‘โน ทูมอโรว์’ ใครไม่เคยผ่าน สุดยอดเรื่องสะเทือนใจมนุษย์

ไม่กี่ปีก่อน พยาบาลสาวชาวออสเตรเลีย บรอนนี แวร์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต กลายเป็นที่รู้จักเนื่องจากเธอได้เปิดเผย 5 เรื่องสำคัญที่ผู้คนมักเสียใจกันมากที่สุดในชีวิต เมื่อส่งต่อความคิดความรู้สึกของบรรดาผู้ป่วยที่เธอใกล้ชิดสู่สาธารณะ ในรูปหนังสือชื่อ ‘ห้าเรื่องที่ผู้ตายเสียใจมากที่สุด’ (The Top Five Regrets of the Dying)

เรื่องแรกคือ พยายามเอาใจคนอื่นโดยฝืนความรู้สึกตัวเอง

เรื่องที่สอง เป็นทุกข์ซึ่งเธอพบในบรรดาผู้ป่วยเพศชายมากที่สุด คือการทุ่มเทกับงานมากจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว

เรื่องที่สาม คือการข่มใจตัวเอง ไม่เปิดเผยความรู้สึกที่แท้เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

Advertisement

เรื่องที่สี่คือ ห่างเหินจากเพื่อน

เรื่องที่ห้า คือการสละความสุขระยะยาว แลกกับการใช้ชีวิตในกรอบเดิมๆที่คุ้นเคย ปราศจากความเสี่ยง

ข้อสุดท้าย ผู้ที่คิดว่าตัวยังอยู่ไกลความตายอาจยังมีข้อถกในรายละเอียด แต่คนใกล้ตายย่อมมีคำตอบซึ่งคิดได้จากเวลาที่เหลือน้อยว่า เสียดายหรือเสียใจที่ตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้น หรือรู้งี้ตอนนั้นทำอย่างนั้นเสียดีกว่า ซึ่งตอนนั้นอาจเป็นการตัดสินใจที่ ‘ต้องเสี่ยง’ ที่บางรายยังหวั่นเกรงกับการเปลี่ยนแปลงอยู่

Advertisement

ด้วยแนวคิดนั้นเอง จึงเกิดหนังชุดเรื่อง ‘โน ทูมอโรว์’ (No Tomorrow) ขึ้น (2559) โดยถ่ายทำที่แวนคูเวอร์ แคนาดา ดัดแปลงเนื้อหามาจากหนังชุดของบราซิลที่แปลชื่อเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘How to Enjoy the End of the World’ (2555) จะสำราญกับวันสิ้นโลกได้อย่างไร

1

เพราะมีแต่ความคิดว่าวันโลกวินาศกำลังมาถึงเท่านั้น ที่อาจทำให้ผู้คนตระหนักถึงการใช้ชีวิตของตนกันขึ้นมาได้ แม้คำทำนายทั้งหลายที่มี จะผ่านการพิสูจน์ด้วยวันเวลามาแล้วว่ายังมิได้เกิดขึ้นจริง แต่ก็มีอีกหลายคนที่เชื่อว่าวันสิ้นโลกจะมาถึง ซึ่งจะคร่าทุกสรรพสิ่งบนโลก

อาจเพราะอนิจจังในความไม่แน่นอนของชีวิต โดยเฉพาะในโลกที่บีบรัดและแก่งแย่งแข่งขันอันรุนแรงขึ้นทุกที ที่ความทุกข์ร้อนระอุกว้างไกลออกไป และการไขว่คว้าความสุขที่ไม่จีรังปรากฏบทเรียนแก่ผู้คนชัดเจนขึ้น วิธีคิดที่จะใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้คุ้มค่า คาร์เป เดียม (Carpe diem) หรือ โยโล (YOLO – You only live once) เกิดมาแค่ชาติเดียว

จึงทำให้ต่างหันมาทบทวนวิธีการใช้ชีวิตกันใหม่

ด้วยเหตุที่ความตายหรือการพรากจากไม่มีวันกลับ เป็นเรื่องน่าสลดหดหู่อยู่แล้ว หนังชุดนี้จึงเสนอออกมาในรูปหัสนาฏกรรม โรแมนติคคอมเมดี้ กระตุ้นต่อมความคิดผู้ชม

โดยให้แกนเรื่องเป็นชาย โจชัว ซาส ผู้ใช้ชีวิตอิสระที่ตั้งใจทำสิ่งที่อยากทำให้ได้ครบทุกอย่างก่อนโลกจะแหลกสลาย เพราะเชื่อว่ามีดาวเคราะห์พุ่งมาชนโลกอีกแปดเดือนข้างหน้า พร้อมกับพยายามโน้มน้าวสาวผู้จัดการคลังสินค้าแห่งหนึ่ง ทอรี แอนเดอร์สัน ซึ่งเหนื่อยหน่ายชีวิต หันมาทำตามฝันของเธอ

นาธาน เอ. เฮฟลิคก์ อาจารย์อาวุโสมหาวิทยาลัยลินคอล์น ระบุว่า ความเชื่อเช่นนั้นทำให้มนุษย์เกิดมุมมองเรื่องการใช้เวลาในชีวิต เรื่องการพอใจในสิ่งที่ตนมี และเรื่องความสุขที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยวาระสุดท้าย ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ ความคิดแบบโยโลทำให้เกิดการมองโลกในแง่ดีมากกว่าคอยขบคิดอยู่กับเรื่องที่เป็นลบ

แต่เฮฟลิคก์ก็เตือนว่า โยโลก็มีแนวโน้มเกี่ยวกับพฤติกรรมตามใจตัวเอง พร้อมกับยกตัวอย่าง ชายเมาแล้วขับที่แพร่สื่อสาธารณะว่า ‘โยโล’ ก่อนก่อเหตุรถชน เฮฟลิคก์กล่าวว่า การคิดถึงความตายอาจทำให้คนบางกลุ่มใช้ชีวิตอย่างประมาท แทนที่จะระมัดระวัง

ส่วนคาร์ล เอ. พิลล์เมอร์ ผู้เขียนหนังสือ ’30 บทเรียนการใช้ชีวิต’ (30 Lessons on Living) ได้เปิดเผยความลับ 5 ประการที่จะไร้ความเสียใจในการใช้ชีวิตคือ

1. เลือกคู่ชีวิตโดยพิถีพิถันเป็นพิเศษ

2. ยืนหยัดอยู่กับความซื่อสัตย์

3. ท่องเที่ยวให้มาก

4. ลดความกังวลให้น้อย

5. กล้าพูด

ในหลายโอกาส การแสวงชีวิตที่เป็นสุขก็มีเส้นบางๆกั้นระหว่างความกล้ากับบ้าบิ่นสุดโต่ง ผู้แนะนำการใช้ชีวิต สเตเซีย เพียร์ส ให้ความเห็นว่า การลองเสี่ยงช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างขอบเขตใหม่ๆ และช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆให้กับชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม การเสี่ยงด้วยความคิดรอบคอบช่วยให้มนุษย์ตัดสินได้ว่า ผลรับนั้นคุ้มค่ากับชีวิตหรือไม่

ชมหนังชุดทบทวนตัวเองอย่างหรรษา ‘โน ทูมอโรว์’ ไม่มีวันพรุ่งนี้ วันศุกร์เวลา 20.30 น. ทางช่องทรูวิชันส์ 337 อาร์ทีแอล. คุ้มกับเวลาที่ใช้ไปแน่นอน.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image