พิษประวัติศาสตร์ ‘ผีบอก’ ทัวร์ลง ‘ช่องส่องผี’

พิษประวัติศาสตร์ ‘ผีบอก’ ทัวร์ลง ‘ช่องส่องผี’

แม้ผ่านมรสุมเงินบริจาคมาอย่างโปร่งใส ชี้แจงได้ทุกบาททุกสตางค์ ซ้ำยังโชว์สเตทเมนต์ฉับไวไม่ทิ้งประชาชนไทยรอนาน สำหรับรายการ “ช่องส่องผี” ส่วนกรณีให้เช่าวัตถุมงคล อาทิ เหรียญกอร์กอน ก็ยังพอฟังได้ว่าความเชื่อใครความเชื่อมัน

ทว่า ประเด็นสำคัญที่คุกรุ่นมานานกระทั่ง “ฝีแตก” จนต้องแยกทางกับช่อง 8 นั่นคือประวัติศาสตร์จากปาก สุระประภา คำขจร หรือ อาจารย์เรนนี่ ที่อ้างว่ารู้เห็นอดีตชาติ สื่อสารกับวิญญาณด้วยภาษาผีระดับสากลแต่เรื่องราวมากมายกลับไม่สอดคล้องหลักฐานจนถูกชาวโซเชียลสายประวัติศาสตร์จวกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งพม่ายิงปืนใหญ่ใส่วัดกุฎีดาวจนเจดีย์หัก, สุนทรภู่, ตายที่เมืองแกลง, พระเจ้าตากทรงช้างไม่เป็น, ขุนแผนพาขุนวรวงศาไปพบท้าวศรีสุดาจันทร์และอีกมากมาย

ที่บานปลายส่อเค้าเป็นเรื่องใหญ่คือกรณีพ่อเมืองโคราชจ่อเอาผิดปมหมิ่น “ย่าบุญเหลือ” ซึ่งชาวโคราชเชื่อว่าคือลูกบุญธรรม “ย่าโม” หลังอาจารย์เรนนี่ บอกว่าเป็น “เมียสอง” ของปลัดทองคำ สามีย่าโม จนเกิดกระแสการต่อต้านอย่างรุนแรงถึงขั้น บ๊วย-เชษฐวุฒิ หนึ่งในพิธีกรและผู้ผลิตรายการออกมาขอโทษ และประกาศยุติการออกอากาศผ่านช่อง 8 ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยเผยแพร่ผ่าน “ยูทูบ” แทน

ด้าน กสทช.แอ๊กชั่นเรียกทางรายการให้เข้าชี้แจงต่ออนุกรรมการ วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 37 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หรือไม่ จากการนำเสนอเนื้อหาเกินจริงและกระทบประวัติศาสตร์ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกคนท้องถิ่น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่าสนใจที่สุดของแรงสั่นสะเทือนนี้คงไม่ใช่คำถามที่ว่าประวัติศาสตร์จากปากผีที่กระซิบบอกอาจารย์เรนนี่นั้นจริงหรือเท็จ บิดเบือนหรือไม่ อย่างไร? หากแต่มีแง่มุมที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นคำชี้แจงของพิธีกรและผู้ผลิต

ที่ว่า จุดประสงค์ของการทำรายการ “ช่องส่องผี” ไม่ใช่เพื่อให้คนงมงาย แต่มีเจตนารมณ์อันดีต้องการให้เห็นบาปบุญคุณโทษ ให้คนเข้าวัด ทำบุญสุนทานกันมากขึ้น สำหรับเทปในตอนที่เกี่ยวข้องกับย่าโม ก็เป็นไปเพื่อทำให้ทุกคนมั่นใจว่าย่าโมมีจริง

คำกล่าวนี้ สะท้อน “วิธีคิด” บางอย่างที่ชวนตั้งคำถามว่าในยุคข้อมูลข่าวสาร ยังมีผู้ต้องการป้อนกุศโลบายให้เป็น “คนดี” โดย ไม่สนวิธีการและข้อเท็จจริงอีกหรือ?

Advertisement

พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า ช่องส่องผีไม่ได้แตะเฉพาะ “ความเชื่อ” เท่านั้น แต่ยังเข้าไปเล่นกับ “อำนาจรัฐ” และ “ความทรงจำ” ของคนที่ฝังอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติ โดยเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ และคงต้องไปขอขมาอีกหลายที่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่แฟนรายการจำนวนหนึ่งหยิบยกประโยคอมตะที่ว่า “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” รวมถึงปักหมวดหมู่ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา”

นับเป็นวาทะที่ยกระดับให้ดูดี ทว่า ประวัติศาสตร์จากช่องส่องผี จะเข้าข่าย 2 วาทะนี้ได้อย่างไร เมื่อผิดพลาดในข้อมูลพื้นฐาน ไม่ใช่การ “ตีความ” ที่แตกต่าง หรือการบันทึกในมุมมองของตัวเอง

ดังเช่นความเห็นของ วรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกล่าวในรายการโหนกระแสในประเด็นนี้ว่า “คำว่าประวัติศาสตร์นอกตำราก็ “ศรีธนญชัย”  ไปหน่อย ประวัติศาสตร์ต้องมีหลักฐานรองรับ เช่น บันทึก จารึก พงศาวดาร”

