เรื่องเล็กๆใน “งานแฟร์”วันนี้ ที่กำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่

ใครที่เป็นแฟนประจำและรอคอยที่จะเดินชมตามงานแสดงสินค้าหรือที่เรียกอีกอย่างว่า”งานแฟร์”หลายงานในไทย ที่ถูกยกระดับเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ หลายงานติดอันดับงานใหญ่ระดับเอเชียและระดับโลก อย่างงานแสดงอาหารและเครื่องดื่ม งานตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าไลฟ์สไตล์ งานอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

จึงเป็นปลื้มแทนธุรกิจคนไทย ที่ยังทำเงินและนำรายได้เข้าประเทศได้อยู่ ทั้งคลายกังวลลงบ้างว่าช่องทางซื้อขายผ่านออนไลน์หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ชไม่ได้เข้ามาครอบครองตลาดค้าแบบเดิมๆ ที่ยังต้องดูสินค้าก่อนซื้อ ยังต้องสัมผัสหยิบจับสินค้าก่อนตัดสินใจ จะหายไป

สะท้อนจากพื้นที่สำหรับการจัดงานแสดงสินค้า รวมทั้งจำนวนสินค้า จำนวนผู้ผลิตผู้ค้าเพิ่มขึ้นๆทุกปี เมื่อสอบถามผู้จัดการมักระบุว่าแต่ละปีต้องเพิ่มทั้งขนาดพื้นที่จัดงานรองรับจำนวนผู้จองพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10% บางงานจัดในศูนย์แสดงสินค้าที่มีหลายอาคารรอบล้อม ก็ไม่เป็นอุปสรรค ยอดแห่จองพื้นที่ยังเพิ่มๆ

งานแสดงอาหารและเครื่องดื่มระดับประเทศนี้ เป็นงานประจำปีที่เกิดจากการจับมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตามแนวคิดสร้างการเป็นรับรู้ไปทั่วโลกว่า”ไทยคือครัวอาหารของโลก” และหลังจบงานได้รับการยืนยันว่าคนยังเดินล้นหลามหลายแสนคนทั้งคนไทย ประเทศเพื่อนบ้านและผู้นำสินค้าจากทั่วโลก พร้อมพอใจกับการสร้างเงินสะพัดในช่วงจัดงานและคำสั่งซื้อล่วงหน้ารวมกันกว่าแสนล้านบาท

Advertisement

แต่เมื่อมีโอกาสคุยสอบถามภาวะการค้าขายในปัจจุบันและสิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีคุมการค้าเข้ามา”แก้ไขก่อนที่จะสายไป”โดยถ่ายทอดถึงความพยายามของธุรกิจบ้างส่วน ขอให้รัฐเข้ามาทบทวนการมอบหมายหรือว่าจ้างให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาเป็นบริหารจัดการงานแสดงสินค้าระดับชาติของไทย

โดยใช้ผลการขยายพื้นที่จัดงานและจำนวนบูธที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เมื่อจำแนกลงไป ทั้งพื้นที่ขายของทั้งจำนวนบธูที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด เป็นการเข้ามาจับจองพื้นที่โดยต่างชาติ

ที่น่าตกใจ คือ เพียง 2-3 ปีหลังต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการจัดงานธุรกิจไทยต้องควักเงินเพิ่มอีกกว่า 2 เท่าตัว เพื่อแย่งชิงพื้นที่กับทั้งธุรกิจคนไทยด้วยกันเองและธุรกิจจากทั่วโลก ที่ถูกเชิญโดยผู้จัดงานให้เข้ามา ซึ่งกลายๆแล้ว ก็คือใช้ไทยในการเปิดตลาดส่งออกผ่านงานแฟร์นั้นๆ เพราะจุดประสงค์ของงานก็เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยส่งออกหรือเปิดให้สมาชิกในอาเซียนด้วยกันมีเวทีค้าขายกันเองหรือเปิดตลาดนอกอาเซียน

รายหนึ่งพูดอย่างน้อยใจว่า เข้าร่วมงานตั้งแต่ปีแรก บูธเด่นๆเคยจ่ายเกือบหมื่นบาท/ตร.เมตร วันนี้ขึ้นเป็น 5-6 หมื่นบาทและปรับขึ้นทุกปี บางรายตั้งข้อสังเกตุว่าหลายปีก่อนหน้านี้ ผู้ค้าไทยที่ร่วมแฟร์ก็จะเลือกเปลี่ยนความชื่นมื่นต่อยอดขาย โดยเฉพาะมีผู้นำเข้าสั่งล่วงหน้ายาวถึงเทศกาลปีใหม่

แต่วันนี้ไม่แค่บรรยากาศนั้นหายไป ผู้นำเข้ายังเอาราคาสินค้าจากประเทศนอกอาเซียนมาโชว์กดดัน จึงเกิดขบวนลดราคาดั๊มราคากันสุดๆ ผนวกกับต้นทุนที่ลงไปแพงขึ้น และภาวะสงครามการค้ากระทบต่อการค้าการส่งออก ธรรมเนียมพ่อค้าเมื่อมาแล้วอย่างไรก็ต้องขายให้ได้เพื่อดึงทุนคืน แม้กำไรหดขาดทุนบ้าง แล้วเล็กๆจะไม่ถอนตัวจากช่องทางงานแฟร์ได้อย่างไร

วันนี้ภาครัฐยังมองว่าไม่น่าปัญหาใหญ่โตอะไร และเก็บเงียบเมื่อกลุ่มผู้ค้าไทยขอให้ทบทวน! จึงมีความหวังว่าจะเห็นทีมเศรษฐกิจใหม่ จะหยิบข้อมูลเชิงลึกๆเทียบผู้ค้าคนไทยกับผู้ค้าจากต่างชาติที่เข้างานแฟร์ระดับชาติในไทยนั่น เกิดอะไรขึ้นบ้าง ยังแข่งขันได้จริงหรือ เมื่อต้นทุนก็สูง กำไรหด สภาพคล่องการเงินต่ำ

เพราะหากปล่อยไปอย่างนี้อีกไม่ช้าอาจเกิดหนี้ภาคธุรกิจ(เอสเอ็มอี)ทำสถิติสูงสุด…แข่งกับหนี้ครัวเรือน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image