The Force สารคดีสะท้อนมรดกวัฒนธรรมเป็นพิษ ในวงการตำรวจ

The Force สารคดีสะท้อนมรดกวัฒนธรรมเป็นพิษ ในวงการตำรวจ

The Force

สารคดีสะท้อนมรดกวัฒนธรรมเป็นพิษ
ในวงการตำรวจ

เคยเขียนแนะนำถึงสารคดีเรื่อง The Force เมื่อกลางปีที่แล้ว จังหวะที่ตอนนี้ประเทศไทยมีข่าวโด่งดังสะเทือนวงการตำรวจในประเด็นเรื่อง “การใช้ความรุนแรง” กับผู้ต้องหาอย่างเกินเลย จึงอยากนำเรื่อง The Force มาเล่าถ่ายทอดอีกครั้ง เพราะเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ตั้งคำถามในบางแง่มุมของวงการตำรวจในสหรัฐอเมริกา โดยใช้กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงที่ “สำนักงานตำรวจโอ๊คแลนด์” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสำนักงานตำรวจที่ถูกรายงานปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจติดอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะประเด็น “ตำรวจ” ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย

โดยตัวสารคดีได้ตามติดช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ที่สำนักงานตำรวจแห่งนี้พยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ และปฏิรูปสำนักงานครั้งใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อ “วัฒนธรรมเป็นพิษ” ที่เกิดจากการใช้อำนาจของตำรวจในสำนักงานแห่งนี้ได้ฝังรากลึกต่อสังคมและผู้คนไปเสียแล้ว

Advertisement

สารคดีฉายให้เห็นถึงปัญหาร้องเรียนการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของตำรวจในการรับมือกับประชาชนผิวดำ โดยเฉพาะการถูกตั้งข้อสังเกตว่าตำรวจเหล่านี้อคติหรือมีทัศนคติที่เหยียดคนผิวดำหรือไม่ เท่านั้นไม่พอสำนักงานตำรวจแห่งนี้ยังต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวฉาวโฉ่ตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อมีนายตำรวจกว่า 10 นาย เข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ การค้าประเวณีของผู้เยาว์ และการประพฤติผิดทางเพศ

“The Force” ไม่ได้ตั้งเป้าจะทำสารคดีเพียงเพื่อชี้นิ้วไปยังผู้ใช้อำนาจทางกฎหมายที่น่าเคลือบแคลง แต่สารคดีได้ฉายภาพให้เห็นเหรียญสองด้าน ด้วยการตั้งคำถามระหว่าง “มุมมองของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” กับ “มุมมองของประชาชนและสื่อมวลชน” โดยใช้การเล่าเรื่องผสมเหตุการณ์ที่ตำรวจต้องรับมือในสถานการณ์จริง ตัดสลับเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้และเตรียมตัวออกมาเป็นนายตำรวจที่ดูยากเข็น กระทั่งเรียนจบหลักสูตรตำรวจพร้อมติดตราสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจที่จะก้าวสู่อาชีพตำรวจเต็มตัว

หนังสารคดีใช้การตามติดดูชีวิตนายตำรวจหนุ่มคนหนึ่งที่เพิ่งก้าวพ้นจากรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจและเข้าประจำการที่สำนักงานตำรวจโอ๊คแลนด์ ดูการปฏิบัติหน้าที่ของนายตำรวจคนนี้ในการลาดตระเวนตรวจตรา และดูวิธีรับมือกับสถานการณ์น่าสุ่มเสี่ยงต่างๆ ว่าในวินาทีวิกฤตพวกเขารับมือและปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยอย่างไร สมเหตุสมผลเพียงพอต่อสถานการณ์ตรงหน้าหรือทำเกินไป รวมทั้งผลพวงต่างๆ ที่ตามมาในการเลือกรับมือของนายตำรวจเหล่านี้

นั่นเพราะเมื่อสำนักงานตำรวจโอ๊คแลนด์ถูกจับจ้องจากสังคมและสื่อต่อการมีข่าวเชิงลบอย่างมาก ทำให้ยิ่งต้องพยายามนำเสนอให้สังคมเห็นมาตรการและขั้นตอนในกระบวนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจระหว่างการจับกุมผู้ต้องหา-ผู้กระทำผิดในเหตุการณ์แต่ละครั้ง