ส่วนประเด็นการตีความคนละอย่าง วราเทียบง่ายๆ ว่า “ไทยเขียนอย่าง พม่าเขียนอย่าง ลาวเขียนอย่าง แต่ทุกอย่างต้องสืบค้นได้ ไม่ใช่คิดเอาเอง”

สำหรับฟากฝั่ง กรมศิลปากร หน่วยงานรัฐที่สังคมส่วนหนึ่งคาดหวังในท่าทีกรณีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ จารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ระบุว่าในการบันทึกเทปรายการนอกจากต้องขออนุญาตใช้สถานที่ มิใช่บุกรุกเข้าถ่ายทำยามวิกาลแล้ว ตามระเบียบว่าด้วยการถ่ายทำภาพยนตร์ในเขตโบราณสถาน พ.ศ.2547 ยังต้องส่ง “บท” ให้กรมศิลป์พิจารณาก่อนด้วย

โดยระบุว่าหากข้อมูลผิดเพี้ยน จะทำให้นักศึกษา เยาวชนเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่รายการไม่ได้ส่งอย่างไรก็ตาม ประเด็นความห่วงใยในความไม่ถูกต้องของข้อมูลนี้ วิราวรรณ นฤปีติ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการส่องพระมากกว่าส่องผี เจ้าของผลงาน “การเมืองเรื่องพระพุทธรูป” บอกว่า เท่าที่พิจารณาจากกระแสสังคม ถือว่าไม่น่าห่วง เพราะเมื่อมีการตั้งคำถามมากมายในโลกออนไลน์จนถึงการไปค้นคว้าหาหลักฐานมาโต้แย้งอาจารย์เรนนี่ ย่อมบ่งชี้ว่าสังคมไทยมีวิจารณญาณ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

สำหรับรายการแนวผีเพื่อความบันเทิงมีมานานแล้ว แต่ที่ช่องส่องผีกลายเป็นประเด็นเพราะไปพูดถึงบุคคล เหตุการณ์ และโบราณสถานที่มีประวัติ มีหลักฐาน หรือจดจารในพงศาวดารค่อนข้างชัดเจน หากพูดถึงเรื่องราวที่ไม่มีในบันทึก หรือยังเป็นประเด็นถกเถียงที่หาบทสรุปไม่ได้ อาจ

ไม่เกิดกระแสงัดหลักฐานโต้กลับขนาดนี้เพราะไม่มีหลักฐานอยู่แล้วในขณะที่มุมมองอีกด้านจาก สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ กูรูประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม มีความกังวลต่อประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน โดยมองว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่มีวิจารณญาณ” นอกจากนี้ ครั้งเป็นเด็กวัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ตนก็เคยส่องผีมาก่อน โดยเดินผ่านป่าช้า แต่ไม่เห็นเคยเจอสักที จนตอนนี้อายุ 91 ปีแล้ว ก็ยังไม่เคยพบเห็น

อย่างไรก็ตาม ก็เคยเขียนเล่าเรื่องผี แต่เป็นผีที่ปรากฏในพงศาวดาร ส่วนเรื่องผีที่เล่ากันมากในอดีตของสังคมไทย หลักๆ มี 2 เรื่อง คือ แม่นาคพระโขนง และปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ส.พลายน้อย ยังทิ้งท้ายว่า ผู้ผลิตรายการผี ถ้าจะเล่าประวัติศาสตร์ด้วย ควรอ่านหนังสือและศึกษาให้มาก

อีกแง่มุมน่าสนใจ ถูกเปิดประเด็นโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังที่หนนี้ไม่ได้มาแก้ต่างให้สุนทรภู่ แต่วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่าสังคมไทย “ถูกทำให้งมงาย” และ “ฟูมฟาย” ไปกับเรื่องราวย้อนยุค “เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี” พูดง่ายๆ ว่า ก่อน “อยุธยายศล่มแล้ว” ผนวกกับความรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคต พอถูกกระตุ้นด้วยการตลาดโดยการสร้างแบรนด์จากบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยมีสื่อกลางที่ติดต่อกับ “วิญญาณ” แห่งอดีตกาลก็ยิ่งจูงใจคนให้ติดตาม

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ประวัติศาสตร์ผีบอกของอาจารย์เรนนี่ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ใน “ตำราทางการ” สุจิตต์ ถามว่า ประวัติศาสตร์ทางการ ไม่บิดเบือนจริงหรือ?

ประเด็นนี้ ไม่ใช่แค่สุจิตต์ที่ตั้งคำถาม แต่ยังมีนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่อีกหลายรายที่แม้ไม่ได้เห็นดีเห็นงามหรือให้ค่ากับประวัติศาสตร์ผีกระซิบ แต่เมื่อมีการหยิบยกประวัติศาสตร์ทางการที่สถาปนาโดยภาครัฐมาเป็นมาตรการ ก็ย่อมถูกแตกประเด็นกลายเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับกรมศิลปากรยุค คสช. ซึ่งไฮไลต์เด็ดอยู่ที่หน้า 195 ว่าบิดเบือน “ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย”

วิวาทะช่องส่องผี จึงสะท้อนหลากมิติสังคมไทยมากกว่าประเด็นบิดเบือนประวัติศาสตร์ หากแต่นำไปสู่อีกหลายคำถามที่น่าสนใจยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image