The Favourite ‘คนโปรด’ ที่แท้จริง อาจไม่ใช่คนที่ชนะในเกม

สงครามรบพุ่งระหว่าง “สหราชอาณาจักร” กับ “ฝรั่งเศส” ในยุคสมัย “สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์” แห่งราชวงศ์สจวร์ตว่าเข้มข้นแล้ว แต่ภาพยนตร์ “The Favourite” ทำให้ “สงครามในราชสำนัก” ดุเดือดเลือดพล่านและวิปลาสได้อีก

“The Favourite” หยิบเอาบางช่วงสำคัญของชีวประวัติ “ควีนแอนน์” และสถานการณ์จริงในห้วงนั้นมา “ขยาย” “ขยี้” และ “แยกกาก” ออกมาอย่างสนุกสุดสุด ด้วยมุมมองของผู้กำกับตลกร้ายแบบนิ่งๆ อย่าง “ยอร์กอส ลันธิมอส” ที่มีผลงานอย่าง Lobster, The Killing of a Sacred Deer, Dogtooth

เผินๆ แล้ว นี่คือเรื่องราวที่ดูไม่ต่างจากละครหลังข่าว หรือละครจักรๆ วงศ์ๆ ก็ไม่ปาน เพียงแต่วงเล็บไว้ว่า มีเรื่องจริงซุกซ่อนอยู่ และ “วัตถุดิบ” ของเรื่องจริงบางส่วนทางประวัติศาสตร์นี้ ถูกนำมาเสริมใส่ ตีความ เพิ่มจินตนาการผ่านภาพยนตร์ได้สนุก “เด็ดขาด” เอามากๆ

เรื่องราวใน “The Favourite” เลือกช่วงประวัติศาสตร์อังกฤษต้นศตวรรษที่ 18 ที่สหราชอาณาจักรกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศสในจุดที่คาดว่าจะได้รับชัยชนะ ซึ่งพรรครัฐบาลต้องการเดินหน้ารบต่อ นั่นหมายถึงงบประมาณที่จะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในทางทหารนั้นจะต้องเก็บภาษีประชาชนเพิ่มตามมา

Advertisement

โดยแนวคิดนี้ได้รับการผลักดันอย่างเต็มรูปแบบจาก “ซาราห์ เชอร์ชิลล์” ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ ซึ่งเป็นสหายสนิทระดับโน้มนำทางความคิดต่อควีนแอนน์ได้ ด้วยเพราะความสนิทสนมรักใคร่ในระดับลึกซึ้ง

ขณะที่ถือว่าในยุคสมัยควีนแอนน์ เป็นครั้งแรกที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในราชสำนักผ่านการแบ่งเป็นพรรครัฐบาล กับพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ยิ่งเห็นภาพการเมืองชัดขึ้นไปอีก “โรเบิร์ต ฮาร์ลีย์” เอิร์ลแห่งออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็น “ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน” ที่คัดค้านการสู้รบอย่างยืดเยื้อ และอยู่ขั้วตรงข้ามกับ “ซาราห์ เชอร์ชิลล์” พระสหายสนิทควีนแอนน์ ต้องคอยฉวยจังหวะหาช่องทางโน้มน้าวให้ควีนแอนน์เปลี่ยนพระหฤทัยให้ยุติสงคราม และเดินหน้าสู่การเจรจาสันติภาพ

กระทั่งการปรากฏตัวของ “อบิเกล” ญาติสายลูกพี่ลูกน้องกับ “ซาราห์” ทำให้เรื่องราวในราชสำนักเขยิบความร้อนแรงขึ้นไปอีก เมื่อ “อบิเกล” ที่กำลังตกอับต้องการถีบตัวเองขึ้นเป็น “คนโปรด” คนใหม่ของควีนแอนน์แทน “ซาราห์” จึงต้องทำทุกวิถีทาง ตั้งแต่ “แย่งซีน” “ป้ายสี” “แทงข้างหลัง” เพื่อให้ควีนแอนน์หลงใหลให้ได้

Advertisement

ขณะเดียวกัน อบิเกลยังต้องเผชิญกับดีลความร่วมมือกับผู้นำพรรคฝ่ายค้านเพื่อจะโค่นความเป็น “คนโปรด” ของซาราห์ด้วยเช่นกัน

เรียกว่าแม้จุดมุ่งหมายจะต่างผลประโยชน์กัน แต่ก็ประสานประโยชน์กันได้

โดยรวม “The Favourite” เหมือนจะเป็นเรื่องราวน้ำเน่าชิงรักหักสวาท แต่ความที่บทภาพยนตร์เขียนมาโดยให้น้ำหนักคู่ขนาน และเชื่อมโยงได้ดีระหว่างสงครามเย็นในวัง กับสงครามจริงระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสที่คุกรุ่น ทำให้เรื่องราวมีทั้งความ “บันเทิง” และน่าติดตามอย่างละสายตาไม่ได้

