บทนำมติชน 7 มีนาคม 2563 : ประชาธิปไตยแก้วิกฤต

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องการพบปะหารือกับประชาชนโดยตรง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดโครงการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาของประชาชน โดยจะให้กลุ่มตัวแทนต่างๆ เข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประชาชนทั่วไปหาเช้ากินค่ำ และกลุ่มผู้ประกอบการ และอาชีพอิสระ

นายพีระพันธุ์ ยังเผยว่า ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะหารือถึงแนวทางการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มนักศึกษา ซึ่งได้ประสานงานไปยังอธิการบดีบางแห่งแล้ว แต่เกิดกรณีแฟลชม็อบขึ้นมา นักศึกษามีความคิดเห็นเรื่องนี้เหมือนกัน วันหนึ่งเขาต้องเติบโตมาดูแลบ้านเมืองแทน เขามีความคิดเห็นอย่างไรก็ต้องรับฟัง ส่วนเวทีรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัดยังไม่ได้ยกเลิก แต่ต้องเลื่อนออกไป เพราะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเน้นการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียแทน

การที่นายกรัฐมนตรีเปิดทำเนียบพบประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ และการให้นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ มีส่วนการศึกษาหาหนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการริเริ่มที่ดี หากรัฐบาลมีความตั้งใจจะรับฟังปัญหาจากประชาชนตัวจริงเสียงจริง แต่จะไม่มีประโยชน์หากกระทำเพื่อสร้างภาพ อีกช่องทางหนึ่งที่นายกฯ อาจใช้ประโยชน์ได้แก่ การรับฟังจาก ส.ส.ที่พยายามตั้งกระทู้ถาม และเสนอเป็นญัตติต่างๆ เพียงแต่ช่วงนี้อยู่ระหว่างปิดสมัยประชุม แต่หากต้องการรับฟังจริงๆ ก็อาจเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อฟังการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้

ส่วนการรับฟังความเห็นนิสิต นักศึกษาในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นประโยชน์เช่นกัน เรื่องของประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาทางการเมืองที่แฟลชม็อบของคนรุ่นใหม่ได้สะท้อนคล้ายกันทุกเวที การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย เช่น ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.จะมีส่วนช่วยลดอุณหภูมิการเมืองลงได้ ปัญหาคือรัฐบาลมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร และกล้าสละความได้เปรียบทางการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image