ประวัติ ฉลอง ภักดีวิจิตร ตำนานระเบิดภูเขา เผากระท่วม เจ้าพ่อหนังแอ๊กชั่นเมืองไทย
ประวัติ ฉลอง ภักดีวิจิตร – สูญเสียอีกหนึ่งบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการหนังไทย กับการจากไปของ ฉลอง ภักดีวิจิตร หรือ นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร ในวัย 93 ปี หลังมีข่าวเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการอ่อนแรง เมื่อต้นปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา และเข้ารับการรักษาตัวมาโดยตลอด
ฉลอง ภักดีวิจิตร เกิดวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2474 เป็นผู้กำกับภาพยนตร์และผู้กำกับละครโทรทัศน์ชาวไทย ที่วงการภาพยนตร์ขนานนามว่าเป็น “เจ้าพ่อหนังแอ๊กชั่น” กับตำนานระเบิดภูเขา เผากระท่อม ที่คนไทยคุ้นเคยกับสไตล์ของเขาเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ฉลอง ภักดีวิจิตรได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับภาพยนตร์) ประจำปี พ.ศ.2556 และในปีเดียวกัน ยังได้รับการบันทึกสถิติโลก จาก GUINNESS WORLD RECORDS ว่าเป็นผู้กำกับชายคนแรกและคนเดียวที่อายุมากที่สุดในโลก
ฉลอง เป็นบุตรคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน ของรองอำมาตย์โทพุฒ ภักดีวิจิตร ข้าราชการกองแบบแผน กรมรถไฟหลวง กับมารดาชื่อลิ้นจี่ เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และสำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์
ฉลอง สมรสกับ ‘สุมน ภักดีวิจิตร’ เมื่อปี พ.ศ.2509 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ เฉิด ภักดีวิจิตร, กัญจน์ ภักดีวิจิตร และบุญจิรา ภักดีวิจิตร ต่อมาในปี พ.ศ.2557 นางสุมนได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งตับ และปลายปีหลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตนั้น ฉลองได้แต่งงานใหม่กับ ‘พิมพ์สุภัค อินทรี’ วัย 38 ปี โดยเข้าพิธีแต่งงานที่ จ.ศรีสะเกษ
ขณะที่ แก้ว บุญจิรา ภักดีวิจิตร ลูกสาว ได้เผยถึงคำสอนของคุณพ่อฉลอง ในฐานะผู้กำกับไว้ว่า พ่อสอนเสมอว่า “ผลงานที่ออกสู่สายตาประชาชนต้องออกมาจากหัวใจ ทำทุกอย่างให้สมจริง คุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลงานแค่อย่างเดียว แต่ต้องซื่อสัตย์กับคนดู และต้องอดทน ฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่างให้ได้”
เจ้าพ่อหนังแอ๊กชั่น ยังเคยเผยเคล็ดลับในการดูแลตัวเองให้สุขภาพดี อายุยืนยาวด้วยว่า ตื่นมาทานน้ำอุ่น 4 แก้ว ทานไข่ และกระเทียม ในทุกเช้า และดูแลเรื่องรับประทานอาหาร จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องโรคเบาหวาน ดูแลเรื่องเวลาในการทำงานไม่ให้มากจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้เหนื่อยและอ่อนเพลีย
