อพท.ดันชุมชน จ่อบูมท่องเที่ยว หลัง ‘โควิด’ จาง

ชุมชน
ชุมชน

อพท.ดันชุมชน จ่อบูมท่องเที่ยว หลัง ‘โควิด’ จาง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก แทบทุกประเทศต่างล็อกดาวน์ห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ ส่วนประเทศไทยก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้การท่องเที่ยวทุกรูปแบบหยุดชะงัก

รายได้สูญหายไปมหาศาล

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังมีศักยภาพ ทั้งความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และท่องเที่ยวทางศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงการบริการที่ประทับใจ และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างถูกกว่าประเทศอื่นๆ ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของโลก

ด้วยศักยภาพดังกล่าว ทำให้การท่องเที่ยวขอไงไทยพร้อมที่จะกลับมาสร้างรายได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยทั้งในภาพรวมและระดับชุมชนได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

ดังนั้น ต้องเตรียมความพร้อมที่จะบูมการท่องเที่ยวได้ทันทีเมื่อโควิด-19 จางหายไป

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ “อพท.” สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าเข้าไปช่วยยกระดับชุมชนในเรื่องการบริการจัดการการท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ ให้มีศักยภาพ เพื่อจะกลับมาพลิกฟื้นได้ทันที เมื่อระฆังเริ่มตี

หนึ่งในยุทธศาสตร์ของ อพท. ในปี 2563 คือ เปิดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวใหม่ในฝั่งทะเลตะวันตก โดยเข้าไปต่อยอดยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นสู่วัฒนธรรมอาหารแบบยั่งยืน โดยนำร่องใน 5 ชุมชนกับ 1 เครือข่าย นั่นคือชุมชนบ้านไร่กร่าง, ชุมชนบ้านถ้ำเสือโฮมสเตย์ และเครือข่ายคีรีมณีประดู่ ใน จ.เพชรบุรี กับชุมชนบ้านทุ่งประดู่, ชุมชนบ้านม้าร้อง และชุมชนบ้านหินเทิน ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 หรือ “อพท.8” และสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้าไปช่วยผลักดันเมนูอาหารพื้นถิ่นของชุมชน เข้าสู่โครงการ “เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน” เพื่อสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ที่มีมาตรฐานและปลอดภัย

แต่ละชุมชนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะวัตถุดิบด้านอาหารในพื้นที่

“ชุมชนบ้านไร่กร่าง” เป็นชุมชนอนุรักษ์วิถีตาลผ่านการท่องเที่ยว โดยนำตาลโตนดมาประกอบอาหาร เช่น แกงหัวโหนด ยำหัวโหนด และต่อยอดเมนูใหม่ผ่าน “เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน” เป็น ยำหัวโหนดและสเต๊กหัวโหนด

“ชุมชนบ้านถ้ำเสือโฮมสเตย์” นอกจากทัศนียภาพที่สวยงามแล้ว ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารปลอดสารพิษ เช่น หน่อไม้ ปลาน้ำจืด ผักกูด และผักตามฤดูกาลที่มีตลอดทั้งปี โดยเปิดร้านอาหารชุมชน และแหล่งเรียนรู้การประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยว

“ชุมชนบ้านม้าร้อง” แหล่งปลูกมะพร้าวที่นำมาเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น เมนูแกงเหมงพร้าว และยังเข้าร่วมโครงการ “เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน” สร้างสรรค์เมนูใหม่ เช่น “ยำม้าร้อง”

“เครือข่ายท่องเที่ยวคีรีมณีประดู่” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชนเผ่าไทยทรงดำ มีเรื่องราวของวิถีชุมชนและอาหารประจำชนเผ่า เช่น เมนูผักจุ๊บและแจ่วด้าน โดยมีกิจกรรมเรียนรู้การทำอาหารตามวิถีชนเผ่า
ส่วน “ชุมชนบ้านทุ่งประดู่” ด้าน “น.ส.สุวลี เสรีวัฒนาชัย” ผู้ประสานงานหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) บ้านทุ่งประดู่ ต.ทับพะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แจกแจงให้ฟังว่า ที่ผ่านมา อพท.มีศักยภาพในการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายการท่องเที่ยวในพื้นที่แห่งอื่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ชุมชนบ้านทุ่งประดู่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาต่อยอดให้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยมีกิจกรรมการทำสปาทราย หรือห่ามทราย เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จากการใช้ธรรมชาติบำบัด ในทัศนียภาพที่สวยงาม บริเวณชายหาดทุ่งประดู่

