“กระทำความหว่อง” โดย ทราย เจริญปุระ

"กระทำความหว่อง" โดย ทราย เจริญปุระ (ที่มาภาพทราย : เฟซบุ๊ก Inthira Itr Charoenpura

“กระทำความหว่อง”

หลังๆ มานี่ มีกริยาหนึ่งที่ฉันได้ยินอยู่เรื่อยๆ และค่อนข้างมีความหมายสมบูรณ์ในตัวมันเองในแบบที่ว่า พอได้ยินปุ๊บ ก็จะคิดภาพออกปั๊บว่าเป็นอย่างไร

กริยานั้นก็คือ “กระทำความหว่อง”

“หว่อง” ในที่นี้ ย่อมาจากชื่อของผู้กำกับฯ หว่อง การ์ ไว หรือ หวัง เจีย เหว่ย ผู้ที่สร้างภาพยนตร์ได้ชนิดที่ว่ามี “ลายเซ็น” เฉพาะตัวอย่างยิ่งด้วยเรื่องของคนเหงา คนนอก ผู้ไม่หลอมรวมกลมกลืนกับสังคมโดยรอบ แล้วไปยังไงมายังไงก็ไม่ทราบ วันหนึ่งก็ได้ยินคนใช้ศัพท์ “กระทำความหว่อง” ขึ้นมา แล้วฉับพลันก็จะผุดภาพ แก้วเหล้าที่เหลือเพียงน้ำแข็งเจือวิสกี้ก้นแก้ว ที่เขี่ยบุหรี่สุมเถ้าพูนจนล้น ถนนว่างเปล่าหมาดฝน สะท้อนดวงไฟแสนเหงา

ใช่ว่าทุกครั้งที่กริยานี้ปรากฏขึ้นในบทสนทนาจะจำกัดอยู่แค่การอธิบายบอกเล่า แต่บ่อยครั้งที่มันจะออกไปในทางแดกดันเสียมากกว่า ว่าช่างว่างเปล่า ช่างสร้างภาพเสียเหลือเกิน นึกอะไรไม่ออกก็นั่งเหงาๆ เศร้าๆ กระทำความหว่องรอให้คนมาทัก

Advertisement

แต่ฉันเชื่อว่าความรู้สึกแบบนี้มีอยู่จริง

หรือถ้าใครอยากจะหว่องขึ้นมาสักวันมันจะเสียหายตรงไหน

บางทีความอ้างว้างมันก็เกาะกุมใจเราและไม่ได้บำบัดได้เพียงเดินออกไปข้างนอก

เราออกไปข้างนอกก็จริง แต่บางทีก็เพื่อยืนยันตัวตนบางอย่าง ไม่ใช่ไปเพื่อร่วมกับมัน

ร่างกายเรายังมีจริง ยังคงจับต้องได้ใช่หรือไม่

บทเพลงยังมีความหมาย ผู้คนยังคงสนทนา

โลกหมุนไปแม้ไม่มีเราเข้าไปร่วมกับมัน

“หัวใจคือนักล่าอันว้าเหว่” ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1940 พูดถึงหลายชีวิตที่แตกต่างกันทั้งสถานะ วัย เพศ สีผิว แต่พวกเขาล้วนมีความเหงาและความแปลกแยกของตนเอง ตัวละครเหล่านี้มีความขาดพร่องเป็นมิตรสหาย และมักไม่ถูกมองว่าสามารถมีอารมณ์ความรู้สึกแบบที่คนปกติทั่วไปมี ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความฝัน ความปรารถนา ความเศร้า แม้กระทั่งความเหงา

แต่ด้วยบรรยากาศของสังคมในยุค 1940 ที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้งและเรียกร้องต่อสิทธิเสรีภาพ ความเหงาและความแปลกแยกนั้นจึงไม่ถูกจำกัดอยู่ในรูปแบบของความโรแมนติกแบบที่เราคุ้นชินเดี๋ยวนี้ แต่ความว้าเหว่ของตัวละครนั้น ก็แฝงด้วยความแสวงหาแบบนักล่า พวกเขาต้องการอะไรบางอย่าง กระหายในสิ่งที่อาจไม่มีอยู่จริงหรือไม่อาจพูดถึงมันได้ และหมกมุ่นจ่อมจมอยู่กับปรารถนาจนไม่เหลือพื้นที่ของความเห็นอกเห็นใจให้แก่คนอื่น

พวกเขาจึงล้วนเดียวดาย ไร้คนเข้าใจและไม่มีความสามารถพอจะเข้าใจใครได้เช่นกัน

“เดี๋ยวนี้เธอไม่อาจอยู่ที่ห้องภายในได้อีกแล้ว เธอต้องอยู่ใกล้ใครสักคนตลอดเวลา ทำบางอย่างทุกนาที และหากเธออยู่คนเดียว เธอจะนับหรือนึกถึงแต่ตัวเลข เธอนับกุหลาบทุกดอกบนกระดาษติดฝาผนังในห้องอาหาร คำนวณหาพื้นที่รูปลูกบาศก์ของบ้านทั้งหลัง นับใบหญ้าทุกใบที่สนามหลังบ้าน และใบไม้ทุกใบบนพุ่มไม้ต้นหนึ่ง เพราะหากไม่เอาความคิดไปอยู่ที่ตัวเลขแล้ว เธอจะรู้สึกถึงความหวั่นกลัวเลวร้าย”*

มันก็อาจจะแค่นี้ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ล่าหรือผู้ว้าเหว่

เราเก็บความโกรธกับความเศร้าเอาไว้ แล้วดำเนินชีวิตต่อไปทีละวัน

นี่คือคำตอบที่ใช้ได้สำหรับทุกปัญหาของชีวิต

“หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่” (The Heart Is A Lonely Hunter) เขียนโดย Carson McCullers แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก มกราคม, 2559 โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์

*ข้อความจากในหนังสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image