ร่วมฟังแน่น ‘เสวยราชสมบัติกษัตรา คติโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่เวทีเอเทรียม งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนา ‘ ‘เสวยราชสมบัติกษัตรา คติโบราณราชประเพณีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวหนังสือชุดบรมราชาภิเษก 3 เล่ม ได้แก่ ‘เสวยราชสมบัติกษัตรา’ , ผ้าเขียนทอง :พระภูษาทรงบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์สยาม’ และ ‘จักรพรรดิราช’  โดยมี ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ให้เกียรติร่วมบรรยายให้ความรู้ในประเด็น ‘จักรพรรดิราช’

ศ.ดร.สุเนตร กล่าวว่า  คติจักรพรรดิราช  มีความเกี่ยวข้องกับพิธีบรมราชาภิเษกอย่างมาก ไทยได้รับอิทธิพลเรื่องคติจักรพรรดิราชมาจากพราหมณ์ คือความเชื่อเรื่องการเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย (มหาราชา) หรือ King of King ซึ่งคติความเชื่อนี้จะเกิดกับสภาพสังคมที่พร้อมจะให้เกิด คืออยู่ในภาวะที่มีราชาหลายพระองค์และมีพื้นที่ของอำนาจ ซึ่งไทยได้คตินี้มาจาก 3 แหล่ง คือ ผ่านทาง อินเดีย เขมรโบราณ และจากลังกา เมื่อรับจากหลายที่ เรานำมาผสมจนเกิดอัตลักษณ์เพื่อให้เข้ากับสังคมไทย

“ในการแสดงตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ โดยแสดงผ่านพิธีกรรม รวมถึงผ่านทรัพย์สมบัติที่พึงครอง มีทั้งหมด 7 สิ่ง เช่น ช้างแก้ว นาแก้ว ม้าแก้ว ช้างแก้วหรือ ช้างเผือกซึ่งมีอยู่หลายเชือก  คำว่าจักรพรรดิ์ มีความหมายว่า ผู้หมุนกงล้อของรถศึก โดยจะมีจักรแก้วที่หมุน และพระเจ้าจักรพรรดิ์จะตามกงล้อนั้นไป เมื่อถึงเมืองไหนคนในเมืองนั้นก็ให้ความเคารพยกย่อง ส่วนคำว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น บรม แปลว่ายิ่งใหญ่ คือ ยิ่งใหญ่เหนือราชาทั้งปวง อภิเษก คือการรดน้ำ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงหมายถึง การแต่งตั้งโดยการรดน้ำ ซึ่งเป็นพิธีเสวยราชของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นสมัญญานามที่สัมพันธ์กับกษัตริย์ที่ครองสุวรรณภูมิ” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว

Advertisement

ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  หนึ่งในผู้เขียน ‘เสวยราชสมบัติกษัตรา’ บอกเล่าถึงขั้นตอนการสรงน้ำมุรธาภิเษก ว่า สมัยอยุธยาจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้งสี่สระ คือ สระแก้ว สระเกษ สระคา และสระยมนา จากแคว้นสุวรรณภูมิ เพราะเป็นแคว้นที่กษัตริย์มีพระราชอำนาจยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นธรรมเนียมว่าแหล่งน้ำนี้มีศักดิ์สิทธิ์ ต่อมารัชกาลที่ 1-4 เพิ่มแม่น้ำสำคัญอีก 5 สาย ตั้งชื่อตามอย่างของอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ซึ่งแม่น้ำ 5 สายนี้ไหลจากเขาไกรลาส อันเป็นที่สถิตย์ของพระอิศวร แต่ครั้นจะไปอินเดียก็ไกล จึงตักเอาที่ไทย สมัยรัตนโกสินทร์ก็ใช้ จักษุคงคา จำนวนแหล่งน้ำไม่ลด แต่เพิ่มมาเรื่อยๆ ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 5 จะทรงใช้น้ำจากอินเดีย เพราะได้เสด็จประภาสที่อินเดีย จึงเตรียมจัดพระราชพิธีไปพร้อมกัน ส่วนการที่ต้องหลั่งน้ำรดพระเศียร มาจากแนวคิดเรื่องการปรับสถานภาพและเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ เพราะการหลั่งน้ำจะชำระสถานภาพเดิมเพื่อเข้าสู่ความเป็นพระจักรพรรดิราช อย่างเช่นพิธีของอินเดีย หรือการรดน้ำนาค ก็เพื่อเปลี่ยนสถานภาพจากคนธรรมดาเป็นนักบวช พิธีโกนจุก เป็นการเปลี่ยนวัยจากเด็กเป็นผู้ใหญ่

