“ดร.บัญชา” พาดูเมฆ เปิดเคล็ดวิธีเก็บภาพ “รุ้งกินน้ำเต็มวง”

เมื่อวันที่ 7 เมษายน เวลา 16.00 น. ที่บริเวณเวทีเอเทรียม งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 17 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการเสวนาหัวข้อเรื่อง “บัญชาพาดูเมฆ” โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ เจ้าของผลงานหนังสือล่าสุดอย่าง “All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาอย่างคึกคัก

ดร.บัญชา กล่าวว่า ตนเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ ชอบเผยแพร่งานวิทยาศาสตร์ผ่านทางข้อเขียนในหนังสือพิมพ์เป็นประจำ ความที่เป็นคนชอบดูและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ วันหนึ่งมานั่งนึกว่าที่ผ่านมาเวลามีการเผยแพร่งานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับท้องฟ้ามักจะพูดถึงเรื่องฟ้าผ่า เรื่องที่เป็นเชิงลบตลอด น่าจะมีการนำเสนอในเชิงบวก พูดถึงในแง่ความสวยงามบ้าง ชวนให้สังเกตถึงท้องฟ้าก่อนเกิดฟ้าผ่า หลังจากเขียนมาได้สักพักจึงนำบทความไปใส่ในเว็บบล็อก และตั้งชื่อขำๆ ว่า “ชายผู้หลงรักในมวลเมฆ” ปรากฏว่าเกิดกระแสคนคุยเรื่องก้อนเมฆในบล็อกมากขึ้น มีคนอัพโหลดรูปก้อนเมฆผ่านเข้ามาในบล็อกกันจำนวนมาก จนมาคุยกันว่าเรามาตั้งชมรมกันเลยดีไหม สุดท้ายก็เลยเกิดเป็นชมรมที่ทุกคนก็ต่างแชร์ภาพก้อนเมฆกันตลอด ต่อมามีเพื่อนแนะนำว่าให้ทำเฟซบุ๊คกันเถอะ เพราะเป็นเวทีให้คนได้เข้าร่วมอีกมาก จึงเปิดเป็นเฟซบุ๊ค “ชมรมคนรักมวลเมฆ” จากสมาชิก 400-500 คน เพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน

“ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องเมฆดังๆ รูปทรงแปลกๆ ชมรมจะมีก้าวกระโดดจากหลักพันเป็นหลักหมื่นในเวลาแป๊ปเดียว ซึ่งชมรมของเราจะมีการจัดมีตติ้งกันตลอด อย่างทางเหนือ อาทิ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน จะมีชื่อชมรมว่า ‘ชมรมคนรักมวลเมฆวิทยาเขตล้านนา’ ที่จะงานมีตติ้งกันตลอดเหมือนกัน ส่วนกิจกรรมที่ทำกันในชมรมกันตลอดคืออัพโหลดรูปลงในเฟชบุ๊ก และก็ศึกษาเรื่องก้อนเมฆกันเสียส่วนใหญ่”

ดร.บัญชา กล่าวว่า หากพูดถึงประสบการณ์การดูเมฆที่ตื่นเต้นสุดๆ คือ การเห็นรุ้งกินน้ำเป็นรูปวงกลม เพราะส่วนใหญ่ทุกคนจะเห็นเป็นเพียงแค่รูปครึ่งวงกลม โดยถ่ายภาพได้หลังจากบนเครื่องบินเหนือท้องฟ้าจังหวัดภูเก็ต เห็นรุ้งกินน้ำรูปวงกลมเต็มวงลอยอยู่ข้างหน้าแบบใกล้มาก โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า รุ้งจะอยู่คู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ ซึ่งจำง่ายๆเลยว่า ถ้าดวงอาทิตย์อยู่สูงรุ้งจะอยู่ต่ำ ถ้าดวงอาทิตย์อยู่ต่ำรุ้งจะอยู่สูง ซึ่งสองสิ่งนี้จะอยู่ตรงข้ามกันเสมอ ถ้าเราจะอยู่ที่พื้นดวงอาทิตย์จะอยู่ต่ำสุดที่ขอบฟ้าก็จะเห็นแค่ครึ่งวง แล้วถ้าเราอยากเห็นส่วนล่างของรุ้งเราจึงต้องขึ้นที่สูง เช่น หุบเขา หรือ เครื่องบิน

Advertisement

สำหรับหนังสือ “All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก” ดร.บัญชา บอกว่า หนังสือเล่มนี้มีวิทยาศาสตร์เป็นแกน เราต้องรักษาความจริงของธรรมชาติไว้ เพราะวิทยาศาสตร์มีระบบของมัน ในส่วนของการจัดระบบการเรียกชื่อเมฆหรือปรากฏการณ์ต่างๆ เราเรียกตามกรมอุตุนิยมวิทยาโลกล่าสุดที่ได้ระบุไว้ เราจะเสริมความรู้เชิงวัฒนธรรมและเกร็ดความรู้ต่างๆ โดยผลงาน 3 ใน 4 ของเล่มเป็นผลงานการถ่ายรูปของคนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานก็ได้มีการนำหนังสือ “All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก” มาวางจำหน่าย พร้อมกับการแจกลายเซ็นของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image