A Star Is Born บทเพลงอันดิ่งลึกของสองเรา : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

ไม่ว่าจะเป็นกลวิธีการตลาดให้เกิดกระแสปากต่อปาก หรือการประเมินตลาดคนดูหนังแนวนี้ไม่กว้างพอ ทำให้รอบฉายภาพยนตร์ “A Star Is Born” ที่เมืองไทย กลายเป็นความเซอร์ไพรส์ของคนดูหนังว่า ไฉนจึงเปิดฉายหนังเรื่องนี้ “จำกัดโรง” พอสมควร ทั้งที่เนื้อหนังของ A Star Is Born ไม่ใช่หนังฟอร์มเล็ก ไม่ใช่หนังอินดี้

สำหรับอเมริกานี่คือหนังฟอร์มดี สเกลใหญ่ ตั้งแต่ตัวนักแสดงและพื้นเพประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ธรรมดา เมื่อจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ นับเนื่องมาตั้งแต่ปี 1937

ภาพยนตร์ที่พูดถึง “ชีวิต” สวนทางของ “ดาวสองดวง”

ดวงหนึ่งกำลังร่วงหล่นแตกสลาย กับอีกหนึ่งที่กำลังจะทะยานสุกสกาวบนท้องฟ้า

Advertisement

A Star Is Born ถูกสร้างมาแล้ว 3 ครั้ง สำหรับเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ด ในปี 1937, 1954, 1976 ได้นักแสดงระดับดาวดังมาสวมบทในทุกเวอร์ชั่น และอีกหนึ่งเวอร์ชั่นในสไตล์หนังภารตะ “บอลลีวู้ด” เมื่อปี 2013

ล่าสุดกลับมาอีกครั้งในปี 2018 รับบทโดย “แบรด์ลีย์ คูเปอร์” และ “เลดี้ กาก้า” โดยคูเปอร์ยังรับหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ทำไมเนื้อหา “หนังที่ให้เล่าแล้วจบได้ในไม่กี่นาที” เรื่องนี้ จึงสามารถเอาชนะใจคนดูและนักวิจารณ์ได้?

Advertisement

คำตอบ คือ “เสียงเพลง” และ “ดนตรี” ประกอบภาพยนตร์ ที่ช่วย “อุดความหลวมของเนื้อเรื่อง” และยังทำหน้าที่ขับดันเรื่องได้ดีจนถึงฉากสุดท้าย

เพลงหลักอย่าง “Shallow” ที่เนื้อหาและความหมายไพเราะสุดดำดิ่ง ดังขึ้นมาในจังหวะถูกที่ถูกเวลา ในฉากที่ตัวละครทั้งสองคนร่วมกันขับขานเพลงนี้

เพลงนี้คือ “บทสนทนา” ส่วนตัวอันแสนดำดิ่งของพวกเขานั่นเอง ท่อนที่ร้องซ้ำวนไปวนมาว่า “เราอยู่ไกลจากน้ำตื้นแล้ว” คือการให้กำลังใจระหว่างกันของคนสองคนที่จะช่วยกันฉุดให้อีกฝ่ายได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

ขณะเดียวกัน “บทสนทนา” หรือเพลงนี้ ยังแฝงความน่าเห็นใจเจือปนด้วย ฟังแล้วรู้สึกได้ทันทีว่ากำลังจะมีความระทมรอดาวสองดวงนี้อยู่เบื้องหน้า

และแน่นอนว่าเนื้อเพลงที่ลึกซึ้งและวิธีการร้องที่กินใจนี้ ย่อมส่งอิทธิพลถึงคนดูอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเพลงและดนตรีประกอบอีกหลายบทเพลงใน A Star Is Born ได้ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องราวไปจนถึงบทสรุปสุดท้ายของดาวสองดวง

