โค้งสุดท้าย สัปดาห์หนังสือฯ อ่านอะไร ? ในวัน ‘การเมืองระส่ำ’

คึกคักไม่แผ่วปลาย นับถอยหลัง 3 วันสุดท้ายสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บูธ V4 “มติชน” โซนพลาซ่า ยังเบียดเสียดด้วยนักอ่านตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ท่ามกลางที่การเมืองไทยยังชวนให้หัวใจเต้นไม่เป็นส่ำหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นคอการเมืองหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่านี่คือห้วงเวลาที่คนในชาติร่วมกันเกาะติดสถานการณ์อย่างไม่กะพริบตา

ในความกระหายใคร่รู้ของสังคม ในความบอบบางทางอารมณ์ และในความเบื่อหน่ายส่ายหน้าอยากโบกมือลาความว้าวุ่นใจจากข่าวการเมือง จะหยิบจับหนังสือเล่มไหนให้ตอบโจทย์ตรงใจในชั่วโมงนี้

ล้มเหลว เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน

‘ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น’

คงไม่มีเล่มไหนเข้าสถานการณ์มากกว่าเล่มนี้ นั่นคือ พ็อคเก็ตบุ๊กขายดีที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกภายใต้ความมุ่งมั่นถึง 3 ปี ของ จิราภรณ์ ดำจันทร์ ที่ในวันนี้กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับบูธมติชน บอกเล่าถึงปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยซึ่งมีด้วยกันหลากหลายประการ โดยเฉพาะ ‘รัฐประหาร’ ซึ่งมากมายก่ายกองถึง 13 ครั้งนับแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ส่งผลให้รัฐธรรมนูญไทยไม่อาจสร้างการมีส่วนร่วมในการปกป้องรัฐธรรมนูญร่วมกัน มิหนำซ้ำยังกลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการรักษาอำนาจทางการเมือง นำมาซึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในการเมืองไทยหลายครั้งหลายครา ฉายภาพการขับเคี่ยวระหว่างพลังอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้าที่เดี๋ยวแพ้เดี๋ยวชนะตัดภาพสลับกันไปมา แต่สุดท้ายส่วนใหญ่ฝ่ายแรกคือกลุ่มที่ชี้นำสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เนื้อหาเข้มข้นขนาดนี้ ไม่ต้องแปลกว่าใจเหตุใดนักอ่านหลายรายมุ่งหน้าบูธมติชนมาถามหาเล่มนี้โดยเฉพาะ ด้วยความคาดหวังจะทำความเข้าใจความเป็นมาเป็นไปในห้วงเวลานี้ รวมถึงค้นหาคำตอบคาใจว่าเมื่อไหร่ประชาธิปไตยไทยจะตั้งมั่น!

Advertisement
คอการเมืองรุ่นใหม่สอยแล้ว ‘ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น’

มาคิอาเวลลี การเมืองไทยของเจ้าผู้ปกครอง

ไปให้สุดอย่าให้หลุดคอนเซ็ปต์ ต้องดำดิ่งลงลึกไปอีกขั้นด้วยการทำความเข้าใจอิทธิพลตะวันตกที่มีต่อความคิดทางการเมืองไทยสมัยใหม่ โดยศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิต แนวคิด ตัวตนและอีกหลากหลายแง่มุมของ นิโคโล มาคิอาเวลลี (Nicolo Machiavelli) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี เจ้าของตำราการเมืองกระฉ่อนโลกอย่าง The Prince

ดร.กานต์ บุณยะกาญจน อาจารย์ประจำภาคการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จรดปากการ่ายยาวโดยสวมบทนักสืบมืออาชีพเพื่อค้นหาร่องรอยของแนวคิดมาคิอาเวลล ในไทยย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำให้เห็นภาพการเมืองไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้าเสือกระทั่งปรากฏอิทธิพลชัดเจนในการเมืองไทยสมัยใหม่

แม้เป็นหนังสือแนววิชาการสุดขีด แต่ถูกหยิบจับบ่อยมาก ทั้งด้วยเนื้อหาข้นคลั่ก และภาพปกสะดุดตาที่ออกแบบโดย ‘ซันเต๋อ’ ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ศิลปินดังสไตล์มินิมอล ผู้ออกแบบภาพประกอบบูธมติชนในปีนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ภาพปกเล่มนี้ยังถูกแปลงเป็นสินค้าพรีเมียมที่ฮิตหนักมากอย่างกระเป๋าผ้าที่มีให้ซื้อหาควบคู่พ็อคเก็ตบุ๊กเล่มนี้ที่คอการเมืองต้องมีไว้นอนอ่านที่บ้านอย่างเพลินใจ