“พิธีตักน้ำในวันที่ 6 เม.ย.นี้ เป็นการใช้น้ำจาก 77 จังหวัด จาก 108 แห่ง โดยขั้นตอนการตักน้ำเรียกว่าพลีกรรม ซึ่งจะเอามาทำพิธีอัญเชิญน้ำเข้าสู่พระนคร และอภิเษกที่กรุงเทพมหานครอีกครั้ง ซึ่งน้ำจาก 77 จังหวัด จะนำมารวมกันและใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ครบ 77 จังหวัด เป็นคติพระเจ้าจักรพรรดิ์และมีนัยยะคือการอยู่เหนือแผ่นดินไทย” ดร.นนทพรกล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกหนึ่งผู้เรียบเรียงหนังสือ ‘เสวยราชสมบัติกษัตรา’ มาอธิบายถึง เครื่องประกอบพระราชพิธี ซึ่งมีจำนวนมากและหลายหมวด ทั้งหมดล้วนเป็นคติที่มีความหมายเกี่ยวกับความเป็นสิริมงคลในการสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยสมบูรณ์

“เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องราชูปโภคที่มีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องหมายที่แสดงความเป็นพระราชา มี 5 สิ่ง คือ 1.พระมหาพิชัยมงกุฎ มีความงามประณีตศิลป์ ทำด้วยทองคำ ลงยา ประดับอัญมณี ซึ่งมียอดแหลมและน้ำหนักมาก เป็นการแสดงถึงพระราชภาระอันใหญ่หลวง 2.พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นเครื่องหมายของความเป็นนักรบและแสดงถึงพระราชอำนาจ 3.ธารพระกรชัยพฤกษ์ คือไม้เท้า เป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนนานและยังเป็นสัญลักษณ์ของนักปราชญ์ 4.วาลวิชนี เป็นเครื่องปัด ประกอบด้วย 2 สิ่ง คือ “พัดใบตาลปิดทอง” และ “พระแส้” ทำจากขนของหางช้างเผือก หรือจามรี โดย “พระแส้” สื่อถึงการปัดเอาสิ่งไม่ดีออกจากอาณาประชาราฎร์ของพระองค์ “พัด” คือสัญลักษณ์ของการพัดพาความร่มเย็นมาให้ราษฎร และ 5.ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นรองเท้าเปิดส้น มีปลายแหลม บุด้วยผาไหม ซึ่งเป็นอีกคติที่รับจากอินเดีย” ผศ.ดร.พัสวีสิริกล่าว

สำหรับสถานที่ประกอบพระราชพิธีนั้น ผศ.ดร.พัสวีสิริ ระบุว่า เมื่อทรงรับน้ำแล้วจะทรงประกอบเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ ทั้ง 5 นี้ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงประกอบพิธีที่ หมู่พระมหามณเฑียร ใจกลางพระบรมหาราชวัง เพื่อประกอบขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียร โดยสถานที่สำคัญยิ่งในการนี้คือ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งภายในมี พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ซึ่งจะทรงใช้ในการรับน้ำอภิเษกจากทั้งแปดทิศ ในพระที่นั่งองค์นี้มีจิตรกรรมสะท้อนคติเรื่องพราหมณ์ฮินดู รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานของพระสยามเทวาธิราช และยังมีพระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้วย

หลังจากทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว จะเสด็จพระราชดำเนินยังพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยฯ เพื่อเสด็จออกมหาสมาคม รับการถวายพระพรชัยมงคล โดยตามคติถือเป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่ออกว่าราชการของพระอินทร์ สะท้อนภาพความเป็นสมมุติเทพ และจักรพรรดิราช

 อ.ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้เรียบเรียงหนังสือ ‘ผ้าเขียนทอง : พระภูษาทรงบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์สยาม’ กล่าวในประเด็นความรู้เกี่ยวกับผ้าที่ใช้ในพระราชพิธีนี้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระภูษา คือนุ่งผ้าชนิดหนึ่งเรียว่าผ้าเขียนทอง ซึ่งได้รับยกย่องเป็นผ้าที่มีศักดิ์สูงสุด สงวนไว้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี และพระเจ้าลูกเธอ โดยชั้นหม่อมเจ้าลงมาจะไม่มีโอกาสได้ใช้

“ผ้าเขียนทอง เป็นผ้าฝ้าย เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทย มีสีสันสดใส กระบวนการทำก็ยังมีความใกล้เคียงจิตรกรรมมากที่สุด เพราะไม่มีเงื่อนไขของการทอมาเป็นขีดจำกัด มีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่ประเทศอินเดีย โดยพระราชสำนักของไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจะส่งต้นแบบไปให้ช่างทางอินเดีย เป็นผู้ผลิต ในหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งทำให้ทราบถึงวิธีการสั่งผ้าผ่านพ่อค้าที่ปีนัง โดยสั่งล่วงหน้าเป็นปี คราวละ 1,000 ผืน 50 กุลี ซึ่งต้องมีการจัดกำลังคุ้มกันผ้าที่จะนำกลับมาไทย รวมทั้งเงินที่จะเอาไปจ่าย นอกจากนี้ หนังสือผ้าเขียนทองยังมีความพิเศษอีกมาก เพราะได้รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ไว้อีกด้วย และภาพผ้าเขียนทองซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน” อ.ธีรพันธุ์กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image