เปิดลิสต์ 12 ภาพยนตร์ ขึ้นทะเบียน ‘มรดกภาพยนตร์ของชาติ’ ปี 2565

เปิดลิสต์ 12 ภาพยนตร์ ขึ้นทะเบียน ‘มรดกภาพยนตร์ของชาติ’ ปี 2565

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 12 เรื่อง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2565 จัดโดย หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม หลังจากเปิดให้ประชาชนเสนอชื่อเพื่อคัดเลือก โดยปีนี้มีผู้เสนอรายชื่อกว่า 1,000 คน และ เสนอชื่อภาพยนตร์ 321 เรื่อง โดยคำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากหนังทั้ง 12 เรื่องที่ขึ้นทะเบียนปีนี้ มีภาพยนตร์และบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ 6 เรื่อง และ มีภาพยนตร์เล่าเรื่อง 6 เรื่อง

เริ่มต้นที่หนังข่าวและบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ “จอมพลสฤษดิ์ไปอเมริกา” ปี 2501 ภาพยนตร์ส่วนตัว ที่บันทึกการเดินทางไปรักษาตัวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อเมริกา ถ่ายทำไว้ในปี 2501 โดย นายแพทย์จำลอง หะริณสุต แพทย์ประจำตัวของจอมพลสฤษดิ์ ก่อนที่ในปลายปีนั้นเองจอมพลสฤษดิ์จะก่อการรัฐประหารและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังมี ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น อย่าง เด็กกับหมี The Children and the Bear ปี 2502 ผลงานของอ.ปยุต เงากระจ่าง ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักข่าวสารอเมริกันกรุงเทพฯ ของสหรัฐสร้างขึ้นเพื่อชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันแห่งเอเซียอาคเนย์ หรือ SEATO

ADVERTISMENT

“การประกวดการจัดบ้านและบริเวณ” ปี 2497 ภาพยนตร์การประกวดจัดบ้านและบริเวณครั้งแรกและครั้งเดียวในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่บันทึกอารมณ์ของการเสนอบทบาทในสังคมของสตรีไทย นำโดย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และ คุณหญิงรามราชภักดี

ด้าน “งานอภิเษกพระสังฆราช มีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต” ปี 2496 เป็นบันทึกพิธีการสำคัญของคริสตศาสนิกชนในประเทศไทย แสดงภาพการอภิเษกพระสังฆราชชาวไทยคนแรกที่ได้ทำหน้าที่ปกครองเขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง อันเป็นอัครมุขมณฑลแห่งภาคอีสานของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย

ทั้งยังมีหนังข่าว กิจการในกระทรวงพาณิชย์ แล คมนาคม THE ACTIVITIES OF THE MINISTRY OF COMMERCE AND COMMUNICATIONS ปี 2470-2472 ที่ฉายให้เห็นกิจการต่าง ๆ ในกระทรวงพาณิชย์แลคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งสินค้า กิจการสหกรณ์ กิจการการสื่อสารในยุคการต่อสายโทรศัพท์ รวมทั้งกิจการการควบคุมมาตรฐานสินค้าด้วยการวิเคราะห์ทางเคมี

นอกจากนี้ยังมีหนังที่สำคัญและหาดูยากอีกเรื่องได้แก่ ตัดหัวต่อหัว ปี 2470 – 2473 ภาพยนตร์ทดลองทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของไทยเท่าที่มีการค้นพบ ถ่ายและทำเทคนิคด้วยฝีพระหัตถ์ของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในช่วงราวต้นทศวรรษที่ 2470

ในกลุ่มหนังเล่าเรื่อง (feature film) มีการขึ้นทะเบียนหนังสำคัญ 6 เรื่อง เริ่มต้นจากภาพยนตร์ที่สะท้อนประเด็นทางสังคมและสิทธิสตรีอย่าง เทพธิดา บาร์ 21 ปี 2521 ผลการการกำกับภาพยนตร์เดี่ยวเรื่อแรกของ ยุทธนา มุกดาสนิท ที่ได้ทำหนังเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวเสียดสีสังคม ทั้งการเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส นักการเมืองที่เลวร้าย รวมไปถึงยาเสพติด ท่ามกลางฉากเพลงที่ร้องและเต้นอย่างตระการตา

ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 ปี 2533 ผลงานการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล คนทำหนังผู้ผันตัวมาจากการเป็นนักข่าว เป็นภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่ต้องการลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงแทนผู้หญิง เพื่อต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางเพศอันเป็นสิ่งที่สะสมมานมนานในสังคมไทย , October Sonata รักที่รอคอย ปี 2552 ภาพยนตร์รักสามเส้าที่เรียงร้อยเรื่องราวผ่านเหตุการณ์สั่นสะเทือนทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาคมในช่วงทศวรรษ 2513 – 2520

นอกจากนี้ ยังมี ดรรชนีนาง ปี 2496 หนังยุคฟิล์ม 16 มิลเมตร ก่อนปี 2500 ที่หลงเหลืออยู่น้อยนิด ที่ ส.อาสนจินดา ได้แสดงและร่วมกำกับกับ อิงอร – ศักดิ์เกษม หุตาคม เจ้าของบทประพันธ์ หลังจากทั้งคู่ได้ประสบความสำเร็จในการนำบทประพันธ์เรื่องนี้มาทำเป็นละครเวที

มันมากับความมืด ปี 2514 ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย และการรับบทบาทพระเอก นางเอกเรื่องแรกของ สรพงศ์ ชาตรี และนัยนา ชีวานันท์

และ แหวนทองเหลือง ปี 2516 ผลงานสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” ทั้งการที่ทรงเปลี่ยนแนวจากภาพยนตร์ตลาดมาเป็นภาพยนตร์แนวมหากาพย์ชีวิตที่เข้มข้นสะเทือนใจ ความยาวเกือบ 4 ชั่วโมงที่ ฉายให้เห็น อารมณ์ ค่านิยม และสภาพชีวิตผู้คนทั้งในตำแหน่งที่สูงสุดและต่ำสุดของบ้านเมือง ท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยในระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่ต้นสงครามโลก ครั้งที่ 2 มาจนถึงปี พ.ศ. 2516

ทั้งนี้ ภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ สามารถรับชมได้ผ่านช่องทาง Youtube หอภาพยนตร์ (ค้นหา playlist มรดกภาพยนตร์ของชาติ) Facebook หรือ TikTok ของหอภาพยนตร์ และ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ที่หอภาพยนตร์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image