30  ปีพันธุ์หมาบ้า เสียงหอนยังไม่จางหาย

นิยายขนาด  700 หน้าเล่มนี้อยู่ในความทรงจำของผู้คนมายาวนาน   นับแต่ทะยอยตีพิมพ์เป็นตอนๆในนิตยสาร  ลลนา  สิงหาคม  2528  จนถึงธันวาคม  2530 และรวมเล่มครั้งแรกในปี  2531  จากนั้นจึงถูกตีพิมพ์ด้วยความนิยมชมชอบติดต่อกันมาอีกถึงครั้งล่าสุดคราวที่  23  เมื่อปี  2551  ถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่งของ  ชาติ  กอบจิตติ  ศิลปินแห่งชาติ   สาขวรรณศิลป์ปี  2547  เจ้าของงานโด่งดังมาตั้งแต่  คำพิพากษา  ซึ่งได้รับรางวัลซีไรท์ในปี  2525

พันธุ์หมาบ้า  เป็นเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเดินทางไปหาเพื่อนอีกคน   ที่ปักหลักเปิดร้านขายของที่ระลึกอยู่ในท้องถิ่นชายทะเล   เพื่อหาแรงบันดาลใจเขียนหนังสือ   แต่เมื่อเพื่อนพบเพื่อน   และมีเพื่อนๆอีกมากหน้าร่วมวงทั้งในความหลังและจินตนาการ   เรื่องราวหลากหลายจึงพรั่งพรู   สลับเป็นภาพหวานชื่น   เศร้าสร้อย   เฮฮา   และขื่นขึ้ง   ตามประสาชีวิตหัวหกก้นขวิดที่ผ่านกันมาโชกโชน

ซึ่งหลังหนังสือวางแผงเพียงสองปี   นิยายเรื่องนี้ก็กลายเป็นภาพยนตร์ในความทรงจำอีกเรื่อง   กำกับโดย  สหรัฐ  วิไลเนตร  และนำแสดงโดยบรรดานักแสดงหนุ่มแถวหน้า   พงษ์พัฒน์  วชิรบรรจง,  อำพล  ลำพูน,  พิสิษฐ์  อ่อนเกิด,   จริยา  อุตตระนาค,  มอริส  เค,  ชินดิษฐ์  บุนนาค  ฯลฯ

เป็นหนังจากหนังสืออีกเรื่องที่คนยังนึกถึง   แม้แต่นักทำหนังอย่าง  นนทรีย์  นิมิบุตร  ก็ยังสนใจหยิบเรื่องขึ้นมาลงมือทำบทอีกหนเมื่อ  7-8  ปีก่อน

Advertisement

คนเกิดมาจะมากจะน้อยย่อมมีเพื่อน   และความทรงจำเกี่ยวกับเพื่อนเป็นความทรงจำอันบรรเจิดสุด   จนแม้พื้นที่ความรักก็อาจยังอาจกินแดนเข้าไปไม่ได้   หนังสือเล่มนี้จึงอยู่ในความทรงจำของนักอ่านมากระทั่งบัดนี้

บัดนี้คือ  30  ปี

30  ปีที่ผ่านมา   คนแต่ละรูปนามอาจมีกิจกรรมชีวิตที่ผิดแผกกันไปไม่แน่นอน   แต่ผู้เขียนพันธุ์หมาบ้า   ซึ่งก่อนปรากฏงานเขียนเล่มแรก   ก็มีทักษะของงานหัตถกรรมติดตัวเลี้ยงชีพอยู่แล้ว   ช่วงเวลาที่ผ่านมา   พอเริ่มคิดทำเสื้อผ้าใส่เองกับเพื่อน   งานเหล่านั้นกลับขยายออกมาเผื่อแผ่ผู้อื่นด้วย   จากที่พิมพ์เสื้อยืดขายจตุจักร   แตกแขนงออกเป็นเสื้อโปโล   กางเกงยีนส์   ถ้วยกาแฟ   กระเป๋า   ที่เปิดขวด   เข็มกลัด   สารพัดที่เป็นทั้งข้าวของเครื่องใช้   หรือนำไปสะสม   ที่ชวนให้ผู้คนเสาะหา   เพราะอะไร   ก็เพราะยี่ห้อของสินค้าเหล่านั้นก็คือรูปหมาจากปกหนังสือ

