เจ้าเหมียวมิโล แมวพิการที่ทำให้โลกพิเศษ

สํานักพิมพ์อ่านอิตาลีแปลงานวรรณกรรรมดีๆ มาให้คนไทยได้อ่านอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ “มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น” วรรณกรรมเยาวชน ผลงานของ คอสตันซา ริซซาคาซา ดอร์ซอนญา แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ กับแบบปกสุดงามฝีมือ เฉลิมพันธ์ ปัญจมาพิรมย์ เป็นอีกเล่มที่น่าหยิบจับมาอ่าน หนังสือเล่มเล็กปกสวย เรื่องราวของแมวดำพิการตัวน้อย ที่จะทำให้คุณยิ้มและหลั่งน้ำตาไปกับเจ้าเหมียวและผองเพื่อน

เปิดเรื่องมาด้วยบรรยากาศหม่นหมอง เจ้าเหมียวมิโลกลายเป็นแมวกำพร้า แต่มีคนใจดีรับไปเลี้ยง ก่อนที่จะพบว่ามันเป็นแมวพิการด้วยโรคไฮโปเพลเซีย จนกลายเป็นเจ้าเหมียวที่กระโดดไม่เป็น แต่ความพิการทำให้มันกลายเป็นแมวพิเศษ

ทุกสิ่งที่มิโลเป็นและเจอ ราวกับต้องการจะบอกเราว่าความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงความคาดหวังของมนุษย์เท่านั้น และเป็นความคาดหวังที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก

ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนสัตว์เลี้ยงไปเป็นเพียงสิ่งที่ตอบสนอง “ไลฟ์สไตล์” และรสนิยมของตัวเอง สัตว์เลี้ยงอย่างหมาแมวก็กลายเป็นอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่มีการประกวด ราคาสูง และคัดพันธุ์ประวัติหรือ “เพดดีกรี” กันเป็นล่ำเป็นสัน ด้วยเหตุนี้ ความพิการ ความผิดพร่อง หรือลักษณะไม่พึงประสงค์อย่าง “สีดำ” ก็ถูกตั้งข้อรังเกียจ

Advertisement

“มีแต่มนุษย์เท่านั้นแหละที่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่นด้วยความพอใจ” เป็นคำพูดของเจ้าแมงป่องเปียรีโนเพื่อนของมิโล ถึงที่สุดแล้วทุกชีวิตล้วนต้องการมีชีวิตอยู่ สัตว์ล่าสัตว์ตามห่วงโซ่อาหาร มีแต่เพียงมนุษย์ที่ทำร้ายคนอื่นเพื่อความพึงพอใจ แม้แต่สัตว์อย่างเม่นที่มีหนามแหลมก็เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน เจ้าเม่นพลัดหลงอย่างจูเลียเอ่ยกับเหมียวดำมิโลว่า “จะต้องรักษาความสมดุลและระยะห่างให้พอดี” จากนั้นก็ย้ำว่า “นี่คือความงามในความแตกต่าง”

บ่อยครั้งทีเดียว โลกของจินตนาการในวรรณกรรมเยาวชนกลับทำให้เราตระหนักถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายในโลก “มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่คิดเรื่องความแตกต่าง” เป็นคำพูดกุ้งล็อบสเตอร์ผู้ประสบภัยจากการถูกจับไปเป็นอาหาร สุดท้ายถึงจะหนีรอดมาได้ แต่ก็ต้องสูญเสียก้ามไป น่าคิดว่าทรรศนะแบบมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ของมนุษย์เองที่ทำให้เรามองโลกด้วยสายตาตีราคา แยกความแตกต่าง และเลือกเฉพาะสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง บทสนทนาระหว่างหมากับแมวในวรรณกรรมเรื่องนี้น่าจะทำให้เด็กๆและผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ที่ดูทีว่าจะไม่หายไปจากโลกง่ายๆ

Advertisement

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือเรื่องสิทธิสัตว์ บทสนทนาระหว่างมิโลกับแม่วัวทำให้เราเข้าใจอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารได้สะเทือนใจมาก วัวถูกเลี้ยงให้เป็นอยู่สบาย หรือมีความสุขก็เพื่อจะทำให้เนื้อของมันอร่อย ซึ่งก็ตอกย้ำนิสัยมือถือสากปากถือศีลของมนุษย์ได้ดี

ปัญหาก็คือทรรศนะที่ฝังรากในตัวมนุษย์ นั่นคือการมองสิ่งต่างๆ ในโลกเป็นเพียงทรัพยากรที่สำรองไว้ให้มนุษย์ช่วงใช้ ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม บ่อยครั้งมนุษย์สร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อรูปแบบการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่น หรือสิ่งมีชีวิตอื่น อย่างวิถีชีวิตคนเมืองที่ปิดกั้นอยู่ในคอนโดมิเนียม ซึ่งปิดกันความสัมพันธ์ของมนุษย์กับคนอื่น สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น และปิดกั้นมนุษย์จากโลก

แท้จริงแล้วความเข้าใจเรื่องสิทธิสัตว์ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ในชั่ววัน หากแต่ต้องอาศัยการบ่มเพาะ เราอาจจะทำความเข้าใจเรื่องสิทธิสัตว์ผ่านงานวิชาการ งานสารคดี หรือกระทั่งงานศิลปะ วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น เองก็ทำให้เราเข้าใจประเด็นดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม มีชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยจินตนาการ ที่สำคัญคือการมองโลกในแง่ดีและมีความหวัง

ในตอนท้ายหนังสือเล่มนี้พูดถึงที่มาที่ไปของวรรณกรรมเรื่องนี้ ผู้แต่งเล่าว่าเรื่องราวของเจ้าเหมียวมิโลมาจากเรื่องจริงที่เธอรับแมวพิการสีดำมาเลี้ยงในปี 2013 จากนั้นเธอก็ถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าประทับใจเหล่านี้ในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามอ่านจำนวนมาก และเข้าตาบรรณาธิการ ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้

แน่นอนที่สุด วรรณกรรมเรื่อง มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น เป็นเรื่องของแมวเหมียว ย่อม “ดีต่อใจ” คนรักแมวมากเป็นพิเศษ อากัปกิริยาต่างๆ ของแมว ความขี้อ้อน ความซุกซน คนเลี้ยงแมวรู้ดี กระนั้นก็ตาม เรื่องราวของมิโลสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นนกพิราบ แมงป่อง หมา เม่น วัว หรือแมวตัวอื่นๆ ก็ทำให้เราเข้าใจชีวิตจิตใจของสัตว์ผ่านจินตนาการของมนุษย์

ด้วยความหวังว่าเราจะหาวิธีอยู่ “ร่วมโลก” กันได้ดีกว่าเดิม

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image