับคนสูงอายุหรือยัง

เเล้วกระแสหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างไร?

อีบุ๊กอาจมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เครื่องมือ อินเตอร์เน็ตและการเข้าถึง ที่มีส่วนทำให้เติบโตน้อยหรือเติบโตเฉพาะกลุ่มคนในเมืองเท่านั้น เเละเท่าที่สัมผัสมาคือ คนซื้ออีบุ๊กก็ยังซื้อหนังสือเล่ม เพราะเขามองว่าหนังสือเล่มอ่านง่ายได้อรรถรสและอยากเก็บสะสม แต่อีบุ๊กเหมาะสำหรับการพกพา ดังนั้น คิดว่าหนังสือกับอีบุ๊กมันอยู่ด้วยกันได้ หรืออาจจะเสริมกันด้วยซ้ำ

แต่ที่กำลังมาคือ กระแสออดิโอบุ๊กหรือหนังสือเสียง ที่นอกจากจะช่วยคน 2 กลุ่ม คือ ผู้พิการทางสายตาและผู้สูงอายุ ยังมีคนที่อาจจะไม่สะดวกอ่าน เช่น เวลาขับรถก็เปิดฟังแทนคล้ายฟังนิยายวิทยุ ซึ่งหนังสือเสียงก็เป็นธีมหนึ่งในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ด้วย ซึ่งธีมของงานคืออ่านออกเสียงเป็นธีมที่เหมาะกับเด็กเล็กเพราะเป็นวัยที่ชอบอ่านออกเสียงอยู่แล้ว อีกทั้งการอ่านออกเสียงมันจะฟ้องว่าอ่านหนังสือออกหรือสะกดถูกไหม ซึ่งงานหนังสือครั้งนี้รวมเอางานเทศกาลหนังสือเด็กมารวมอยู่ด้วย

อีกส่วนหนึ่งเป็นนัยยะลึกๆ ว่าอีกไม่กี่เดือนจะมีการเลือกตั้งแล้ว การที่เราจะไปออกเสียงเลือกตั้ง ควรจะต้องมีความรู้ มีปัญญาและรู้เท่าทันนักการเมือง ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้อ่านหนังสือกันเถอะ แล้วค่อยไปออกเสียงเลือกตั้ง

ตั้งเป้าหมายของงานอย่างไรในสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้?

งานสัปดาห์หนังสือเกือบทุกครั้งไม่ได้มีปัญหาอะไร อาจจะมียอดขายลดบ้างหรือมีคนมางานจำนวนน้อยลง แต่ก็ไม่ได้มีผลแบบพลิกฝ่ามือ เพราะคนที่มางานคือคอหนังสือที่รอคอยงานนี้อยู่แล้ว และในงานเขาได้อะไรมากกว่าซื้อหนังสือ คือได้มาพบกับนักเขียน ได้มาสัมผัสกับนักเขียน ดังนั้น เรื่องของเศรษฐกิจจึงไม่ได้มีผลมากนัก

แต่ที่มีผลเยอะที่สุดคือ กลุ่มที่เคยมีงบประมาณมาซื้อหนังสือ แล้ววันนี้เขาไม่มี ทำให้สำนักพิมพ์ที่ขายหนังสือให้กับห้องสมุดหรือต้องพึ่งพางบประมาณได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

งานหนังสือครั้งต่อไปจะเป็นครั้งสุดท้ายของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แล้ว?

