ส่งท้ายงาน”เทศกาลหนังสือของพ่อ” บันทึกความทรงจำและร่วมก้าวต่อไป

ประชาชน​จำนวน​มาก​ต่อ​แถว​ชม​นิทรรศการ​โครงการ​พระราชดำริ​ในหลวง รัชกาล​ที่ 9 พร้อม​เลือก​ซื้อ​หนังสือ​ดี ภายใน​งาน​หนังสือ​ของ​พ่อ ที่​เครือ​มติ​ชน ร่วม​กับ 40 สำนัก​พิมพ์ จัด​ขึ้น​วัน​ที่ 1-5 ธ.ค.2559 ที่​เดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อ​วัน​ที่ 1 ธ.ค.2559

ถือว่าเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยสำหรับงาน “เทศกาลหนังสือของพ่อ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-5 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ อันเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์มติชน เดอะมอลล์ กรุ๊ป เอ็นซีซีอิมเมจ และสำนักพิมพ์ชั้นนำรวม 40 แห่ง ที่ต่างต้องการรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดไว้ในงานเดียวให้แก่ประชาชน

ตลอดทั้ง 5 วันจึงเต็มไปด้วยประชาชนที่สลับสับเปลี่ยนมาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางบรรยากาศของความอาลัยต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยประชาชนต่างพากันมาเลือกซื้อหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกิจกรรมเสวนาบอกเล่า “ความทรงจำ” ต่างๆ ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านทางวิทยากร และผู้เขียนหนังสือก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี เห็นได้จากจำนวนประชาชนบริเวณหน้าเวทีนั้นแน่นจนแทบไม่มีที่ว่าง

ทั้งหมดก็เพราะอยากจะน้อมรำลึกและเก็บประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดครั้งนี้ไว้

Advertisement

ด้วยเหตุนี้จึงได้สัมภาษณ์พูดคุยกับบุคคลที่มีส่วนร่วมกับงานในครั้งนี้เพื่อสรุปภาพรวม ทบทวนความทรงจำ และความประทับใจในงาน “หนังสือของพ่อ” อีกครั้งหนึ่ง

 ฐากูร บุนปาน
ฐากูร บุนปาน

เริ่มที่ ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ได้กล่าวว่า หากพูดกันตรงๆ การจัดงานในครั้งนี้ถือว่า “ดี” ตั้งแต่เริ่มต้นงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทางเดอะมอลล์ โดยไม่คิดมูลค่า เช่นเดียวกับโครงสร้างการจัดงานก็ได้ เอ็นซีซี อิมเมจ มาช่วยโดยไม่คิดมูลค่าเช่นกัน

“รวมไปถึงเพื่อนพี่น้องจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ได้คัดเลือกและนำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มาจัดจำหน่ายกันอย่างเต็มที่”

Advertisement

ส่วนภาพรวมของงานฐากูรบอกว่าไปได้ด้วยดี จำนวนคนที่มางานถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เพราะโดยปกติงานหนังสือคนจะน้อยกว่างานอีเวนต์ประเภทอื่นอยู่แล้ว แต่ว่าข้อดีของงานหนังสือคือ คนที่มาจะตั้งใจมาหาหนังสือ หรือสิ่งที่พวกเขาต้องการภายในงานจริงๆ

ผู้​ชม​งาน​ต่อ​แถว​รับ​โปสเตอร์​พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาล​ที่ 9 ภายใน​งาน "เทศกาล​หนังสือ​ของ​พ่อ" จัด​โดย​สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน​และ​สำนัก​พิมพ์​ชั้น​นำ 40 แห่ง ที่​เดอะมอลล์ บางกะปิ วัน​ที่ 3 ธ.ค. 2559
ผู้​ชม​งาน​ต่อ​แถว​รับ​โปสเตอร์​พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาล​ที่ 9 ภายใน​งาน “เทศกาล​หนังสือ​ของ​พ่อ” จัด​โดย​สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน​และ​สำนัก​พิมพ์​ชั้น​นำ 40 แห่ง ที่​เดอะมอลล์ บางกะปิ วัน​ที่ 3 ธ.ค. 2559

“ผมประทับใจที่เห็นหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำให้บรรยากาศหลากหลายขึ้น โดยสองบูธได้รับความสนใจจากประชาชน คือ บูธสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มีการแจกเหรียญที่ระลึก หนังสือ และโปสเตอร์ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับบูธบริษัทไปรษณีย์ไทย ที่ได้จัดแสดงสมุดภาพแสตมป์ของพ่อ และจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึก”

