คิมจียอง เกิดปี 82 … เพราะเป็นหญิงจึงเจ็บปวด

ตอนที่เดินทางไปเกาหลีใต้ครั้งล่าสุด ได้มีโอกาสพูดคุยกับหญิงสาวคนหนึ่ง และบทสนทนากับเธอทำให้เรารู้สึกอึ้งไม่น้อย กับสถานะของผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้

หญิงสาววัยสามสิบกว่า หน้าตาสะสวย บุคลิกภาพดี การศึกษาดี พูดได้สามภาษา ทำงานในบริษัทใหญ่ รายได้ดี อาศัยอยู่ในกรุงโซลบอกกับเราว่า สิ่งที่ทำให้เธอลำบากใจมากที่สุด คือการกลับบ้านที่ต่างจังหวัดแล้วถูกถามว่าทำไมถึงยังไม่แต่งงาน เธอถูกมองว่าไร้ค่า โดยที่ไม่มีใครมองเลยว่าเธอพยายามแค่ไหนที่ก้าวมาถึงจุดนี้ สร้างโพรไฟล์ให้ตัวเองได้ขนาดนี้ เพียงเพราะเธอตัดสินใจที่จะยังไม่มีชีวิตคู่ และสาเหตุหลักของการตัดสินใจนั้น เป็นเพราะสภาวะของสังคมที่นั่น ไม่เอื้อเลยกับการที่เธอจะมีชีวิตเป็นของตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเธอแต่งงานและมีลูก

ตอนที่อ่าน “คิมจียอง เกิดปี 82” โดย โชนัม จู (Cho Nam – Joo) เรานึกถึงบทสนทนาในวันนั้น
หลายคนคงรู้จักชื่อนี้จากหนังที่กำลังฮอตมากในบ้านเรา ส่วนหนึ่งคงเพราะนักแสดงนำคือโอปป้ากงยู แต่อยากชวนให้หาหนังสือเล่มนี้ที่แปลและพิมพ์โดยสนพ.earnest มาอ่าน เพราะความรู้สึกต่างกันมากจริงๆ ซึ่งคิดว่าเกิดจากการให้น้ำหนักตัวละครที่แตกต่างกัน ซึ่งหนังสือทำให้เรารู้สึกถึงความขมขื่นของผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตในสังคมปิตาธิปไตยได้แบบหนักหน่วงมากกว่าหนังค่อนข้างเยอะ

Advertisement

เป็นความขมขื่นที่เกิดขึ้นจากการ “ไร้ทางเลือก” แม้ในชีวิตของตัวเอง … ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว คงไม่ใช่แค่สังคมเกาหลีใต้หรอก โครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตย เป็นโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในหลายสังคมของเอเชียมาอย่างยาวนาน แม้แต่ในสังคมไทยเอง ก็ยังเห็นเป็นเงาอยู่ในหลายส่วน

คิมจียอง เป็นเรื่องราวของหญิงสาววัยสามสิบกว่าคนหนึ่ง เธอเพิ่งคลอดลูกสาว เธอต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก เพราะสามีเงินเดือนเยอะกว่าและมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า จากเวิร์คกิ้งวูเมนที่กำลังทำงานที่ตัวเองรัก เธอกลายเป็นแม่บ้านเต็มตัว งานบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามี ครอบครัวสามี ครอบครัวตัวเอง … นี่คือโลกทั้งใบของคิมจียอง

ฟังดูคุ้นๆ ไหม ไม่แปลกหรอกที่จะคุ้น ลองหันดูรอบข้างตัวเองดูสิ คุณจะเห็นคิมจียองเต็มไปหมด คิมจียองที่ถูกสภาพสังคมที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่บังคับให้ต้องเลือก คือเลือกแบบไร้ทางเลือกนั่นล่ะ

