ตาม ‘แมงเม่า’ เข้าวัดโพธิ์ ส่อง ‘กลบท’ สุดหินที่คนโบราณเฉลยไว้หมดแล้ว!

นับเป็นลูกเล่นที่ชวนติดตามอย่างยิ่ง สำหรับฉากในละคร “หนึ่งด้าวฟ้าเดียว” ที่สาวแต้ว ณฐพร ในบท “แมงเม่า” ต้องแสดงความปราดเปรื่องและภูมิรู้ด้านวรรณศิลป์อีกทั้งตำรับตำราชั้นสูงด้วยการไขปริศนา “กลบท” แบบต่างๆ ทำเอาหลายคนอ้าปากค้างว่านางช่างเก่งกาจเสียนี่กระไร

ว่าแต่กลบทนั้นหรือ คือสิ่งใด ?

อันว่ากลบทเป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่แม้มีข้อความใดๆซึ่งดูเผินๆอาจคล้ายโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั่วไป ทว่า แท้จริงแล้ว มีวิธีการแต่งและการอ่านเพื่อถอดความอย่างมีลักษณะเฉพาะ โดยซุกซ่อนถ้อยความบางประการไว้อย่างลึกซึ้ง

Advertisement

ถ้าหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลาไปในอดีต จะพบว่ากลบทในยุคโบราณ มีจำนวนมากมาย แต่ที่ยังได้ยินอยู่บ่อยๆ โดยถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนภาษาไทยของคนรุ่นหลัง ได้แก่ กลบทกบเต้นต่อยหอย, กลบทกบเต้นกลางสระบัว และกลบทกินนรเก็บบัว เป็นต้น

เรื่องราวของกลบท วิธีแต่ง ฉันทลักษณ์ และรายละเอียดต่างๆ ถูกบันทึกไว้อย่างดี มีหลักฐานเด่นชัดในจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่าเตียน กรุงเทพฯ พร้อมด้วยตัวอย่างที่สามารถเดินอ่านได้อย่างเพลินบนเสาระเบียงรอบพระอุโบสถ

ใครจะแต่งชุดไทยงามๆ ถือพัดย่างกรายอ่านไปชิลล์ๆ เดินสไบปลิวแล้วถ่ายรูปไว้ช่วยแม่แมงเม่าในตอนต่อไป ก็เป็นอะไรที่เริศนะจ๊ะ!

Advertisement

ทั้งนี้ จารึกที่ปรากฏในวัดโพธิ์ เป็นจารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษรจำนวน 50 แผ่น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แต่งขึ้น เนื่องจากมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่ศึกษาของผู้สนใจในคำประพันธ์ดังกล่าว ดังปรากฏใน “จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษรแผ่นที่ (เพลงยาวกลอนสุภาพ เรื่องพระราชปรารภ)” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ ความตอนหนึ่งว่า “…ซึ่งทรงพระราชอุทิศประดิษฐ์ประดับ ประสงค์สำหรับผู้รู้กลอนอักษรสยาม จะได้เห็นเช่นภิปรายแยบคายความ พยายามลอกเขียนร่ำเรียนรัก…”

การเดินชม เริ่มแผ่นที่ 1 บริเวณทิศเหนือของพระอุโบสถเรื่อยมาทางทิศตะวันออกและจบลงในแผ่นที่ 50ทางทิศใต้ จารึกแต่ละแผ่นแสดงถึงกลบทหรือกลอักษรแผ่นละ 1 ประเภทโดยระบุชื่อ, แผนผังและบทประพันธ์

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image