“อีกกิจกรรมที่ประทับใจ คือ การจัดพิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์แบบโบราณ และกิจกรรมระบายสีพระบรมสาทิสลักษณ์ ที่ประชาชนให้ความสนใจชนิดที่ต่อคิวกันยาว ส่วนโต๊ะระบายสีก็เต็มทั้งวันและทุกวัน”

ฐากูรกล่าวว่า ด้านหนึ่งของงานทำให้เห็นว่าผู้คนยังรำลึกอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างลึกซึ้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งการตามหาพระบรมฉายาลักษณ์ หาสิ่งที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็มีมากไม่แพ้กัน

สิ่งนี้แปลว่าคนไทยเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

ส่วนหนังสือที่เขาประทับใจในงานนั้น ฐากูรบอกว่าหนังสือในทุกๆ บูธนั้นต่างคัดสรรมาเป็นอย่างดี แต่ที่ต้องใจเขามากที่สุดคงเป็นหนังสือตามบูธหนังสือเก่า โดยเฉพาะนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ฉบับหนึ่ง

หน้าปกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาดูได้ยาก โดยตัวเขาเองเคยซื้อเก็บเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าหายไปไหน

“เวลาดูหนังสือเก่ามันทำให้เราแปลกตาอยู่เสมอ บางเล่มเห็นมานานจนลืมไปแล้ว บางเล่มเราไม่เคยเห็นเลย อย่างฟ้าเมืองไทยเล่มนี้เห็นแล้วก็ทำให้เรานึกขึ้นมาได้” ฐากูรกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ก่อนที่เขาจะทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวอยากขอขอบคุณทุกคนที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้นมาได้ ออกมาสมพระเกียรติ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่พวกเราสามารถทำได้เพื่อน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยการถวายพระพรชัยแด่รัชกาลที่ 10 และทุกอย่างนั้นก็ออกมาด้วยดี

 อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ  และ พัลลภ สามสี
อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ และ พัลลภ สามสี

ขณะที่สองตัวแทนจาก “สำนักพิมพ์มติชน” ทั้ง อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน และ พัลลภ สามสี บรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน ต่างได้ให้สัมภาษณ์ถึงงานครั้งนี้เช่นกัน

“ส่วนตัวคิดว่าภาพรวมของงานในครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยดี”

อพิสิทธิ์เริ่มต้นก่อนที่เขาจะเสริมว่า นั่นเป็นเพราะงานในครั้งนี้ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ทางสำนักพิมพ์มติชนได้ตั้งเป้าเอาไว้คือ เผยแพร่พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านตัวหนังสือ

“สิ่งที่เราเห็นคือ มีเพื่อนพี่น้องจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้เข้ามาร่วมจำหน่ายหนังสือ รวมไปถึงหน่วยงานราชการที่ได้เข้ามาช่วยเหลือในการจัดนิทรรศการ ร่วมแจกของที่ระลึกหายากต่างๆ จนพูดได้ว่าทั้งหมดทั้งมวลอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 ล้วนแล้วอยู่ในงานนี้ทั้งหมด ซึ่งประชาชนเองก็ให้การตอบรับดีมาก”

อพิสิทธิ์กล่าวว่า หนังสือส่วนใหญ่ที่ประชาชนมาซื้อที่ทางสำนักพิมพ์มติชนได้จัดทำทั้งศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ประทับในใจราษฎร์ สถิตในใจชน รอยพระยุคลบาท และใต้เบื้องพระยุคลบาท จะเป็นหลักฐานอีกชุดหนึ่งในอนาคตที่ว่าด้วยแผ่นดินในรัชกาลที่ 9 ซึ่งเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหลักฐานเหล่านี้เอาไว้”

“สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจที่สุดในงานนี้คือ ถือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ไม่เคยจัดขึ้นมาก่อน เป็นงานที่รวบรวมทุกอย่างเอาไว้อย่างครบถ้วน เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวหลังเหตุการณ์สวรรคต” อพิสิทธิ์กล่าว

ส่วนหนังสือที่อพิสิทธิ์ชื่นชอบที่สุดในงานนี้คือ หนังสือรอยพระยุคลบาท อันบันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร โดยเขาเชื่อว่าจะเป็นหนังสือสำคัญในอนาคต เพราะเป็นหนังสือทางประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งที่เขียนโดยข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ

“หนังสือเล่มนี้จะเป็นสิ่งที่เอาไว้ใช้ศึกษาเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนี้ได้ในอนาคต” อพิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

ผู้​ชม​งาน​ต่อ​แถว​รับ​โปสเตอร์​พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาล​ที่ 9 ภายใน​งาน "เทศกาล​หนังสือ​ของ​พ่อ" จัด​โดย​สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน​และ​สำนัก​พิมพ์​ชั้น​นำ 40 แห่ง ที่​เดอะมอลล์ บางกะปิ วัน​ที่ 3 ธ.ค. 2559
ผู้​ชม​งาน​ต่อ​แถว​รับ​โปสเตอร์​พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาล​ที่ 9 ภายใน​งาน “เทศกาล​หนังสือ​ของ​พ่อ” จัด​โดย​สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน​และ​สำนัก​พิมพ์​ชั้น​นำ 40 แห่ง ที่​เดอะมอลล์ บางกะปิ วัน​ที่ 3 ธ.ค. 2559

ขณะที่พัลลภเสริมว่า ปรากฏการณ์ที่ประชาชนให้การตอบรับเทศกาลหนังสือของพ่อเป็นอย่างดีนั้น สืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม โดยเวลานั้นในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ประชาชนตามหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 กันเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงเวลานั้นหลายสำนักพิมพ์ไม่สามารถจัดพิมพ์ได้ทัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดและอยากให้เกิดขึ้น

“ในช่วงนั้นประชาชนต่างมาตามหาหนังสือที่บูธเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนก็ต่างทยอยออกหนังสือฉบับพิเศษออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปางเสด็จฯ ธ สู่ด้าว แดนสวรรค์ โดย กอง บก. มติชน และเทวษไห้หาจาบัลย์ พระมิ่งขวัญสถิตในใจชน โดย กอง บก. ประชาชาติธุรกิจ”

ตรงนี้เป็นสิ่งที่เห็นตั้งแต่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ จนสืบเนื่องมาถึงงานเทศกาลหนังสือของพ่อในที่สุด

สิ่งที่รู้สึกประทับใจกับงานในครั้งนี้คือ การที่ได้เห็นผู้คนได้สิ่งต่างๆ อยากที่พวกเราอยากให้เขาได้กลับไป ทั้งหนังสือพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส และโปสเตอร์พระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมัน วาดโดย ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชาวอินโดนีเซีย รวมทั้งหนังสือที่จัดพิมพ์ปกใหม่ทั้ง รอยพระยุคลบาท และใต้เบื้องพระยุคลบาท

“นอกจากนี้คือ การที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ให้ความสำคัญ และทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อให้งานนี้ออกมาดีที่สุด เช่นเดียวกับวิทยากร ผู้ดำเนินรายการที่ต่างมาร่วมงานนี้ด้วยใจ โดยไม่สนใจเรื่องค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่น้อย” พัลลภกล่าว

ส่วนหนังสือที่เขาประทับใจในงานที่สุดคือ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส เพราะเป็นหนังสือที่คัดเฉพาะส่วนสำคัญ อ่านและเข้าใจได้ง่าย โดยสามารถนึกถึงพระองค์ท่านได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดในชีวิต

ทั้งหมดคือ ส่วนหนึ่งของการสรุปภาพรวม และความประทับใจในงาน “เทศกาลหนังสือของพ่อ”

ที่ล้วนแล้วจะอยู่ในความทรงจำของผู้จัดงาน สำนักพิมพ์ต่างๆ วิทยากร นักเขียน รวมไปถึงประชาชน ที่ต่างมาร่วมอ่าน “หนังสือของพ่อ” เสมอไป

ผู้​ชม​งาน​ต่อ​แถว​รับ​โปสเตอร์​พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาล​ที่ 9 ภายใน​งาน "เทศกาล​หนังสือ​ของ​พ่อ" จัด​โดย​สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน​และ​สำนัก​พิมพ์​ชั้น​นำ 40 แห่ง ที่​เดอะมอลล์ บางกะปิ วัน​ที่ 3 ธ.ค. 2559
ผู้​ชม​งาน​ต่อ​แถว​รับ​โปสเตอร์​พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาล​ที่ 9 ภายใน​งาน “เทศกาล​หนังสือ​ของ​พ่อ” จัด​โดย​สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน​และ​สำนัก​พิมพ์​ชั้น​นำ 40 แห่ง ที่​เดอะมอลล์ บางกะปิ วัน​ที่ 3 ธ.ค. 2559
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image