Advertisement

รากฐานแนวคิดของสังคมในเอเชียบางส่วนมาจากแนวคิดขงจื๊อที่ยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่ เกาหลีใต้ก็เช่นกัน ตั้งแต่ยุคโซชอนโบราณหน้าที่ของผู้หญิงคือต้องดูแล ปรนนิบัติสามีและครอบครัว ต้องมีลูกชายสืบทอดสกุล หากมีลูกสาวถือเป็นความผิดของผู้หญิง แม้เวลาล่วงผ่านมาหลายร้อยปี แต่รากฐานแนวคิดที่ผู้หญิงต้องถูกกดทับแบบนี้ก็ยังคงอยู่

สิ่งที่ตัวละครหญิงทั้งหลายใน คิมจียอง เกิดปี 82 ต้องพบเจอ ทั้งการถูกลวนลาม การที่ชุดนอนเลอะประจำเดือน การเจอคนโรคจิต การถูกกดขี่ในที่ทำงาน การต้องทำแท้งลูกสาว เพราะต้องมีลูกชายเท่านั้น การต้องทำงานบ้านกันสองคนพี่น้อง เพราะน้องเล็กสุดคือผู้ชาย การไม่ได้รับการยอมรับในที่ทำงาน ทั้งที่มีความสามารถและมีผลงานที่เด่นชัด การถูกเรียกว่าปลิงเกาะสามีหลังจากลาออกมาเลี้ยงลูก– ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะความเป็นผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่

ที่น่าสนใจมากๆ คือ “คิมจียอง เกิดปี 82” ไม่ได้เล่าในรูปแบบของเรื่องแต่งเท่านั้น แต่ใช้สิถิติอ้างอิง และงานวิชาการต่างๆ มารองรับความเป็นคิมจียองในสังคมเกาหลีใต้ ทำให้เห็นว่านี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มโน มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และยืนยันได้ถึงความปกติที่ไม่ควรปกติในสังคม

ไม่น่าแปลกใจเลย ที่นิยายเรื่องนี้จะขายได้มากกว่า 2 ล้านเล่มในเกาหลีใต้ และกลายเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแส #metoo ก็ทั้งตรงใจ ทั้งแทนคำที่ผู้หญิงอยากพูดขนาดนี้ และยังกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ผู้หญิงเกาหลีมากมาย ยกขึ้นมาใช้เพื่อตอบโต้สังคมปิตาธิปไตยชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ แต่คงเพราะอย่างนี้ เลยมีกระแสโต้กลับอย่างรุนแรงจากอีกฝั่งคิด

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเคสของไอรีน แห่งวง Red Velvet ที่ออกมาเปิดเผยกับสื่อว่ากำลังอ่านนิยายเรื่องนี้อยู่ ไอรีนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชายอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย และโลกออฟไลน์ก็เห็นชัดๆ จากการเผารูปของเธอ กรีดภาพเธอ แล้วโพสต์ให้เห็นบนออนไลน์ด้วย

นิยายเจ็บปวดกว่าหนังเยอะมาก ในขณะที่หนังนำเราไปสู่การเอาใจช่วยให้ประนีประนอมกันได้ แต่หนังสือกลับทำให้เรารู้สึกว่าอย่าหาความประนีประนอมแถวนั้น มันไม่เวิร์คกับชีวิตใครเลย ความพยายามรักษาคิมจียองให้เป็นภรรยาและแม่ที่สมบูรณ์แบบในมุมมองของสังคม การจบแบบปลายเปิด และคำพูดช่วงสุดท้ายของจิตแพทย์ที่รักษาคิมจียองกลายเป็นแรงผลักที่ทำให้นิยายเรื่องนี้เปี่ยมพลัง

คิมจียองไม่ได้มีแค่ในเกาหลีใต้หรอก แถวๆ นี้ก็มีไม่น้อย

“ขอให้เหล่าลูกสาวทุกคนบนโลกมีความฝันที่ใหญ่ยิ่งกว่า สูงยิ่งกว่า และมหาศาลยิ่งกว่านะคะ” โชนัม จู กล่าวไว้ในคำนำ


…………
สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image