Advertisement
ผศ.ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ผู้แต่ง เขียนชนบทให้เป็นชาติ และภาณุ ไตรเวช นักเขียนดัง มาให้กำลังใจ

เขียนชนบทให้เป็นชาติ คลี่ปมอาณานิคมความรู้และการเมืองเบื้องหลังชนบทศึกษา

แค่ปกก็สะดุดตาจากภาพจำอันคุ้นชินด้วยแนวไร่นาฟ้ากว้างและฝูงควายกองฟางในวิชาศิลปศึกษา อันเป็นความทรงจำที่ถูกสร้างในยุคหลังสงครามเย็น เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ไม่พูดพร่ำทำเพลงให้ยืดยาว มุ่งวิพากษ์และเปิดเผยลักษณะของความรู้ทาง ‘มานุษยวิทยา’ ของไทยยุคบุกเบิกที่ไม่อาจแยกจากสงครามเย็น ทั้งในฐานะบริบททางประวัติศาสตร์และในฐานะโลกทัศน์ทางสังคมการเมือง โดยเมื่อย้อนไปในช่วงเวลาดังกล่าว ‘หมู่บ้านและชนบท’ ในประเทศโลกที่ 3 โดยเฉพาะเมืองไทยของเราเริ่มถูกจัดวางบนแผนที่ภายใต้เงาของสหรัฐอเมริกา โดยถูกจินตนาการ และประดิษฐ์ภาพแทนขึ้นใหม่ในโครงการปฏิรูปชนบทเพื่อสร้างรัฐประชาชาติและป้องกันคอมมิวนิสต์ ต่อมาความตื่นตัวในการศึกษาหมู่บ้านและชนบทเหล่านี้ได้นำไปสู่การสถาปนา ‘ชนบทศึกษา’ อีกทั้งอุตสาหกรรมการวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ถูกขับดันด้วยวาระทางการเมือง

ไม่เพียงหนังสือเท่านั้น ที่ได้รับการเชียร์ในแวดวงวิชาการถึงความน่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง หากแต่วันแจกลายเซ็นที่บูธมติชนไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็ทำเอาเสียงกรี๊ดสนั่นดังผ่านโซเชียลด้วยความเป็น ‘เซเลบ’ เบาๆ ของเจ้าของผลงานอีกด้วย

Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต

เศรษฐกิจ การเมือง ไม่อาจแยกออกจากกัน เฉกเช่นอดีตและปัจจุบัน ที่ไม่อาจคิดแยกส่วนจากอนาคต เมื่อการเมืองระส่ำ ทำเศรษฐกิจสะดุด สวนทางเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าซึ่งส่อเค้าทำมนุษย์ตกงานด้วยความพ่ายแพ้แก่ ‘เอไอ’ แม้จินตนาการแล้วเครียดหนักมาก ทว่า สันติธาร เสถียรไทย ผู้เขียน ขึ้นเวทีเสวนาของ ‘มติชน’ บอกว่าอย่าไปกลัว แต่ต้องเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า เพราะถ้าศึกษาดีๆ ย่อมรู้ว่าประเทศจะ ‘ไปต่อ’ อย่างไร

“หุ่นยนต์ไม่ได้มาแทนที่คน แต่มาเพื่อเตือนคนว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ อะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากเครื่องจักร สิ่งที่เราทำได้มากกว่าคือ ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ ความเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น” เจ้าตัวกล่าวอย่างคมคายพร้อมปิดท้ายแนะคนรุ่นเก่าอย่าบอกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน และคนรุ่นใหม่เองก็อย่าแซะผู้อาวุโสด้วยคำว่า ไดโนเสาร์ แล้วเราจะผ่านยุคเอไอไปด้วยกัน

เห็นเนื้อหามาแนวเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และการห้ำหั่นระหว่างมหาอำนาจของโลกอย่างจีนและอเมริกาขนาดนี้ แต่น่าสนใจว่า นี่คือหนังสือที่วัยรุ่นให้ความสนใจเป็นอย่างมากจนเกาะอันดับ 1 ใน 10 เล่มขายดีบูธมติชน โดยให้เหตุผลตรงกันว่า สนใจอ่านบทวิเคราะห์ความทันสมัยของโลกที่กำลังเป็นไปจากมุมมองของผู้เขียนเพื่อให้รู้ว่าจะเตรียมตัวอย่างไรต่ออนาคตที่เปลี่ยนไปไวขนาดนี้

