สูตรอาหารอบอุ่นใจ ไทยเชื่อมจีนกับมาเลย์

ตั้งแต่เคเบิลทรูได้ลิขสิทธิ์รายการอาหารมาเปิดเป็นช่อง เอเชียน ฟู้ด แชนเนล โดยงานส่วนใหญ่ผลิตจากสิงคโปร์ ประโยชน์มหาศาลจากการเรียนรู้ทำให้ต้องติดตามทุกครั้งที่มีโอกาส เนื่องจากรายการแทบจะทั้งหมด ไม่ว่า ‘คอมฟอร์ท ฟู้ด เรสิพีส์’ (Comfort Food Recipes) สูตรอาหารอุ่นใจซึ่งจะกล่าวถึงนี้ หรือการสำรวจรากเหง้าอาหารแต่ละชนิด (Axian Food Adventure) หรืออาหารประจำบ้านยามตรุษสารท หรือการประชันอาหารประเภทเดียวกันว่าร้านใดเป็นเลิศ (Food Wars Asia) โดยมีกรรมการมารับประทานตัดสิน จนแม้แต่การค้นหาร้านเก่าแก่ที่หายไปจากการโยกย้ายสถานที่ (Lost And Found) เป็นต้น ล้วนทำให้ผู้ชมไทยรู้สึกใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านได้อย่างคาดไม่ถึง

เนื่องจากรายการเหล่านี้ถ่ายทำอย่างเอาจริงเอาจังด้วยข้อมูลค้นคว้ามาพร้อม ทั้งการดำเนินรายการแบบบรรยายนอกซีน หรือมีตัวละครของเรื่องมาเดินเนื้อหา หรือมีผู้ดำเนินรายการประจำ

ไม่ได้เป็นรายการชวนกินอาหารร้านโน้นร้านนี้ ที่มักมีจำอวดมาเป็นตลกบริโภค เอะอะมะเทิ่งสวาปามไปตอนหนึ่งๆ หรือพิธีกรที่ไม่ค่อยมีมรรยาทหรือสัมมาคารวะกับบรรดาพ่อครัวแม่ครัวทั้งหลาย พูดจาราวกับฐานะเหนือกว่าแบบห้วนๆ ไม่มีหางเสียง ยิ่งพ้นจากทีวีสาธารณะไปในเว็บต่างๆ ยิ่งจับผู้ชมเฉพาะกลุ่มชนิดต้องเลือกดูกันให้ถูกรสนิยม อย่างนักร้องชายเคราครึ้มที่มาชิมไปวิจารณ์ติดคำ “อีดอก” ไปแต่ละชาม เพิ่มรสชาติอาหารได้ไม่น้อย

Advertisement

คอมฟอร์ท ฟู้ดตอนที่จะกล่าวถึง เล่าเรื่องของ เฉินฉุ่ยชิง ชาวจีนมาเลย์ในกลันตัน ที่คิดถึงครูมาเลย์วัย 70 อับดุลเลาะ ซึ่งเป็นผู้สอนภาษาไทยให้ วันหนึ่งจึงออกจากบ้านไปตลาดซื้อของไปทำกินกันที่บ้านครู ของสำคัญที่เลือกหาซื้อไปคือน้ำบูดูอย่างดี พอไปถึงบ้านจึงเห็นได้ชัดเจนว่า ฝาบ้านครูอับดุลเลาะประดับแผ่นภาพขนาดใหญ่หลายแผ่น บอกพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ไทยประกอบภาพตัวอย่างเล็กๆ อย่างที่มักเห็นกันตามโรงเรียนอนุบาล ที่ซื้อหาง่ายจากร้านคุรุสภา ไม่ต้องสงสัย ครูอับดุลเลาะเคยเรียนโรงเรียนไทยในกรุงมาแล้ว

ที่แจ่มอย่างไม่ทันนึกว่ากำลังดูรายการโทรทัศน์ต่างประเทศก็คือ ช่วงต้นนี้ ดนตรีประกอบเดินภาพด้วยเสียงดนตรีไทยคลอไปตลอด เตรียมพร้อมมาจริงๆ

วันนั้น ครูอับดุลเลาะเป็นพ่อครัวทำ ดากิงซิงเก หรือแกงเนื้อ แต่ใช้วัสดุและวิธีปรุงที่ครูบอกกับศิษย์วัยสูงอายุรุ่นน้องว่า ถ้าในเมืองไทยก็ค่อนไปข้างต้มข่าหรือต้มขมิ้นมากกว่า เพราะน้ำไม่ข้นเหมือนแกงกะทิ

ครูกับศิษย์คุยกันด้วยภาษามาเลย์ มีคำไทยบางคำ อาหารมื้อนี้เปี่ยมด้วยบรรยากาศของความห่วงใยสารทุกข์สุกดิบ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีภาษาไทยเป็นตัวเชื่อมให้เกิดขึ้น ซึ่งคนไกลเพื่อนบ้านอย่างเราคงไม่มีวันรู้ หากไม่มีสูตรอาหารรายการนี้ทำให้เห็น เช่นเดียวกับที่การผจญภัยในโลกอาหารของ อาเสียน เคยบอกให้เรารู้ว่า เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วสะใภ้ไทยที่ไปฝังรกรากในมาเลเซียเคยนำห่อหมกไปถูกดัดแปลงเป็นอาหารมาเลย์เลื่องชื่อมาแล้ว

ในยุคที่ประชาคมอาเซียนต้องผนึกกำลังกันแข่งขันกับเพื่อนร่วมโลก เพื่ออยู่ให้รอดด้วยทุนและความคิดตัวเอง รับมือเหล่าประเทศชั้นหนึ่งและประเทศมหาอำนาจที่ต่างรุกคืบเข้ากินทรัพยากรเพื่อนร่วมโลกที่ด้อยกำลังกว่า

การเข้าใจความเชื่อมโยงของผู้คน สัมพันธภาพอันลึกซึ้งผ่านเชื้อชาติและวัฒนธรรมอันหลากหลาย ซึ่งผูกพันกันและกันด้วยความแตกต่างที่ปราศจากอคติหรือเงื่อนไขเดียดฉันท์ใดๆ ย่อมเป็นเครื่องรัดรึงอันวิเศษ

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเป็นคุณที่เกิดได้จากสายตายาวไกล ญี่ปุ่นเรียนภาษาไทยมานาน ตอนนี้ทั้งจีนและเกาหลีต่างมีผู้สนใจเรียนภาษาไทยกันมากขึ้น อย่าว่าแต่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาก็มีผู้ลงวิชาเรียนภาษาไทยอยู่ไม่น้อย สถาบันการศึกษาไทยหรือผู้รับผิดชอบอนาคตสังคม ไยไม่ตั้งกองผลิตบุคลากรไทยซึ่งพูดภาษาเพื่อนบ้านได้จำนวนมากๆ เพื่อประโยชน์อีกหลากหลายหนทางที่จะเกิดตามมา

อย่ามัวแต่สวมแว่นสายตายาวกันอยู่… เอ, เปรียบเทียบถูกหรือเปล่าหว่า.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image