บทนำมติชน 16 พ.ย. 2562 : รับมือภัยแล้ง

ผ่านพ้นหน้าฝนไปเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บัดนี้เข้าสู่ฤดูหนาว และเห็นสัญญาณของภัยแล้งรอคอยอยู่ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายหลังการประชุม พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานการประชุมได้ระบุว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูแล้ง มีปริมาณฝนตกน้อย ยกเว้นภาคใต้จึงต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานตามมติ ครม. และการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 อย่างใกล้ชิด

ผู้ช่วยโฆษกฯ ยังเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการนำร่องพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่นำร่องเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง 3 แห่ง ได้แก่ ทุ่งบางพลวง จังหวัดปราจีนบุรี, ลำน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด และทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เห็นชอบมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งบริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขต 22 จังหวัด และนอกเขต 31 จังหวัด รวมถึงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทานที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อการเพาะปลูกจำนวน 8 จังหวัด สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตก และต้องเฝ้าระวังโดยมีมาตรการรองรับสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย และน้ำล้นตลิ่งภาคใต้จำนวน 7 จังหวัด 37 อำเภอ และรับทราบปัญหาน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากภาวะเอลนิโญและการจัดการน้ำของเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเตรียมรับมือปัญหาล่วงหน้า เห็นได้ชัดว่า ปัญหาภัยแล้งและปัญหาเรื่องน้ำ กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ในห้วงเวลาปลายปี 2562 และช่วงต้นปี 2563 รัฐบาลควรผลักดันหน่วยงานที่มีหน้าที่ ให้รีบตื่นตัว เตรียมมาตรการในการบริหารจัดการ และการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาทุกปีจะมีภาพของเกษตรกรแย่งกันสูบน้ำจากแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ จนบางครั้งเกิดความขัดแย้ง ขณะนี้รัฐบาลมาจากพรรคการเมือง มีสภา มีความยึดโยงกับประชาชนระดับหนึ่ง ต้องสดับรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนและเตรียมรับมือล่วงหน้า ที่สำคัญก็คือ หากมีหนทางใดที่จะแก้ปัญหาแล้ง ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนได้ ก็ควรจะเริ่มดำเนินการได้แล้ว หลังจากที่วนเวียนแก้ปัญหามาหลายปีแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image