ส่อง ‘ทูตยุติรุนแรง’ กับ #รบกวนด้วยค่ะ

ภาพจาก IG : tataamitayoung

ส่อง ‘ทูตยุติรุนแรง’ กับ #รบกวนด้วยค่ะ

“รบกวนด้วยค่ะ”

คำสั้นๆ ที่โด่งดังตลอดกรกฎาคม 2562

ถูกขุดมาย้ำซ้ำ เมื่อเช้าที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ใน “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล”

เมื่อนักร้องสาว “ทาทา ยัง” ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในทูตของแคมเปญ “ORANGE THE WORLD” จากความร่วมมือของ SCENARIO และ UN WOMEN ที่ดึงคนในวงการบันเทิงอย่าง ลูกเกด เมทินี, เจสซี่, รัศมีแข, คริสติน่า ออกมาโพสต์ภาพ-กล่าวถึงประเด็นปัญหา หวังปักหมุดหมายฉายแสงสีส้ม “ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบ”

Advertisement

เหมาะสมหรือไม่ ไม่เขินเหรอ ควรถอนตัวออกจากแคมเปญ

คือเสียงที่สังคมกำลังตั้งข้อวิพากษ์ถึงพรีเซ็นเตอร์ อย่าง “ทาทา” เมื่อชาวเน็ตขุดกรณีที่นักธุรกิจรายหนึ่งโพสต์ข้อความพาดพิง “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ แกนนำคณะก้าวหน้า ว่า #ดักตบอีช่อช่อง Arrival โดยมีอินสตาแกรม “tataamitayoung” ของสาวทาทาเข้าไปแสดงความเห็นว่า “รบกวนด้วยค่ะ!”
และแม้เจ้าตัวจะออกมาขอโทษที่ไม่ไตร่ตรองให้ดีกว่านี้ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนการใช้ความรุนแรง แต่คอมเมนต์ “รบกวนด้วยค่ะ” ก็ยังเด้งขึ้นมาอยู่เนืองๆ

สาว “ทาทา ยัง” หลังสวมบททูตยุติความรุนแรง ในวันเปิดตัว ให้สัมภาษณ์มองกระแสดราม่าที่พัดมาอีกหนว่า เป็นเพียงเรื่องเก่าที่กลับมาวนใหม่ ก่อนยืนยันคำเดิมว่าตนเคยขอโทษไปแล้ว และยังอยู่ใน IG เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีเรื่องถูกขุดคุ้ยขึ้นมา

Advertisement

“ทาได้พูดไปบนเวทีด้วยเหมือนกัน เราเคยเป็นคนที่กระทำกับเขา ก็มีคนกระทำกับเราเช่นเดียวกัน… ในที่สุดถ้าเราออกมายอมรับความผิดของเรา ซึ่งทาก็ได้ออกมายอมรับความผิดของทาแล้ว ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องนำกลับมาใหม่

ถ้าตัวทาคิดมากๆ กลายเป็นว่าจะมาช่วยงานนี้ไม่ได้ ทาจะต้องเป็นคนที่ออกมาพูดว่า “ช่วยฉันด้วย” กลายเป็นฝั่งตรงข้ามกันไปแทน”

คือถ้อยแถลงของทาทา ก่อนยกนิ้วชี้ขึ้นกล่าวหนักแน่น ทวนประสบการณ์ 24 ปีในวงการว่า ต้องเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอด ตนก็เจอคนเกลียดเหมือนกัน

“มีไหมที่ทาไปพูดแบบว่า ‘โหย ตอนนั้นก็พูดกับทาไม่ดีเหมือนกัน’ เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องการเอาคืน มันเป็นเรื่องของ ‘การให้อภัย’ และเรื่องของการเดินหน้าต่อไป

โตกันแล้ว เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ฉะนั้น อะไรที่ให้อภัยกันได้ เหมือนเมตตาต่อมนุษย์ด้วยกันและกัน ทุกคนทำผิดมาหมด จะมากจะน้อยแค่นั้นเอง”

ทาทายอมรับว่า ตนคอนโทรลได้แค่บางอย่าง ไม่ได้อยากให้เรื่องถูกขุดขึ้นมาคุ้ย

เมื่อไม่ได้เป็นคนเริ่ม “ก็ได้แต่ทำใจ และก็หวังว่าทุกคนก็คงจะมีวิจารณญาณมากพอ โตมากพอที่จะตัดสินตรงนี้”

คือคำชี้แจงของนักร้องสาว

แต่ด้วยชาวเน็ตยังพร้อมใจติดแฮชแท็ก #รบกวนด้วยค่ะ ฝากผู้สื่อข่าวถามว่า “ทูตยุติความรุนแรง” เคยส่งเสริมให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อนักการเมืองหญิง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เหมาะควรหรือไม่ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาคำตอบ

สอบถามไปยัง “ทิชา ณ นคร” นักสิทธิเด็กเยาวชนและสตรี มองเรื่องนี้ว่า ความจริงต้องเริ่มที่ UN Women ก่อน การพิจารณาให้ใครเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในภารกิจหลักขององค์กรจะต้องมองให้รอบด้าน ครบทุกมิติ

“การให้อภัยเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นของการให้อภัย หรือการซ้ำเติม แต่ UN Women น่าจะมีตัวเลือกที่ดีกว่านี้”

ทิชาเผยว่า ตนเข้าใจในสิ่งที่ “ทาทา” พูด การไม่ผูกพยาบาท ไม่ซ้ำเติมความผิดพลาดของใคร เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว

“หลักคิดของคุณทาทา ‘เฉพาะโมเมนต์นี้จุดนี้’ ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สังคมควรจะวิจารณ์คือ วิจารณ์การตัดสินใจของ UN Women มากกว่า”

ทิชาตอบในฐานะผู้ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิสตรีว่า ความจริงการยุติความรุนแรงทางเพศยังเป็นงานที่หนักของนักรณรงค์ ของคนที่ทำงานกับผู้ถูกกระทำ ในประเด็นความเสมอภาค ความรุนแรงในครอบครัว ในผู้หญิง ไทยยังไม่พร้อม ด้วย “มายด์เซต” (Mindset) ที่ว่า “ชายเป็นใหญ่”

“เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบอย่างสูงสุด เรื่องความรุนแรง ผู้หญิงต้องอดทนให้ได้ ซึ่งมายด์เซตเหล่านี้กำลังบอกเราว่าเป้าหมายนั้นยังอยู่อีกไกลลิบ แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องหยุดการเคลื่อนไหว ยังต้องเคลื่อนไหวส่งเสียงกันต่อไปอย่างหนัก อย่าหยุด!

แต่อาจจะต้อง ‘ปรับวิธี’ ให้เหมาะสมกับต้นทุนที่กะพร่องกะแพร่ง และด้วยมายด์เซตของเราที่ยังไม่แข็งแรง” ทิชาชี้

เหลือบไปเจอบางความเห็นที่ว่า “ยังไม่จำกับแคมเปญที่แล้วเหรอ” (พูดหยุดโกง)

“ทิชา” แนะนำว่า วิธีไหนที่ทำไปแล้วไม่ได้ผล ก็อย่าไปทำ ต้องหาวิธีใหม่ๆ

เหมือนกับการแต่งตั้งคนมาเพื่อเป็นเสียงเชิงสัญลักษณ์ ก็จะต้องชัดเจนว่า ไม่มีร่องรอย ริ้วรอย เพื่อภาพลักษณ์ขององค์กรตนเองด้วย

“เราจะเลือกใครสักคนเป็นสัญลักษณ์ของภารกิจที่เราถืออยู่ และเรารู้ด้วยว่าประเทศไทย ประเด็นความรุนแรงยังเป็นงานที่หนักอยู่ ฉะนั้น เราน่าจะมีตัวเลือกที่ดี ดูกันให้ดี คิดกันให้ดีก่อนตัดสินใจ”

“หมดตัวเลือกแล้วหรือ?” คือคำถามที่ทิชาฝากไว้

ก่อนเน้นว่า แนวทางที่ควรเพื่อรณรงค์การยุติความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย คือต้องทำหลายวิธีคู่ขนานกันไป เช่น UN Woman อาจจะถนัดสร้างบุคคลเชิงสัญลักษณ์ เพราะเป็นงานที่ถนัด ก็ทำไป

แต่ควรทำการบ้านในเรื่องการจะค้นหาบุคคลเชิงสัญลักษณ์ให้มากกว่านี้ ส่วนทีมอื่นๆ ที่จะต้องทำเรื่องการ Empower ผู้หญิง ทำประเด็นเรื่องความเสมอภาค ก็ยังจะต้องทำอยู่ต่อไป

“คงจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งไม่ได้ ยังเหลือวิธีทางกฎหมายอีก ที่ต้องศักดิ์สิทธิ์

ตำรวจปรับตัวแล้วหรือยัง?

กระบวนการยุติธรรมปรับตัวแล้วหรือยัง?

ไม่พูดเรื่องความรุนแรง หรือยังบอกว่าความรุนแรงในครอบครัว-ความรุนแรงกับผู้หญิง เป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องส่วนตัวเรื่องเหล่านี้ต้องทำพร้อมกันไปทั้งหมดทุกองคาพยพ” ทิชาทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image