‘วรรธนวรรณ จันทรรจนา’ นักเขียนดัง เจ้าของผลงานข้าบดินทร์ มาซื้อหนังสือชุดบรมราชาภิเษกครบ 3 เล่ม

We THE PEOPLE ปฏิวัติภาษีเงินได้ให้เท่าเทียม

มาถึงการเมืองเรื่องเศรษฐศาสตร์ซึ่งส่งผลต่อคนในชาติอย่างภาษีเงินได้ที่เราๆ ท่านๆ ต้องควักจ่ายกันทุกปี ด้วยปัญหาที่หมักหมมของรัฐบาล และประเด็นปลีกย่อยบางประการที่หลายคนไม่รู้ว่าทุกวันนี้คนไทยกำลังจ่ายภาษีดังกล่าวในอัตราไม่เป็นธรรมอันเกิดจากระบบภาษีและการจัดเก็บของรัฐที่มีช่องโหว่ เอื้อต่อความเหลื่อมล้ำ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ นวลน้อย ตรีรัตน์ 2 ปรมาจารย์ในฐานะบรรณาธิการ นำเสนอข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยนอกกระทรวงการคลังสู่สายตาผู้อ่านผ่านข้อเขียนของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ระดับท็อปของประเทศโดยย้อนเล่าตั้งแต่ครั้งยังเรียกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า ‘ภาษีเงินเดือน’ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2475 ไล่เรียงถึงระบบภาษีในไทย คนไทยเสียภาษีอย่างไร รายจ่ายภาษี The Top 1% ในระบบภาษีไทย ปิดท้ายด้วยแนวทางปฏิรูป ภายใต้ความมุ่งหวังให้ประเทศไทยเดินหน้ามุ่งสู่สังคมแห่งความเป็นธรรม!

 ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เยี่ยมบูธมติชน พบปะพูดคุย 2 ผู้แปล “อ่านสยามตามแอนนา” สุภัตรา ภูมิประภาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ (ขวา) ไอซ์ พาริส และนานา ศวรรยา ดารานำเรื่อง เลือดข้นคนจาง ทำบูธมติชนเกือบแตก

ชอบหรือชังก็ยังต้องมี

‘อ่านสยามตามแอนนา’ การเมืองเรื่องราชสำนัก ‘คิงมงกุฎ’

“ความท้าทายที่สุดสำหรับหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้แปล แต่อยู่ที่การอ่านอย่างเปิดใจของผู้อ่าน”

คือคำกล่าวของสุภัตรา ภูมิประภาส หนึ่งในผู้แปล The English Governess at The Siamese Court สู่ ‘อ่านสยามตามแอนนา’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในราชสำนักสยามสมัยคิงมงกุฎ หรือ รัชกาลที่ 4 ทั้งการบ้านและ ‘การเมือง’ ผ่านมุมมองของ ‘แหม่มแอนนา’ สตรีผู้ซึ่งเหมือนจะมี ‘ชื่อเสีย’ มากกว่าชื่อเสียง เพราะโดนจับแพะชนแกะ โดยไมได้อ่านจากสิ่งที่เจ้าตัวเขียนจริงๆ เหมือนเล่มนี้ แต่ไปอ่านจากหนังสือเขียนถึงแหม่มแอนนา สร้างภาพจำแง่ลบในใจคนไทย

“อยากให้อ่านมาก เพราะเป็นบันทึกจริง เป็นความทรงจำ นับถือแอนนาว่าค้นคว้าเยอะมาก ผิดหรือถูกอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคนรักการอ่าน ชอบบันทึกสไตล์ฝรั่ง มีบันทึกประจำวัน การแปลหนังสือเล่มนี้ได้รักษาต้นฉบับเดิม ไม่รวบรัดตัดความ แอนนาเล่าเรื่องราชสำนักสยาม เล่าถึงคิงมงกุฎในฐานะมนุษย์ ด้วยมุมมองของคนต่างวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม แอนนาชื่นชมรัชกาลที่ 4 หลายอย่าง เช่น พระอัจฉริยภาพ ความอุตสาหะ ทรงมีแนวคิดก้าวหน้ามากกว่าข้าราชบริพารของพระองค์ เพราะทรงคบหาชาวต่างชาติเยอะ แหม่มแอนนาสามารถยืนพูดคุย และถกเถียงได้ ในขณะที่ข้าราชบริพารรับไม่ได้ บอกอย่างนี้ต้องเอาไปตัดคอ ส่วนที่มันส์มากคือข้อมูลจากคำบอกเล่า จากที่ได้ฟังจากเจ้าจอมคนนั้น คนนี้” สุภัตรากล่าวพร้อมแจกลายเซ็นให้แฟนหนังสือที่บูธมติชน โดยหลายรายบอกว่า เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นต่างๆ ที่อยากหาความรู้เพิ่มนอกตำรา