นั่นก็ทำให้มันดูสมบูรณ์แบบอย่างน่าอัศจรรย์ แม้จะระลึกได้ว่านี่เรากำลังชมภาพยนตร์น้ำเน่า ที่มีพล็อตเรียบๆ ค่อนไปทางเชยอยู่พอสมควร อีกทั้งบางอย่างยังขัดแย้งกับค่านิยมยุคสมัย อาทิ การพูดถึงประเด็นหน้าตาความสวยของคนจะเป็นศิลปิน ทั้งที่ตัวละครในเรื่องมีความโดดเด่นและความสามารถเต็มเปี่ยม ในยุคโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้ต้องเอาหน้าตาสวยนำมาก่อนความสามารถและบุคลิก

อย่างไรก็ตาม การกลับมา “เขย่าเล่าใหม่” ของ A Star Is Born เวอร์ชั่น 2018 ทำได้ดีกว่าเวอร์ชั่นที่แล้วๆ มา มีการปรับโครงเรื่องให้แตะปัญหาปัจจุบันที่สังคมให้ความสนใจคือ “ภาวะซึมเศร้า”

ยิ่งเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นปี 1976 ที่นำแสดงโดย “คริส คริสตอฟเฟอร์สัน” และ “บาร์บาร่า สไตร์แซนด์” ที่ A Star Is Born “เวอร์ชั่นยุค 70” มีความพ่อแง่แม่งอน กราดเกรี้ยว ราวกับดูละครแนว “พิศาล อัครเศรณี” ก็ไม่ปาน

แต่ปีนั้นหนังก็คว้า “เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” เวทีออสการ์ ในเพลง “Evergreen” ร้องโดย บาร์บาร่า สไตร์แซนด์ต้องดูกันว่าเวอร์ชั่น 2018 เพลง “Shallow” ที่ขับร้องและร่วมเขียนเพลงโดยเลดี้ กาก้า จะสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้อีกคราหรือไม่

กล่าวสำหรับการแสดงนั้น “แบรดลีย์ คูเปอร์” ถ่ายทอดบทบาทที่น่าเห็นใจระคนน่าอึดอัดของ “แจ็กสัน เมน” ศิลปินโฟล์กร็อกขี้เหล้า ผู้มีความทุกข์ทรมานใจแฝงเร้นได้ลงตัว ส่วน “เลดี้ กาก้า” ในบท “แอลลี่” สาวเสิร์ฟตะกายดาวมากความสามารถด้านดนตรี แม้จะยังไม่ได้ให้บทบาทการแสดงระดับทรงพลังร้องว้าว

แต่ในฉากร้องเพลงบนเวที ศิลปินมืออาชีพอย่างเลดี้ กาก้า ใช้ความสามารถด้านการร้องเพลง และน้ำเสียงที่เข้มข้น “เอาอยู่หมัด” ทั้งความงดงามของเพลงและดนตรีประกอบของเรื่อง ผนวกด้วยงานถ่ายภาพ และจังหวะตัดต่อที่ดี จึงทำให้ “แอลลี่” เป็น “บทแจ้งเกิด” หรือ A Star Is Born ของเลดี้ กาก้าได้แท้จริง

แม้หลายคนจะไม่ได้ตื่นเต้นกับการปรากฏตัวเป็นนางเอกจอเงินของเธอ และอาจจะเคยเห็นเลดี้ กาก้า ชิมลางงานแสดงมาแล้วจากซีรีส์สยองขวัญ “American Horror Story” ก็ตามในกระแสปากต่อปากของภาพยนตร์ “A Star Is Born” เชื่อมั่นได้อย่างหนึ่งหลังดูจบว่า ฮอลลีวู้ดรักหนังแนวนี้ ฮอลลีวู้ดยังคงเสมอต้นเสมอปลายต่อการรักหนังที่พูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี

แม้น่าเสียดายอยู่บ้างที่หนังเรื่องนี้พลาดโอกาสพูดชัดๆ แรงๆ ถึงการที่อุตสาหกรรมดนตรีทำร้ายตัวตนศิลปินมากแค่ไหนก็ตาม เพราะต้องอุทิศและถ่ายทอดเนื้อหาไปที่เรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของดาวสองดวง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า A Star Is Born เป็นหนังที่พาคนดูดำดิ่งไปกับเสียงเพลง และบทเพลงในเรื่องก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่างสมบูรณ์ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image