บทนำมติชน 6 ตุลาคม : กุญแจดอกนั้น

กรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุน้ำท่วมขังพื้นที่บางเขน เขตบางเขน ภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขระบบระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตว่า ผู้รับเหมายังไม่ได้ส่งมอบงานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินที่แล้วเสร็จให้ กทม. ทำให้ กทม.ไม่สามารถหากุญแจเปิดเครื่องสูบน้ำได้ กระทั่งถูกสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่า ปัญหากุญแจดอกเดียว แก้ไขไม่ได้ ก่อผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน

ต่อมา นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวมักเกิดน้ำท่วม กทม.แก้ไขปัญหาชั่วคราว โดยการติดตั้งระบบสูบน้ำ ต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. มีนโยบายจัดทำโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน หรือวอเตอร์แบงก์ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งจะช่วยดึงน้ำฝนบริเวณวงเวียนบางเขนมากักเก็บไว้ในบ่อหน่วงน้ำ เมื่อฝนหยุดตกจะสูบน้ำที่เก็บไว้ระบายลงสู่คลองบางบัวและคลองรางอ้อ-รางแก้ว สำนักการระบายน้ำจึงจัดซื้อจัดจ้างตามระบบราชการ ให้บริษัทรับเหมาเข้ามาดำเนินก่อสร้าง เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 และจะสิ้นสุดสัญญาลงวันที่ 6 พฤศจิกายน กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 120 วัน ขณะนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ อยู่ระหว่างส่งมอบงานให้ กทม. และ กทม.จะเข้าไปตรวจรับภายในวันที่ 10 ตุลาคม ดังนั้น ทรัพย์สินในพื้นที่ก่อสร้างจึงไม่ใช่ กทม. เพราะ กทม.ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้ผู้รับเหมาดำเนินการ

คำชี้แจงของผู้บริหาร กทม. สรุปว่า ระบบทั้งหมด ควบคุมโดยตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าเพื่อเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำ มีกุญแจล็อกไว้ ซึ่งผู้รับเหมาเป็นผู้ถือ เมื่อเกิดฝนตก กทม.เปิด-ปิดตู้ระบบสูบน้ำไม่ได้เพราะไม่มีกุญแจ เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น หากระบบสามารถทำงานได้ กทม.ควรควบคุมระบบนี้ได้ด้วย เพื่อใช้แก้ปัญหาในสภาพที่ฝนตกใน กทม.เกือบทุกวัน จึงน่าจะถือเป็นบทเรียนในการทำความตกลงกับเอกชนว่าจะบริหารจัดการในช่วงรอยต่ออย่างไร มิให้ทางราชการและประชาชนเสียประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image