วชิรญาณ ยังมีชื่อนี้ในตำราไหม

ยุคนี้เป็นยุคสารสนเทศ ยุคไอที ยุคสื่อสาธารณะ ยุคโทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกันก็เป็นยุคทำมาหาเงิน ยุคอวดตัวเอง ยุคบริโภคความเห็น ไม่เน้นความรู้ และยังไม่แน่ว่า สมบัติบรรพบุรุษ มรดกวัฒนธรรม รากเหง้าประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องพ้นความสนใจ หรือเกินจำเป็นไปแล้วหรือไม่

จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นว่า วันนี้ยังจะมีใครนึกถึงชื่อ “วชิรญาณ” ขึ้นได้หรือเปล่า และชื่อนี้ยังมีอยู่ในตำราเรียนให้นักเรียนรู้จักไหม

“วชิรญาณ” คือชื่อหนังสือชุดซึ่งพิมพ์ระหว่างปี 2427 ถึง 2448 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้เผยแพร่ในนามหอพระสมุดวชิรญาณ เนื้อหาของหนังสือชุดนี้เป็นสรรพวิทยาการอันเป็นประโยชน์ด้านต่างๆ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา วรรณคดี ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ พระราชพิธี การต่างประเทศ การท่องเที่ยว สุภาษิต คำสอน และตำราวิชาการด้านต่างๆ

หนังสือชุดนี้ประกอบด้วย 6 เล่มคือ 1.วชิรญาณสุภาษิต 2,วชิรญาณวิเศษฉบับปีใหม่ 3.วชิรญาณฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 4.วชิรญาณสโมสร 5.วชิรญาณ (ชื่อซ้ำ) 24 เล่ม 6.วชิรญาณวิเศษ 9 เล่ม แต่ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้รวมเล่มที่ 2 กับ 3 และ 4 ไว้ด้วยกัน เนื่องจากจำนวนหน้าไม่มาก

Advertisement

ทั้งชุดจำนวน 35 เล่ม แต่ยังมีรวมสารบัญหนังสือชุดวชิรญาณจากทั้ง 35 เล่ม ทำดัชนีเรื่องและดัชนีผู้เขียนเพื่อความสะดวกแก่การค้นหาเพิ่มขึ้นอีกเล่ม จึงรวมเป็น 36 เล่มชุด ทั้งยังมีแผ่นซีดี 1 แผ่น กับดีวีดีอีก 3 แผ่นประกอบ เพิ่มความสะดวกกับการศึกษาเรียนรู้

หนังสือชุดวชิรญาณนี้ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จัดพิมพ์สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ องค์อุปถัมภ์มูลนิธิ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2555

Advertisement

จึงเป็นโอกาสดีที่หนังสือชุดนี้จะได้แพร่หลายตามสถานศึกษา องค์กรเอกชน หรือห้องสมุดส่วนตัวเพื่อความรู้รอบของลูกหลาน เป็นหนังสืออีกชุดที่จะยืนยันการมีตัวตนที่แท้ของไทย เอกลักษณ์ สมบัติบรรพบุรุษ และภูมิปัญญาไทยชนิดจับต้องได้

เป็นคุณค่าอันควรแก่การสืบทอดโดยลูกหลานไทยที่เป็นเจ้าของมรดกปัญญาเหล่านี้โดยตรง

– หนังสืออ่านเอาเรื่องสำหรับผู้สนใจใคร่รู้และผู้สนใจเป็นเฉพาะ “สีมากถา สมุดข่อยวัดสุทัศนเทพวราราม” เป็นงานชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า งานจิตรกรรมของไทยมิได้มีแต่ภาพเขียนฝาผนัง แต่ยังมีงานเขียนลายเส้นที่เป็นสรรพตำราในสมุดข่อย อันเป็นโบราณวิทยาให้ศึกษารู้จักอีกลักษณะหนึ่ง

สมุดข่อยวัดสุทัศน์เล่มนี้ ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการผูกพัทธสีมาตามหลักอันถูกต้องทางพระพุทธศาสนา ซึ่ง “น. ณ ปากน้ำ” เรียบเรียงให้อ่านอย่างเข้าอกเข้าใจ ที่จริงพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่เข้าวัดตลอดชีวิต ถ้ามีความรู้เรื่องเหล่านี้ไว้เล่าให้ลูกหลานหรือเพื่อนฟังบ้างก็ไม่น่าแปลก ไม่รู้ต่างหากจึงดูแปลก

– สำหรับคนสนใจประวัติศาสตร์ หรือมองอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน จะได้ตั้งหลักมุ่งอนาคตอย่างมีเป้าหมายที่ไม่ทิ้งภูมิปัญญาเดิม การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมีหลักและวิธีคิดอันเหมาะสมตามวิถีการเรียนรู้สมัยใหม่ มีความจำเป็น ทั้งในการเปรียบเทียบวิธีการเรียนการสอนที่แล้วมาและการจับประเด็น

“ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย” ของ “ธงชัย วินิจจะกูล” จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์ในระดับพื้นฐาน ให้ภาพรวมของกระแสความเคลื่อนไหวที่พยายามออกนอกขนบของประวัติศาสตร์ไทย ยังให้ทฤษฎีวิพากษ์ทั้งโพสต์ แนชชะนัล, โพสต์ โมเดิร์น, โพสต์ โคโลเนียล ฮีสตรี้ และทฤษฎีที่ให้มุมมองเชิงพื้นที่ แล้วยังให้วิธีการปรับใช้ทฤษฎีต่างๆ เหล่านั้นในการวิเคราะห์วิจารณ์อีกด้วย

อ่านเพลินน่าสนุก ทำให้กลับมาอ่านประวัติศาสตร์ได้อีกครั้งด้วยสายตาใหม่ เห็นแง่มุมความคิดที่หลากหลายยิ่งขึ้น

– ล้านนาไทยหรือศตวรรษที่ผ่านมามีอีกนามอันเป็นที่รู้จักกันว่า ถิ่นไทยงาม เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ที่ผูกพันการเมืองเรื่องอำนาจและอาณาเขตกับทั้งอยุธยาทางใต้ พม่าทางตะวันตก และเวียงจันทน์ หลวงพระบางทางตะวันออก จนรัชสมัยพระเจ้าตากสินจึงอยู่ในปกครองของกรุงธนบุรี

“ประวัติศาสตร์ล้านนา” ของ “สรัสวดี อ๋องสกุล” บอกที่มาที่ไปของดินแดนสำคัญในภูมิภาคแห่งนี้ ด้วยข้อมูลหลักฐานนานาพร้อมมูล ไม่ว่าจะอ่านอย่างตำรา หรือหาความเพลิดเพลินจากสาระน่ารู้ของราชนิกูล ผู้คน สถานที่ และสีสันของเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้รู้จักอีกส่วนหนึ่งของบ้านเมืองได้อย่างเห็นภาพเห็นความสัมพันธ์รอบด้าน

– “พูดไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้สึก” เรื่องจริงของเด็กชายวัย 12 ซึ่งอยู่ๆ เกิดเป็นโรคประหลาดที่หมอหาสาเหตุไม่พบ สูญเสียการควบคุมและทำเวลาหายด้วยการหลงลืมไปถึง 7 ปี ก่อนที่ความพยายามของทั้งพ่อแม่และหมอ จะค่อยๆ เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจให้ฟื้นคืนมาทีละน้อย

“มาร์ติน พิสทอเรียส” เล่าชีวิตของตัวอย่างเรียบง่าย ถึงความยากลำบากแสนเข็ญ ขนาดต้องสร้างจินตนาการเพื่อหลีกหนีความจริง แต่ด้วยทรรศนะในการสู้ชีวิตในอันจะอยู่ต่อไป ท่ามกลางความรักความห่วงใย ล้วนเป็นเรื่องที่ชี้ชวนให้ผู้คนเปี่ยมด้วยความหวังและกำลังใจ ในโลกที่ความงามแสวงได้ในจิตใจ ซึ่งจะนำพาให้สายตามองทุกสิ่งกระจ่างชัดเจน จากคนซึ่งรู้จักคุณค่าของการมีลมหายใจ

นี่คือ “โกสท์ บอย” เด็กชายที่จะปลุกหัวใจซึ่งหลับใหลของหลายๆ คนให้ฟื้นตื่น

– “กลอักษรล่มฟ้า” ของ “หวังเจวี๋ยเหริน” นิยายจีนย้อนยุคกลับไปราชวงศ์ถัง เรื่องผจญภัยแบบสืบสวนสอบสวนของคดีประหลาด จากเหตุการณ์โด่งดังในประวัติศาสตร์ที่ประตูเสวียนอู่ เมื่อองครักษ์วังหลวงนายหนึ่งเสียชีวิต แต่ก่อนตายได้ทิ้งปริศนาอักษรไว้สี่ตัว ที่แม้นักรบและนักปกครองอันชาญฉลาดขนาดฮ่องเต้หลี่ื่อหมิงก็ยังมิอาจไขออกได้ ดังนั้น ความระส่ำระสายที่ไม่คาดฝันซึ่งอาจทำให้อาณาจักรต้องสะเทือนจึงเกิดขึ้น

ราชสำนักและยุทธภพถึงคราวกลียุค เมื่อตำแหน่งรัชทายาทมีปัญหา ปริศนากลอักษรจะพลิกฟ้าคว่ำดิน ไม่ว่าองค์ราชัน องค์ชาย นายทัพ สมณะ และบรรดาสายลับทั่วแว่นแคว้นตกในสภาพยุ่งเหยิงวุ่นวาย หายนะจะเกิดขึ้นหรือคลี่คลายได้อย่างไร นิยายเข้มข้นเรื่องนี้สำหรับนักอ่านระดับตอร์ทีเดียวเชียว

ท้ายสุด อย่าลืม “มติชนสุดสัปดาห์” เดินหน้าหาวันเลือกตั้งอย่างตั้งอกตั้งใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image