แอนเผยยืม’วิธีเลี้ยงลูก’ของ’ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์’ มาใช้

แอน แฮทธาเวย์ (ภาพจากไอจี annehathaway)

ก่อนหน้านี้ แอน แฮทธาเวย์ นางเอกฮอลลีวู้ดคุณแม่ลูกหนึ่งเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เธอตั้งใจ “หยุดดื่มเหล้า” เพื่อลูกชายคนเดียวของเธอ โดยตั้งใจจะหยุดดื่มเหล้าไปจนกว่า โจนาธาน ลูกชายวัย 2 ขวบที่เกิดจาก อดัม ชูลแมน สามีจะบรรลุนิติภาวะ พ้นออกจากบ้าน จากอ้อมอกของเธอไปอยู่เองตามลำพัง โดยสาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจเช่นนั้น ก็เพราะเธอรู้สึกแย่กับตัวเองมากๆ หลังจากที่เคยนั่งรถไปส่งลูกที่โรงเรียนในสภาพยังไม่สร่างเมา

ล่าสุด นางเอกวัย 36 ได้พูดถึงการเลี้ยงลูกอีก โดยให้สัมภาษณ์นิตยสารเดอะ ซันเดย์ ไทม์ส สไตล์ว่า เธอได้ “หยิบยืม” วิธีเลี้ยงลูกของ ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชายาเจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษมาเลี้ยงลูก หลังจากเคยอ่านเจอวิธีเลี้ยงดูพระโอรส พระธิดาองค์น้อยของดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ หรือ เคท มิดเดิลตัน กับ เจ้าชายวิลเลียม แล้วรู้สึกประทับใจ

“เจ้าชายวิลเลียมและเคทมักจะนั่งย่อตัวลงระดับเดียวกับลูกๆ ของพวกเขา แล้วก็จะพูดกับลูกๆ โดยจ้องตาลูกๆ ด้วย การพูดกับเด็กโดยจ้องตา ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ ฉันคิดว่านี่เป็นวิธีที่เจ๋งมาก และฉันก็เริ่มนำมาใช้กับโจนาธาน”

ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ กับครอบครัว (ภาพจาก ไอจี kensingtonroyal)

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็ก เรียกวิธีสื่อสารแบบนี้ว่า active listening หรือการฟังเชิงรุกโดยว่า การที่ผู้ใหญ่ย่อตัวลงพูดกับเด็กในระดับเดียวกันกับเด็ก ทำให้เวลาพูดคุยสื่อสารแล้วสายตาของทั้งสองฝ่ายอยู่ในระดับเดียวกัน มีการมองตากันระหว่างพูดคุย จะทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขามีความสำคัญ และได้รับการให้เกียรติ โดยในเว็บข่าวของยาฮู กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าชายวิลเลียมและพระชายาทรงมีภาพที่ทรงย่อตัวลงเวลาพูดกับเจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงชาร์ลอตต์อยู่บ่อยๆ

Advertisement

ในเว็บยาฮูยังกล่าวว่า ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เคยใช้ “การฟังเชิงรุก” กับ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระธิดาวัย 3 ขวบเมื่อคราวที่เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเพื่อนเจ้าสาวในงานสมรสของ ปิปปา มิดเดิลตัน น้องสาวของพระองค์ด้วย

“การฟังเชิงรุกเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการสร้างความไว้วางใจและความรู้สึกที่ดีกับลูกๆ แล้วยังช่วยป้องกัน ช่วยลดทอนสถานการณ์ที่ตึงเครียด มันเป็นวิธีแสดงให้ลูกๆ ของคุณได้เห็น ว่าคุณกำลังตั้งใจฟังเขา พยายามจะเข้าใจเขา โดยการมองตาของเขา นั่งย่อตัวลงเท่ากับเขาและรับฟังในสิ่งที่เขากำลังบอกคุณทั้งที่เป็นคำพูด และที่ไม่เป็นคำพูด” วาเนสซา คริสตี ผู้เชี่ยวชาญด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยกล่าว

วาเนสซาบอกว่า เด็กๆ จะรับรู้ว่าพ่อแม่ได้ยินสิ่งที่พวกเขาพูดถ้าหากพ่อแม่พูดตอบกลับ และพ่อแม่ควรพูดตอบด้วยภาษาง่ายๆ ที่เด็กๆ สามารถเข้าใจ

“ตัวอย่างเช่น ถ้าหากลูกน้อยของคุณร้องตะโกนโวยวาย ไม่ยอมกลับบ้าน และเริ่มวิ่งหนี ไม่ยอมออกจากบ้านเพื่อนเพื่อกลับบ้าน คุณก็ใช้วิธีการฟังเชิงรุก โดยย่อตัวลง แล้วพูดโดยจ้องตาลูกว่า แม่เข้าใจดีว่าลูกรู้สึกเสียใจและโกรธที่เราต้องกลับบ้าน เรากำลังสนุกกันที่นี่ แล้วจู่ๆ ความสนุกทั้งหลายก็ต้องจบลง มันจึงเป็นเรื่องยากทำใจ แม่ก็รู้สึกเสียใจ แต่เราจำเป็นต้องกลับบ้านกันแล้ว แล้วอีกไม่นานเราก็จะกลับมาเล่นกันใหม่อีก”

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image