ค่ะ งานสัปดาห์หนังสือช่วงเดือนมีนาคม ปี”62 เป็นครั้งสุดท้ายที่จะอยู่ในศูนย์สิริกิติ์ ก่อนเขาปิดปรับปรุง ซึ่งผลตอบรับที่กลับเข้ามามีทั้งแฮปปี้กับไม่แฮปปี้ ซึ่งฮอลล์ใหญ่ๆ ที่จัดงานได้ในกรุงเทพฯ มีไม่กี่ที่ถ้าพูดเรื่องระยะทาง คนอยู่แถวบางนาเขาบอกว่าไบเทคใกล้ ถ้าคนอยู่แถวเมืองนนท์ ก็บอกว่าอิมแพค อารีน่า ดีแล้ว

เมื่อศูนย์สิริกิติ์ปิดปรับปรุงก็เหลืออยู่ 2 ที่ที่เราพิจารณา เเต่ต้องบอกว่าสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไม่ได้ทำคนเดียว เราหาคนร่วมพิจารณา โดยเชิญตัวแทนสำนักพิมพ์เเละที่ปรึกษาเท่าที่มีทั้งหมดเข้าร่วม เพราะฉะนั้นตรงนี้มันผ่านการพิจารณาในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ ราคา โครงสร้างพื้นฐาน การเดินทาง และช่วงเวลาที่เขาว่าง ซึ่งช่วงเวลาที่เราจัดงานเป็นช่วงเวลาที่ไบเทคมีงานสำคัญแล้วเขาเลื่อนให้เราไม่ได้ ตรงนี้มันคือตัวตัดสินที่ต้องตัดไบเทคออกเหลือแค่อิมแพค เเต่ถ้าไม่ไปอิมแพคแล้วจะไปที่ไหน มีคนเสนอแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เดินทางสะดวก แต่ติดเรื่องสถานที่ ซึ่งปกติ 1 วัน มีคนมางานหนังสือประมาณเเสนคน แต่แอร์พอร์ตเรลลิงก์รับคนได้เต็มที่ 20,000 คน ยังมีเรื่องของห้องน้ำที่อาจจะไม่พอ ส่วนสยามพารากอนก็ติดเรื่องราคา

ทีนี้ปัญหาของอิมแพคคือ เรื่องการเดินทาง ก็คุยกันเรื่องนี้ 3 ครั้งแล้วก็ได้ความคืบหน้าไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังได้ไปเซอร์เวย์นั่งรถบัสหรือรถโดยสารในช่วงที่มีงานใหญ่ในอิมเเพค เพื่อดูว่าการเดินทางลำบากขนาดไหน

ซึ่งแนวทางตอนนี้คือ การจัดรถบัสเพิ่ม จัดรถรับคนจากรถไฟใต้ดินเเละรถไฟฟ้าต่างๆ แล้วอิมแพคเขาก็จะไปคุยเพื่อเพิ่มรถเข้าไปให้เยอะขึ้น ทั้งรถขสมก. รถตู้ และแกร็บแท็กซี่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการประชาสัมพันธ์เส้นทางด้วย บางคนอาจจะไม่รู้ว่ามีทางเข้าออกหลายทาง ก็จะมีแอพพลิเคชั่นของเขาบอกทางเข้า บอกว่าลานจอดรถตรงไหนว่าง โดยช่วงใกล้งานจะต้องมีการสรุปและประชาสัมพันธ์ตรงนี้อีกครั้ง

กังวลไหมว่าจะมีผลกระทบเรื่องจำนวนคนมาร่วมงาน?

คือคนเราเวลาที่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงจะไม่ค่อยรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เหมือนตอนที่งานสัปดาห์หนังสือย้ายจากคลองหลอดมาที่ศูนย์สิริกิติ์ก็มีคนโวยวาย และบอกว่าคงไม่มีคนมาเดินหรอก เพราะตอนนั้นยังไม่มีรถไฟใต้ดิน แต่พอนานๆ เข้าก็เริ่มรู้สึกว่าดีขึ้น อยู่ตรงนี้มีแอร์ด้วย อยู่ตรงนั้นไม่มีแอร์เดินก็ร้อน ฝนตกก็เปียก

ทีนี้อิมเเพคในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีรถไฟใต้ดินตรงชาเลนเจอร์ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นจังหวะที่ศูนย์สิริกิติ์ปิดปรับปรุงครบ 3 ปีพอดีเหมือนกัน ก็อยู่กับกรรมการขณะนั้นจะเลือกตรงไหน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image