เส้นทางสู่การเป็นผู้กำกับของ ฉลอง เริ่มด้วยการเป็นตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 16 ม.ม. จนถึง 35 ม.ม. ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์หลายราย อาทิ วัชรภาพยนตร์, ภาพยนตร์สหะนาวีไทย, ธาดาภาพยนตร์, นพรัตน์ภาพยนตร, นันทนาครภาพยนตร์, บูรพาศิลปะภาพยนตร์, รามาภาพยนตร์, ลดาพรรณภาพยนตร์ และ พิษณุภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่องแรกจากการกำกับโดยฝีมือของ ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ คือภาพยนตร์ 16 ม.ม. เรื่อง ‘จ้าวอินทรี’ นำแสดงโดย ‘มิตร ชัยบัญชา’ และ ‘พิสมัย วิไลศักดิ์’ สร้างโดย ‘รามาภาพยนตร์’ โดยใช้นามว่า ‘ดรรชนี’ ในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งอาหลองได้ดำเนินการสร้าง การถ่ายภาพ รวมถึงการกำกับด้วยตนเอง ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2511 จากนั้นมาฉลองก็ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาอีกมากมาย ทั้งยังโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ
สำหรับผลงานการกำกับภาพยนตร์ ฉลอง ภักดีวิจิตร ยังสร้างผลงานไว้มากกว่า 70 เรื่อง เช่น
ภาพยนตร์ไทย
1.จ้าวอินทรี (2511)
2.ลูกปลา (2512)
3.สอยดาวสาวเดือน (2512)
4.ฝนใต้ (2513)
5.ฝนเหนือ (2513)
6.ระเริงชล (2515)
7.2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (2515)
8.ทอง (2516)
9.ตัดเหลี่ยมเพชร (2518)
10.ไอ้เพชร (2519)
11.ตามฆ่า 20000 ไมล์ (2520)
12.ถล่มมาเฟีย (2520)
13.ขยี้มือปืน (2520)
14.ใต้ฟ้าสีคราม (2521)
15.รักข้ามโลก (2521)
16.ไอ้หนุ่มตังเก (2522)
17.คนละเกมส์ (2522)
18.ผ่าปืน (2523)
19.ทอง 2 (2525)
20.ล่าข้ามโลก (2526)
21.สงครามเพลง (2526)
22.ผ่าโลกบันเทิง (2527)
23.ซากุระ (2527)
24.นักเพลงผู้ยิ่งใหญ่ (2527)
25.ปล้นลอยฟ้า (2528)
26.เปิดโลกมหาสนุก (2528)
27.ยิ้ม (2529)
28.ร้อยป่า (2529)
29.เพชรเสี้ยนทอง (2530)
30.ทอง 3 (2531)
31.ทอง 4 (2533)
32.ผ่าปืน 91 (2534)
33.มังกรเจ้าพระยา (2537)
34.สุดขีดมังกรเจ้าพระยา 2 (2539)
35.ทอง 7 (2547)
ละครไทย
36.ระย้า (2541)
37.ดาวคนละดวง (2542)
38.รักซึมลึก (2542)
39.ฝนแรก (2542)
40.อังกอร์ (2543)
41.สามดรุณ (2543)
42.ทอง 5 (2544)
43.ล่าสุดขอบฟ้า (2545)
44.ฝนใต้ (2546)
45.มาทาดอร์ (2547)
46.อังกอร์ 2 (2548)
47.เหล็กไหล (2549)
48.ฝนเหนือ (2550)
49.ชุมแพ (2550)
50.ทอง ๙ (2551)
51.ผ่าโลกบันเทิง (2551)
52.เสาร์ ๕ (2552)
53.นักฆ่าขนตางอน (2553)
54.อุบัติรักเกาะสวรรค์ (2554)
55.เสาร์ 5 ตอน ทับทิมสยาม (2554)
56.พ่อตาปืนโต (2555)
57.ดุจตะวันดั่งภูผา (2555)
58.เลือดเจ้าพระยา (2556)
59.แข่งรักนักซิ่ง (2557)
60.หวานใจนายจิตระเบิด (2558)
61.ทอง 10 (2559)
62.ทิวลิปทอง (2560)
63.พ่อตาปืนโต ตอน หลานข้าใครอย่าแตะ (2561)
64.มังกรเจ้าพระยา (2563)
65.สมบัติมหาเฮง (2563)
66.ปล้นลอยฟ้า (2564)
67.หุบพญาเสือ (2565)
68.กล้า ผาเหล็ก (2566)
69.แคนสองแผ่นดิน (2566)
70.มรกตสีรุ้ง (2567)
71.ตามล่า 20,000 ไมล์ (2567)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ออม-แม่ก้อย ร่วมไว้อาลัย ‘อาหลอง’ ส่งกำลังใจให้เข้มแข็งทัังครอบครัว
- พีท ทองเจือ เผยโชคดีได้รับโอกาสเล่นละคร ‘อาหลอง’ จนแจ้งเกิด เป็นแรงบันดาลใจ
- สวดพระอภิธรรม ฉลอง ภักดีวิจิตร คืนที่ 2 คนบันเทิงร่วมไว้อาลัยแน่นวัด
- ‘เอก รังสิโรจน์’ เผยทั้งน้ำตาเป็นลูกศิษย์ ‘อาหลอง’ กว่า 20 ปี ลั่นบุญคุณชาตินี้จะไม่มีวันลืม