เสวยราชสมบัติกษัตรา วันมหาปีติของประชาราษฎร

ใกล้วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเข้ามาทุกขณะ ความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับพระราชพิธีอันเป็นมหามงคลในอาณาประชาราษฎรใต้พระบรมโพธิสมภารยิ่งเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เสวยราชสมบัติกษัตรา ที่อาจารย์ นนทพร อยู่มั่งมี กับอาจารย์ พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ช่วยกันเขียนโดยมีคำนำเสนอน่าอ่านของอาจารย์ ธงทอง จันทรางศุ อันงดงามด้วยหน้าตารูปเล่มและสีสัน จึงออกมาวางน้อมเสนอสนองความสนใจ

หนังสือเล่มนี้ ประมวลข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยตรง อย่างรอบด้านครบถ้วน ตั้งแต่ความหมายและความสำคัญของพระราชพิธี จากที่มาของพระราชพิธีดังกล่าว อันเป็นคติโบราณราชประเพณีเป็นต้นมา ทั้งหลักฐานที่กล่าวถึงพระราชพิธีในดินแดนไทย ตลอดจนขั้นตอนการประกอบพระราชพิธี

จากนั้นว่าด้วยเครื่องประกอบพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งอุดมมงคลเพื่อเป็นสิริสวัสดิในการประกอบพระราชพิธี และเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศ พร้อมด้วยประวัติและความหมาย

ท้ายสุดจะว่าด้วยสถาปัตยกรรมในพระราชพิธี อธิบายสถานที่ประกอบพระราชพิธี หรือหมู่มหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง ว่าพระที่นั่งแต่ละองค์มีความสำคัญอย่างไร รวมถึงประวัติการก่อสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรม ล้วนเป็นความรู้ทรงคุณค่าในแผ่นดินประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Advertisement

…จากถ้อยคำของ แอนนา ลีโอโนเวนส์ สตรีจากตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานใกล้ชิด คิงมงกุฎ อยู่วงในใจกลางราชสำนักฝ่ายในยิ่งกว่าชาวต่างชาติอื่นๆ

“สยามเป็นอาณาจักรที่น่าทึ่งและเร้าความสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกตะวันออก เป็นความลี้ลับชวนหลงใหลและเร้าใจทั้งนักเทววิทยาและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองได้ไม่ต่างกัน เปรียบดังอาการฝันร้ายจนเพ้อคลั่ง ซึ่งต่างกันลิบลับกับความมีระบบแบบแผนของชีวิตแบบตะวันตก อาณาจักรและผู้คนเหมือนกับเสกออกมาจากความมืดมิดอันลี้ลับ เป็นความพิศวงต่อการรับรู้ และความลี้ลับต่อจิตใจ”

Advertisement

บันทึกสิ่งที่พบเห็นด้วยตนเองจากจุดยืนต่างวัฒนธรรมและความเชื่อนี้ มีสีสันด้วยสิ่งที่รู้ทั้งจากการบ้านและการเมืองของราชสำนัก ซึ่งลึกกว่าชาวต่างชาติใดๆ จนแม้แต่ชาวสยามเอง เป็นเรื่องควรแก่การเรียนรู้ตั้งแต่ในห้องเรียนและกว้างขวางออกมา เพราะเป็นเรื่องของเราเองในสายตาชาวต่างชาติที่ต่างความคิดความเชื่อออกไป แต่เรายังไม่ได้เรียน และไม่ได้ศึกษาถกเถียงอย่างเป็นระบบจนวันนี้

 

อ่านสยามตามแอนนา หรือ The English Governess at The Siamese Court เล่มนี้ของแหม่มแอนนา ซึ่งเป็นเรื่องการบ้านและการเมืองในราชสำนักของคิงมงกุฎ จึงเป็นเรื่องชวนพิศวงสงสัยใคร่รู้

สุภัตรา ภูมิประภาส กับ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ ร่วมกันแปลให้อ่านได้ราบรื่น

…หนังสือทรงคุณค่าอีกเล่มร่วมสมัยที่ต้องรู้วันนี้ก็คือ สู่สังคมไทยเสมอหน้า เพราะสังคมไทยไม่เสมอหน้ามาแต่ไหนแต่ไร แม้จนยุคที่ขนานนามว่าประชาธิปไตยก็ยังไม่เสมอหน้า สิบสามคณาจารย์นักวิชาการสำคัญทั้งหลายจึงช่วยกันสร้างงานวิจัยที่คนไทยต้องรู้ออกมา 9 เรื่อง เพื่อนำไปสู่ปลายทางอันเป็นสังคมไทยเสมอหน้า

ไม่ว่าการลดความเหลื่อมล้ำ, ปฏิรูปภาษี, สิทธิการรักษาพยาบาล, กระจายอำนาจ, ธุรกิจกับข้าราชการ, โครงสร้างอำนาจ, โอกาสทางการศึกษา, ค่าจ้าง, ความเท่าเทียม, เครือข่ายอำนาจทักษิณ, หุ้นการเมือง, สิทธิเสรีภาพ, 99 ต่อ 1, เครือข่ายข้าราชการ บริษัทกึ่งรัฐกึ่งเอกชน

