บทนำมติชน 20 เมษายน 2562 : ทางออก‘ม.270’

หลายฝ่าย ทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองออกมาคัดค้าน กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เสนอให้ใช้ มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ ส.ว. ร่วมพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อแก้ปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จนอาจแพ้เสียงในสภาผู้แทนฯ ในการพิจารณากฎหมายสำคัญ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. ในเรื่องการปฏิรูปในช่วง 5 ปีแรก ในหมวดที่ 16 แต่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป แต่เป็นการจัดงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละปี จึงเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้วส่งให้ ส.ว.พิจารณาต่อ และตามจารีตประเพณี หากสภาไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ รัฐบาลต้องลาออก เพราะถือว่าไม่มีงบบริหารประเทศ

อีกรายคือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ให้วุฒิสภามาร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปนั้น ใช้ได้กับกฎหมายบางฉบับเท่านั้น และแก้ไม่ได้ตลอดไป สมมุติว่ากฎหมายทั้งหมด มี 100 ฉบับ ที่จะเสนอ ถ้ารัฐบาลบอกว่า 30 ฉบับเป็นกฎหมายปฏิรูป 30 ฉบับนั้นต้องประชุมร่วมรัฐสภา จะเหลืออีก 70 ฉบับ รัฐบาลคงไม่กล้าบอกว่าทั้ง 100 ฉบับ เป็นกฎหมายปฏิรูปแล้วให้มีการประชุมร่วม ดังนั้นมาตราดังกล่าวถือเป็นทางออกของปัญหา แต่ไม่ใช่ทั้งหมดและไม่มีมาตราใดที่จะเป็นทางออก เพราะบางเรื่องต้องเสนอเข้าสภาแต่ละสภาแยกกันพิจารณา “กฎหมายใดที่รัฐบาลบอกไปยังสภาว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ต้องประชุมร่วมกันอยู่แล้ว แต่มีบางฉบับที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นต้น ดังนั้นไม่ใช่ว่าต้องไปดึง ส.ว.มาร่วม หรืออันธพาลเสียงมากลากไป” นายวิษณุกล่าว

ข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน จึงไม่อาจนำมาใช้ได้ และอาจจะกลายเป็นอันธพาลเสียงมากลากไป ปัญหาสำคัญก็คือ การที่รัฐบาลใหม่ อาจจะตั้งขึ้นโดยมีเสียงในสภาผู้แทนฯ เกินครึ่งหรือ 250 เสียงไปไม่มากนัก ทำให้มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาเสถียรภาพ โดยเฉพาะในการพิจารณากฎหมาย ญัตติสำคัญ เป็นที่มาของความพยายามหาทางออก ดังที่นายไพบูลย์เสนอ หากจะแก้ปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ก็ควรหาเสียงจากพรรคการเมืองมาสนับสนุน แต่ก็ควรจะเป็นวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมายและประเพณีทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image