ความลักลั่นตลกร้ายของหนังที่ผู้กำกับ “ยอร์กอส ลันธิมอส” นำเสนอนั้นยังมีมากมาย ทั้งประชด เสียดสีผ่านบทสนทนาตัวละคร พฤติกรรมและการกระทำของตัวละคร ไปจนถึงบางช่วงผู้กำกับเลือกใช้มุมกล้องแบบเลนส์มุมกว้างมากจนได้ภาพแบบฟิชอาย โดยวางมุมกล้องราวกับให้คนดูกำลัง “ซุ่มมอง” แอบดูเรียลิตี้เจ้านายในราชสำนัก พร้อมด้วยซาวด์ดนตรีประกอบที่เน้นเครื่องสาย ดังวนซ้ำคีย์ไปมาราวกับตั้งใจให้คนดูกำลังสะกดรอยตามหลังตัวละคร

ขณะเดียวกัน “ยอร์กอส ลันธิมอส” ผู้กำกับ The Favourite บอกว่า เขาเลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเล่นกับพื้นที่ในเรื่องที่เป็นวังอันกว้างใหญ่ ท่ามกลางตัวละครผู้คนในวังที่เห็นปรากฏอยู่ในฉากไม่กี่คน เพื่อให้ภาพทั้งความเวิ้งว้างและความโดดเดี่ยวของควีนแอนน์อย่างเหลือประมาณ

นอกจากนี้ เขายังเลือกถ่ายทำบางช่วงด้วยแสงธรรมชาติ และแสงจากเพียงเทียนไขเท่านั้น เพื่อดำรงสภาพความเป็นธรรมชาติและธรรมดามนุษย์เช่นกัน

ความสนุกสนานของ “The Favourite” คือบทภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องสงครามแย่งกันเป็น “คนโปรด” ที่ราวกับเป็น “สงครามตัวแทน” ที่ถ้าใครชนะ ก็จะมีผลต่อเกมระดับประเทศ เมื่อสงครามการเมืองในวังปะทุร้อนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เป็นคลื่นใต้น้ำ กระเพื่อมมาเป็นสึนามิ

สงครามแย่งเป็น “คนโปรด” ของควีนแอนน์ จึงดุเดือดไม่แพ้สงครามที่รบจริงจัง ดูให้สนุกสนานก็เหมือนผู้หญิงสองคนริษยากันและกัน และหาทาง “เอาคืน” กันในจังหวะชิงไหวชิงพริบ

แต่ในภาพใหญ่ชัยชนะของ “ซาราห์” และ “อบิเกล” นั้น เป็น “เดิมพัน” ระดับเปลี่ยนแปลงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศไปคนละขั้วได้เลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ตัวหนังให้ภาพความไม่เป็นแก่นสารในราชสำนัก แม้ประเทศจะอยู่ในช่วงสงคราม โดยสะท้อนผ่านเกมสนุกสนานงานอดิเรกอย่างการดูเป็ดวิ่งแข่ง หรือล็อบสเตอร์วิ่งแข่งกัน ซึ่งเข้ารูปเข้ารอยกับหนังของ “ยอร์กอส ลันธิมอส” ที่เสนอเรื่องราวความวายป่วงอย่างแปลกประหลาดในสไตล์เขา

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ คาแร็กเตอร์ใจกลางเรื่องอย่าง “ควีนแอนน์” ที่รับบทโดย “โอลิเวีย โคลแมน” นักแสดงหญิงชาวอังกฤษ ที่ให้น้ำหนักการแสดงได้ตรึงเอามากๆ จนสามารถคว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงปี 2019 ไปครอง

“โอลิเวีย โคลแมน” รับบทราชินีแอนน์ผู้มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อ่อนไหว เจ้าอารมณ์ราวกับเด็ก แต่บางครั้งก็เศร้าซึมเหมือนคนชรา และถูกควบคุมบงการได้โดยง่าย ซึ่งในทางประวัติศาสตร์รัชสมัยของควีนแอนน์ ถูกมองว่าเป็นช่วงที่ระบบกษัตริย์คลายความเข้มแข็งลง และองคมนตรีมีบทบาทสูง เช่นเดียวกับการเริ่มมีพรรคการเมืองของขุนนางแบบสองขั้ว พรรครัฐบาล กับฝ่ายค้านเกิดขึ้น

ในฉากสุดท้ายของเรื่องราว คือ บทสรุปทุกอย่างของชัยชนะ และความพ่ายแพ้

และคำตอบที่ว่า “คนโปรด” ที่แท้จริง…อาจไม่ใช่คนที่ชนะในเกม

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวใน “The Favourite” มีทั้งส่วนที่อิงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และส่วนที่ต่อยอดเรื่องราวจากความซับซ้อนและคลุมเครือขึ้นมา

นี่จึงไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์ที่จะอ้างอิงใดๆ ได้ แต่ความบันเทิงผ่านภาพยนตร์นี้ ทำให้คนดูหลายคนต้องกลับไปค้นคว้าอ่านข้อเท็จจริง และเรื่องราวในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์อีกครั้ง

ถือเป็นความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เนื้อหาสนุกและสร้างความสนใจในทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image