‘เลือดสีน้ำเงิน’ แกะโค้ดลับเอกสารคณะราษฎร ก่อนคลี่ปม ปวศ.ฝ่ายขวา

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ศูนย์สิริกิติ์ น.ส.ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ผู้เขียนหนังสือ “เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ” เสวนาในหัวข้อ “เลือดสีน้ำเงิน ประวัติศาสตร์ฝ่ายขวา” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

หนังสือดังกล่าวปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การต่อสู้ทางความคิดของกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน ในสังคมการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2500 ของผู้เขียนคนเดียวกัน

น.ส.ปฐมาวดี กล่าวว่า คนทั่วไปมักเข้าใจว่า กลุ่มเลือดสีน้ำเงินจะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับชนชั้นนำ ซึ่งเป็นความหมายกว้างๆ แต่เลือดสีน้ำเงินในที่นี้คือ คนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองร่วมกันกับกบฏบวรเดชซึ่งถูกจับเข้าคุกแล้วได้ทำหนังสือชื่อว่า “น้ำเงินแท้” และอธิบายตัวเองว่ามีสองความหมาย ความหมายแรกคือความหมายในธงชาติ คือหมายถึงพระมหากษัตริย์ และสองคือสีของนักโทษเพราะใส่เสื้อสีน้ำเงินในตอนนั้น จึงเป็นที่มาของคำว่าเลือดสีน้ำเงิน ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำหนังสือในคุกร่วมกัน โดยเลือกศึกษานักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดชเพียง 5 คน ได้แก่ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร, ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, พระยาศราภัยพิพัฒ, สอ เสถบุตร และ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์

“ได้อ่านนิยายของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล เกี่ยวกับนักโทษการเมืองแล้วสนใจเพราะมีการให้ความหมายทางการเมืองเยอะ แต่ว่ามองได้หลายมุมจึงอ่านเพิ่มเติม จุดพลิกผันคือตอนที่ได้มาหอจดหมายเหตุค้นไปเจอจดหมายของนักโทษการเมืองคนหนึ่งที่เขียนขอเข้าร่วมงานกับคณะราษฎร หลังปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้เปลี่ยนมุมมองและศึกษามาจนถึงจุดนี้ หนังสือเล่มนี้ศึกษาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนกลุ่มนี้ก็จะอธิบายประชาธิปไตยว่ามีความหมายว่าอย่างไร สถาบันทางการเมืองแบบนี้เป็นอย่างไร

Advertisement

“ข้อมูลที่เมื่อเจอแล้วเปลี่ยนความคิดไปสิ้นเชิงมีตลอด แต่ชิ้นที่รู้สึกว่าว้าวที่สุดคือเอกสารสืบราชการลับของคณะราษฎร ซึ่งอ่านยากเพราะเป็นโค้ดลับและเก่า บางส่วนมีรอยไฟไหม้ซึ่งต้องพยายามแกะ ทั้งที่คิดว่าไม่มีข้อมูลของ 5 คนที่กำลังศึกษาอยู่ แต่ก็กลับมาค้น ใช้เวลาเป็นเดือน แล้วเจอข้อมูลของพระยาศราภัยพิพัฒซึ่ง เป็นคนที่ไม่พอใจคณะราษฎร เพราะถูกปลด ว่าทำไมจึงต้องโดนปลด มีการเขียนจดหมายถึงพระยาพหลฯขอคำชี้แจง เขียนโต้ตอบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ฯลฯ ท่านมีความเคลื่อนไหวในพระนคร มีความสัมพันธ์กับหลายกลุ่มคน เช่น มีความสัมพันธ์กับพ่อค้า กลุ่มคนที่โดนปลด นักหนังสือพิมพ์ ในหนังสือพูดถึงเรื่องนี้อยู่ มีนัยยะ

“ระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่อยู่กับงานนี้ เปลี่ยนความคิดคนเขียนมาก ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจคนกลุ่มนี้ แต่เข้าใจคนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีบทบาท มีงานเขียนเพื่อออกมาอธิบายความหมายของบ้านเมือง หนังสือบางเล่มได้สร้างความหมายต่อคณะราษฎร และ 2475 ในอีกความหมายหนึ่งในยุคนั้น และมีการหยิบมาใช้ในงานวิชาการยุคหลัง ซึ่งการอธิบายบางเรื่องอาจมีเรื่องผลประโยชน์ก็ได้ เวลาปลี่ยนคนเปลี่ยน ความจริงอาจไม่จริง อาจมีอะไรซ่อนอยู่ในความจริง เราต้องเข้าถึงความจริงนั้นด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังเป็นอย่างไร ข้อมูลบางอย่างเชื่อมมายัง 14 ตุลาด้วยซ้ำ” น.ส.ปฐมาวดีกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image