หนังสารคดียังไปเกาะติดดูการฝึกถึงในโรงเรียนตำรวจว่านักเรียนตำรวจเหล่านี้ฝึกฝนและเรียนรู้จากโรงเรียนนายร้องตำรวจอะไรมาบ้าง เราจะได้เห็นการอบรมและสอนเกี่ยวกับจริยธรรมศาสตร์ของผู้ใช้กฎหมายและผู้มีอำนาจ

ที่น่าสนใจคือ ในระหว่างการฝึกนั้นจะมีช่วงหนึ่งที่เปิดวงเสวนากลุ่มย่อยให้เหล่านักเรียนตำรวจได้แสดงมุมมองความเห็นต่อกรณีศึกษา และปัญหาที่ตำรวจถูกมองว่ามักใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในสารคดีทำให้เราเห็นมุมมองหลายอย่างของนักเรียนตำรวจ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่มองเรื่องการใช้อำนาจและความรุนแรงขัดแย้งและสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน

อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งเรื่องที่หนังสารคดีแม้จะพยายามฉายภาพให้เห็นและเล่าอย่างถ่วงดุลให้เห็นถึงอีกแง่มุมของตำรวจที่ต้องทำงานท่ามกลางแรงกดดันมากมาย เห็นความพยายามปฏิรูปสำนักงานตำรวจเมืองโอ๊คแลนด์ตั้งแต่การฝึกอบรมเข้มงวด มีการฝึกฝนนายตำรวจถึงปัญหาเซ็นซิทีฟอ่อนไหวที่ต้องไตร่ตรองและรับมือให้ดี ไปจนถึงความพยายามในทางปฏิบัติ อาทิ ติดตั้งกล้องที่อกเสื้อตำรวจลาดตระเวนทุกนายเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนระหว่างเข้าจับกุม ไปจนถึงการต้องเขียนรายงานอย่างละเอียดในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีเหตุการณ์การใช้กำลังเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การใช้ปืนไฟฟ้ากับผู้ต้องสงสัย ไปจนถึงความพยายามต่างๆ ที่จะปรับภาพลักษณ์เพื่อลดภาพตำรวจกับความรุนแรง

หนึ่งในฉากสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ คือความพยายามมอบความคิดอันลุ่มลึกจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มาบรรยายให้นักเรียนตำรวจที่กำลังจะติดตราตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่เต็มตัวฟังว่า

“ทันทีที่คุณสวมเครื่องแบบ คุณก็คือตัวแทนของพวกเรา คุณจะเป็นตัวแทนแบบไหนของครอบครัว คุณจะแทนตัวเองอย่างไร และจากนั้นคุณจะเป็นตัวแทนของสำนักงานตำรวจอย่างไร นั่นคือสิ่งที่คุณต้องถามตัวเอง เมื่อคุณออกไปข้างนอกนั่น และคิดเรื่องทำตัวไม่เหมาะสม เวลาออกไปที่นั่นและปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือคุณ ผู้คนจะจดจำวิธีที่คุณจะปฏิบัติต่อเขาหรือเปล่า ผู้คนจะจดจำว่าคุณช่วยเขาหรือเปล่า ชื่อของคุณจะมีความหมายต่อพวกเขาไหม”

เป็นชุดถ้อยคำที่ควรจะได้เก็บบรรจุไว้ใช้ตระหนักและเตือนสติตัวเองในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง

ทว่า สิ่งที่สารคดี The Force พาไปดูถึงความพยายามปรับรูปแบบการทำงานของตำรวจที่สำนักงานตำรวจโอ๊คแลนด์ต่างๆ
นานา ท้ายสุดก็ยังเป็นความพยายามที่ดูจะไร้ผล แม้มีตัวเลขสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะยังปรากฏเหตุการณ์อื้อฉาวที่ยังคงมีมาเป็นระลอก

ฉะนั้นต้นทุนที่มีต่ำอยู่แล้วของตำรวจก็ยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนที่มีต่อผู้ใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายในระบบนี้ก็ยังคงมีสิ่งที่สะสมกลายเป็นมรดกวัฒนธรรมอันเป็นพิษในองค์กรที่ได้รับสิทธิอำนาจให้เป็นผู้ใช้กฎหมายอยู่ดี และนั่นก็คือบทสรุปจาก “The Force”

ใครอยากดูหนังสารคดีเรื่องนี้รับชมสตรีมมิ่งได้ที่เน็ตฟลิกซ์

ขอบคุณภาพประกอบ Youtube Video/Netflix

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image