ส่วน สุภิดา แก้วสุขสมบัติ นักแปลอีกท่าน กระซิบว่า สิ่งที่ยากมากในการแปลคือภาษาซึ่ง ‘โบราณมากกกก’ แปลแล้วเครียด ทำความเข้าใจยาก อีกทั้งเป็นมุมมองของชาวต่างชาติ บางเรื่องไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ต้องค้นคว้าเยอะกว่าจะออกมาถึงมือผู้อ่าน

นับเป็นผลงานสะท้อนประวัติศาสตร์ และการเมืองสยามก่อนเข้าสู่การเมืองไทยสมัยใหม่ที่มากมายด้วยสีสันผ่านมุมมองของแหม่มแอนนา ตัวละครผู้มีเลือดเนื้อและชีวิตจริงเมื่อกว่า 100 ปีล่วงมาแล้ว

ไอซ์ พาริส และนานา ศวรรยา ดารานำเรื่อง เลือดข้นคนจาง ทำบูธมติชนเกือบแตก

‘เลือดข้นคนจาง’ การเมืองในบ้าน อยุติธรรมในครอบครัว

แชร์มหาศาลสนั่นโซเชียลตั้งแต่วันแรกของงานสัปดาห์หนังสือเมื่อคุณยายวัยเกษียณ ให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ ว่าออกจากบ้านมหาชัย นั่งรถ 3 ต่อมาซื้อ ‘นิยาย’ เพราะทนไม่ไหว ‘ปวดหัว’ กับการเมืองไทยและผลเลือกตั้ง!

หนึ่งในนวนิยายขายดีจนบูธแทบแตกของ ‘มติชน’ ในปีนี้จะเป็นเล่มไหนไปไม่ได้ นอกจาก ‘เลือดข้นคนจาง’ ซีรีส์ดังที่ อั้ม ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้กำกับหญิงผู้ถ่ายทอดบทละครเรื่องเลือดข้นคนจางให้เป็นฉบับนวนิยาย โดยระบุว่า กรณีนี้เป็นการต้านระบบการเขียน สวนทางสิ่งที่เคยเป็น กล่าวคือ โดยปกติก่อนเป็นละครจะเริ่มจากเรื่องสั้น นิยาย แล้วค่อยพัฒนาเป็นบทละคร แต่เรื่องนี้มีบทละครอยู่แล้ว จึงค่อยเป็นนิยาย ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างตัวละครกับคนอ่าน ส่วนตัวประทับใจตัวละครอย่าง ‘ภัสสร’ ซึ่งเป็นทั้งแม่ และผู้หญิงที่มองเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมที่ตนอยู่

ด้าน ชมพู อุรุดา โควินท์ นักเขียนชื่อดังซึ่งรับหน้าที่บรรณาธิการนวนิยายเรื่องนี้บอกสั้นๆ ว่า ต้องซื้อ!

“ต้องซื้อ (หัวเราะ) เพราะแฟนละครจะมีตัวละครที่จับต้องได้อยู่กับตัว ฉบับหนังสือ สนุกมากตรงที่ได้รู้ว่าตัวละครคิด และรู้สึกอย่างไรกับตัวละครอื่น ในนิยายจะเห็นความลึกเหล่านี้ จะได้ยินเสียงตัวละครออกมาสลับกันเล่า ในนิยายทุกคนจะได้สิทธิในการพูด ได้เห็นมุมมองตัวละคร ได้รู้ว่าอาฉีมองพี่ชายแบบไหน สารของเรื่องในนิยายชัดเจนกว่าตอนเป็นละคร ซึ่งการตีความอาจจะต่างไป มีมากกว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว และยังให้ความยุติธรรมกับตัวละครมากกว่าในละคร เพราะพื้นที่ต่างกัน”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือดีที่บูธมติชนซึ่งชวนให้ผู้คนร่วมเดินทางไปกับเส้นทางการเมืองไทยในทุกมิติไปจนถึงวันที่ 7 เมษายนนี้ ตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ที่ V4 โซนพลาซ่า ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image