ยี่ห้อ  พันธุ์หมาบ้า  นั่นเอง

มีพื้นที่ต้อนรับนักอ่านและขาจรที่อาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน   จนนึกว่าเจ้าของร้านชอบเลี้ยงหมาจึงใช้หมาเป็นยี่ห้อก็มี   อยู่ที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์   ซึ่งนอกจากวางสินค้าเสื้อผ้า   กระเป๋า   ข้าวของเครื่องใช้ของที่ระลึกต่างๆแล้ว   ยังมีมุมหนังสือทั้งขายและเชิญให้นั่งอ่านตามสะดวก   มีที่แสดงงานศิลปสำหรับศิลปินที่ยังไม่มีสถานที่แสดงงาน   ด้วยอารมณ์ของคนสามัญที่สามารถเอื้อเฟื้อเจือจานจิตใจกันได้

นอกจากนี้   ยังมีโครงการไม่เล็กจากผู้เขียนซึ่งกำลังเตรียมการอย่างถี่ถ้วนอยู่คือ  พันธุ์หมาบ้า  เดอะ  ซีรีส์  ที่ต้องตั้งตาคอย   ในเมื่อผู้เขียนลงมือเอง

แต่วันนี้   มีเรื่องเฉพาะหน้าของ  30  ปีพันธุ์หมาบ้าก่อน

วันที่  1  ธันวาคม   สำนักพิมพ์  เคล็ดไทย  สำนักพิมพ์  หอน  และนิตยสาร  สีสัน  ร่วมกันเชิญคนรักหนังสือชองชาติ  กอบจิตติ   ไปพบกันที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร   เพื่อร่วมงาน  30  ปีพันธุ์หมาบ้า

12.00  น.  เริ่มลงทะเบียน   พอถึง  13.00  น.  คนสัน  นันทจิต  แอบหลบเวทีจอมยุทธมาเป็นผู้เปิดงาน   แล้วเริ่มบรรเลงดนตรีโดย  ยุวบูรณ์  ถุงสุวรรณ  หลังจากนั้นสิบห้านาทีก็จะได้ชมละครหุ่นเจ๋งๆของคณะ  แกะดำ

13.45  น.  หัวข้อสนทนาทันโลกสุดยอด  “กัญชามีไว้ทำไม”  ผ่านมุมมองล้ำยุคของ  เล็ก  ฮิป  ฮะฮ้า,  ไม่มาได้ไง   กับอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ  *รุ่งเรือง  ปรีชากุล*  โดยมีนักแสดงและนักร้องจอมห้าวที่ไม่มีใครไม่รู้จัก  สุรศักดิ์  วงศ์ไทย  มาเป็นผู้ดำเนินรายการแบบไม่ยอมให้ใครเมาใคร   พลาดไม่ได้

14.30  น.  บรรเลงดนตรีสลับอารมณ์โดยวง  พยัต  ภูวิชัย  แล้วถึงเวลาสำคัญอีกช่วง  15.00 น.  สนทนาเรื่อง  “พันธุ์หมาบ้าในมุมมองผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่”  ที่รุ่นใหญ่(วันนี้)มาเองคือ  นนทรีย์  นิมิบุตร

ต่อจากนั้นจึงฟังเพลงจากวง  ไปส่งกู บขส. ดู  ก่อนเจ้าของงานจะมาพบมิตรรักนักอ่านทั้งหลายในเวลา  ๑๖.๑๕  น.  ชาติพบแฟน  ว่าด้วยการใช้ชีวิต   การทำงาน   และสันดานของผม

ต่อด้วยเพลง  เพื่อน  ร่วมบรรเลงกันโดยพยัต  ภูวิชัยและยุวบูรณ์  ถุงสุวรรณ   หลังจากนั้นจึงสังสรรค์สนทนากันตามอัธยาศรัยจนปิดงานเวลา  17.00 น.

เป็นงานฟรี   ไม่มีเก็บเงิน   แต่ที่นั่งอาจไม่มากพอ   จึงรบกวนคนรักๆกันต้องยืนกินลมชมบรรยากาศบ้างหากขนส่งมวลชนไม่เป็นใจให้จับจองที่นั่งได้ทัน   แต่ก็นั่นแหละ   พันธุ์หมาบ้าเสียอย่าง   ยืนนั่งตรงไหนก็ได้

สายธารวรรณกรรมไทยยุคใหม่   แม้เพิ่งจะหลากไหลมาหลังยุคล่าอาณานิคม   แต่ไหลแล้วไม่ไหลเลย   ยังหมั่นพัดพาเอาความอุดมจากขุนเขาและโอชะสองฝั่งออกปากน้ำแห่งปัญญา   มีชีวิตผลัดกันลงน้ำดำผุดดำว่ายและขึ้นบกแสวงหนทางใหม่ๆตลอดเวลา   หากมีหนังสือสักเล่มที่ผู้คนยังรำลึกได้หลังเวลาผ่านไปนานถึง  ๓  ทศวรรษ   นั่นเป็นความยินดีปรีดาของโลกการอ่านขนาดไหน

พบกันที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครวันที่  1  ธันวาคมนี้.

อารักษ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image