‘เพลิงพระนาง’ เมื่อไหร่จะดูละครเป็นละคร

แม้จะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ละครสุดสัปดาห์เรื่องใหม่ของช่อง 7 ‘เพลิงพระนาง’ จะมีฐานเนื้อหามาจาก ‘เที่ยวเมืองพม่า’ พระนิพนธ์ของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จฯไปเยือนเมื่อปี 2478 ระหว่างทรงลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ปีนัง กับ ‘พม่าเสียเมือง’ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แรงบันดาลใจมาจากเที่ยวเมืองพม่าอีกที

แต่เมื่อตั้งใจสร้างเรื่องเป็นนิยายเพื่อทำละคร ไม่ว่าครั้ง คม-แรเงา เขียนให้ กันตนา ทำไว้ตั้งแต่ปี 2539 แล้ว ภาคย์รพี มาทำบทอีกหนในการสร้างคราวนี้ นิยายก็เป็นนิยาย และละครก็ยังเป็นละครอยู่ดี ไม่ควรที่จะลากไปให้กลายเป็นข้อพิพาทบาดหมางระหว่างประเทศไปได้ ว่าลบหลู่ดูหมิ่นเชื้อสาย นอกเหนือการติโน่น เตือนนี่กันไปตามถนัด

ตามอ่านรายละเอียดนิยายจากหนังสือพิมพ์รายวัน หรือแค่หาอ่านเรื่องย่อเอาจากที่ไหนได้ไม่ยาก ก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องรัก โลภ โกรธ หลง หึงสาพยาบาท แย่งชิงอำนาจกันอย่างละครหลังข่าวล้วนๆ

อ่านนิยายดูละครกันมานับร้อยๆ เรื่อง มีถึง 70-80% ที่วนเวียนอยู่กับปมเงื่อนที่ว่ามานั้น เพียงอาศัยเค้าโครงวางเรื่องสมมุติชื่อสถานที่ขึ้นมา อันเป็นสามัญปกติของการสร้างงานที่อิงเรื่องจริงเพื่อเป็นน้ำหนักของเนื้อหา เพราะอย่างไรเสีย ถึงวันนี้ก็คงเห็นกันหลายเรื่องแล้วว่า “เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย” มีอยู่สารพัดกรณีสารพัดแง่มุม ไม่ว่าจะจับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง หรือประเด็นสังคมร้อยแปด

Advertisement

IMG_3062

ถึงจะอาศัยจินตนาการล้วนๆ แต่หากขอบเขตเนื้อหาวางไว้ลักษณะนี้ จะหลีกเลี่ยงแหกออกทางอื่นไปได้ไง เพียงเจาะจงให้ประเด็นการล่าอาณานิคมเข้ามาให้เรื่องชัดขึ้นเท่านั้น ก็จะจับให้มั่นคั้นให้ตายเสียแล้ว พูดประเด็นนี้ก็เหมือนพายเรือในอ่าง

ดูอย่างหนังชุด ‘เกม ออฟ โธรนส์’ สร้างมาตั้ง 7-8 ปี ก็เรื่องแบบนี้แหละ อยากกุมอำนาจ อยากจะกินกลืนคนอื่นให้เป็นข้า มีดินแดนพื้นที่ไหนแต่โบราณกาลมาไม่เป็นเช่นนี้ หากมีคนปัจจุบันที่สืบเชื้อสายมาจากฟากโน้นฝ่ายนี้ มาร้องแรกว่าทำหนังทำละครดูหมิ่นหยามเหยียดชาติพันธุ์ ฝรั่งเศสกับอังกฤษก็คงตีกันหายจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะหนังสู้รบปรบมือที่แสดงปมขัดแย้งของสองประเทศนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ สร้างมาแล้วเป็นร้อยเรื่องในกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

Advertisement

‘สารขันฑ์’ นั่นไง ลืมแล้วหรือ ‘ดิ อั้กลี่ อเมริกัน’ ยังไม่ต้องทันสมัยถึง ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวร’ ของ ท่านมุ้ย ก็ยังได้ ใครลบหลู่ใคร

ที่ว่านี้มิใช่พูดแบบกำปั้นทุบดิน วิพากษ์วิจารณ์อะไรไม่ได้ ดูไปปิดปากเงียบกริบอย่างเดียว อย่างนั้นนอกจากผิดธรรมชาติแล้วคงเสียจริตอยู่บ้าง นิยายและละครมากมายที่ตีความเรื่องจริงหรือเรื่องประวัติศาสตร์ในลักษณะต่างๆ ต้องจำแนกแยกแยะประเด็นให้ถูกเรื่อง ถ้าคอยถามว่าเสื้อเกราะทหารสมัยพระนเรศวรใช่อย่างที่เห็นในหนังจริงหรือ เดี๋ยวท่านมุ้ยก็ทรงถองเอา

ดูหนังดูละครกันสบายใจเพลินๆ ดีกว่า ถ้าจะอึดอัดขัดข้องเพราะนักแสดงฝีมือไม่ถึง หรือการผลิตสุกเอาเผากินเกินไป ก็ว่าไปตามเนื้อผ้า แต่หากละครกระตุ้นแรงบันดาลใจให้เกิดอยากรู้เรื่องจริงที่แปลงมาหรือจำลองมา ทำให้ต้องไปหา ‘เที่ยวเมืองพม่า’ หรือ ‘พม่าเสียเมือง’ มาอ่าน ก็ยิ่งเป็นคุณูปการอย่างเอกอุแก่ตัว ที่จะได้ลิ้มรสงานเขียนอันเพลิดเพลินด้วยสาระและความรู้รอบของสมเด็จฯ และความสนุกสนานตื่นเต้นสมจริงสมจังของนักเล่าเรื่องอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่วาดภาพการฆ่าล้างผลาญชนเชื้อเดียวกันเองอย่างน่าสยดสยอง จับขาเด็กทารกเหวี่ยงฟาดหัวกับกำแพง ถมซากศพฝังรวมกันนับสิบนับร้อย

จนเสียงโหยหวนน่าสะพรึงกลัวติดหูผู้คนอยู่นานนับวันๆ คืนๆ น่าขนลุกขนชันขนาดนั้น

ดูละครกันให้เพลินก่อนดีกว่า เพิ่งแพร่ภาพได้แค่ 6 ตอน แล้วออกอากาศผ่านหลายสื่อด้วย ที่กำลังจับเรตติ้งเป็นประเด็นก็อย่าเผลอดูแต่ทีวีก็แล้วกัน

IMG_6420

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image