ล้วนเป็นงานซึ่งอาจารย์ทั้งหลายที่นำคณะโดยอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้ทำงานสนองสังคมตามศักยภาพและหน้าที่รับผิดชอบจากความรู้ของตนเอง อันควรแก่การนิยมชมชื่นอย่างยิ่ง

พิมพ์ครั้งที่ 2 แล้ว อย่าพลาดไปอีก

…จากสำนักพิมพ์อินทนิล หลากเผ่าหลายพันธุ์ในลุ่มน้ำของ ของอาจารย์ บุญยงค์ เกศเทศ ซึ่งลงพื้นที่ทั้งในลาว กัมพูชา และจังหวัดริมโขงในไทย ถึงพม่า คลุกคลีกับชาวบ้านร้านถิ่นต่างเผ่าต่างพันธุ์ เพื่อเข้าถึงวิถีชีวิต ความคิดความเชื่อ และขนบธรรมเนียมนานา บันทึกทั้งเรื่องราว ตำนาน นิทานท้องถิ่น พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

ทั้งเรื่องผี การแต่งกาย การกินอยู่หลับนอน ที่หลายเรื่องๆ ค่อยๆ เลือนหายไปกับโลกสมัยใหม่ซึ่งซึมซาบแทรกแซงเข้ามา กลายเป็นหนังสือหนาร้อยกว่าหน้าที่เปี่ยมรสชาติน่าทึ่ง อุดมด้วยภาพถ่ายที่บันทึกสถานที่ กิจกรรม ประกอบเรื่องให้น่าตื่นตา เรื่องของ “คนน้ำของ” เหล่านี้จึงอ่านได้เพลิดเพลิน และสร้างความพอใจกับผู้อ่านในแง่ที่ได้รู้จักคนใกล้ตัวลึกซึ้งขึ้นอีก

แม่น้ำซึ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประเทศต้นน้ำเช่นจีน ที่กั้นสารพัดเขื่อน จนแม้แต่เพื่อนบ้านเช่นลาวเองที่ประสบอุปสรรคจากการสร้างเขื่อน ทำให้วงจรชีวิตของแม่น้ำสำคัญนี้แปรปรวนไปมากมาย

…จากมูลนิธิโกมลคีมทอง เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ บุคคลสำคัญนามหนึ่งของไทยในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งถูกทำให้อึมครึมและเป็นที่สงสัยมาแต่ต้น หากเวลาเองที่ค่อยๆ สะสางความอึมครึมเหล่านั้นให้กระจ่างออกมา ให้เห็นความคิด และคุณงามความดีความสามารถอันบุคคลหนึ่งพึงทุ่มเทแก่ชาติบ้านเมือง

บุคคลผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งยืนหยัดอยู่ข้างสันติข้างประชาชน แม้ชีวิตและชื่อเสียงจะถูกกระทำให้กร่อนทำลายไป อิสรภาพถูกเบียดเบียน ก็มิอาจปิดบังความจริงแท้ทั้งหลายอันประกอบด้วยหลักฐานยืนยันต่อสาธารณะให้ปรากฏไม่

อย่างน้อยก็ต้องอ่านเพื่อความเป็นธรรมแก่ชีวิตเราท่านที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความไม่เป็นธรรมสารพัด

…มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ที่สนับสนุนงานชั้นดีเสนอ ว่างแผ่นดิน ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ “กรุงแตก” ในสามราชอาณาจักรของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ หนังสือวิชาการอ่านสนุก เมื่อผู้เขียนเปรียบเทียบราชอาณาจักรอยุธยา อังวะ ไดเวียด ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนบ้านสำคัญ ให้เห็นทั้งความเหมือนและความแตกต่างของสภาวะแวดล้อม ทั้งจากสังคมการเกษตร ความก้าวหน้าทางวิทยาการการทหาร การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การปรับปรุงโครงสร้างบริหาร การค้าภายในกับการค้าระหว่างประเทศ วัฒนธรรม และความเสื่อมกับการล่มสลายของสามราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 18

อ่านสนุกและน่าตื่นเต้น เมื่อมีการเทียบสภาวะต่างๆ ดังกล่าวในกันและกัน ทำให้มองเห็นตัวเองจากผู้อื่น และมองเห็นผู้อื่นจากตัวเอง เป็นงานที่ปลุกเร้าความคิดต่อเนื่องไปได้อีกมาก

ทำให้ได้เห็นว่า “ขนบ” ของแผ่นดิน มีความหมายกว่ารูปแบบและธรรมเนียมการปกครองอย่างไร จากความจริงของฐานการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรในสังคม เปิดหูเปิดตาให้กว้างขวางออกไปได้มาก

…ปิดท้ายด้วยเรื่องสั้นชั้นดีและนักเขียนชั้นดีที่แม้มีงานไม่มาก แต่เหมือนดาวหางหรืออุกกาบาตพาดฟ้าอันสุกกระจ่างแก่สายตา ชั่วชีวิต หนังสือปกแข็งพิมพ์ครั้งที่ 9 แล้ว จากงานเขียนทั้งชีวิตของอัจฉริยะแห่งวงวรรณกรรมไทย อ.อุดากร ที่เรื่องสั้น “สัญชาตญาณมืด” เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน ระเบิดวงนักอ่านให้ระบือระเบ็ง

อย่าพลาดโดยเด็ดขาดทีเดียวเชียว

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image