ความสำเร็จของโครงการนี้ วัดได้จากรางวัลที่ได้รับ นั่นคือ รางวัลชนะเลิศระดับประเทศในโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม 10 หมู่บ้าน 10 จังหวัด, รางวัลการพัฒนาหมู่บ้าน CIV ด้านศาสตร์พระราชา ปี 2561 และรับรางวัล Excellent Social Media User for CIV ปี 2561
ส่วนการยกระดับเมนูอาหารพื้นถิ่นของ อพท.นั้น มีอาหารคาว 2 เมนู คือ “มัจฉาลุยสวน” โดยใช้เนื้อ “มะพร้าวนกคุ่ม” ที่เป็นสายพันธุ์เอกลักษณ์ของชุมชน และ “ปลาสาก” จากชาวประมงพื้นบ้านในชุมชน นำมาปรุงคล้ายการต้มข่า

อีกเมนู คือ “งบย่าง” หรือ “เพลิงวารี” ที่ใช้วัตถุดิบแตกต่างจากพื้นที่อื่น โดยมีส่วนผสมของปลาทะเลกับพริกแกงคล้ายกับการทำห่อหมก จากนั้นห่อส่วนผสมทั้งหมดด้วยใบตองแล้วนำไปย่าง

นอกจากนี้ ยังมี 2 เมนูของหวาน คือ “อัญมณีนกคุ้ม” คล้ายการทำขนมทับทิมกรอบ แต่ใช้เนื้อ “มะพร้าวนกคุ่ม” แทนแห้ว ทำให้การรับประทานจะมีรสสัมผัสจากเนื้อมะพร้าวที่หวานหอมที่แตกต่างกัน อีกเมนูคือ “ครองแครงแห้ง” มีเนื้อแป้งนึ่งโรยด้วยเนื้อมะพร้าวนกคุ่ม ราดหน้าด้วยกะทิและน้ำตาล

“เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งกิจกรรมสปาทราย และอาหารพื้นถิ่น ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติและลิ้มรสอาหารที่เป็นเอกลักษณ์จากวัตถุดิบในพื้นที่ เป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนอีกทาง” น.ส.สุวลีสรุป

ขณะที่ “ชุมชนบ้านหินเทิน” ด้าน “ภัทรดนัย สมศรี” กำนันตำบลแสงอรุณ อ.ทับสะแก ให้ข้อมูลว่า เมนูอาหารที่จะยกระดับให้มีความโดดเด่นคงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมตามโครงการที่ อพท.สนับสนุนชุมชนบ้านหินเทิน ประกอบด้วย “แกงเหมงมะพร้าว” โดยใช้กะลาอ่อนของมะพร้าวเป็นวัตถุดิบสำคัญผสมกับไก่หรือหมูย่าง นอกจากนี้ยังมี “ผัดกากมะพร้าว” ใช้เครื่องแกงผัดกับกุ้ง รวมทั้งกุยช่ายเลิศรส

นอกจากนั้น ยังมี “หลนปลาเค็ม” กับ “หลนหอยดอง” เป็นการผสมผสานระหว่างวัตถุดิบจากชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนโอท็อปนวัตวิถีที่หมู่ 4 บ้านแสงอรุณ กับสวนมะพร้าวที่บ้านหินเทิน

เอกลักษณ์ที่นักท่องเที่ยวประทับใจ คือ ชาวบ้านจะใช้ภาชนะจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ ที่ผลิตจากกะลามะพร้าว เพื่อใช้เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เช่น โจ๊กกะลา กาแฟในแก้วมะพร้าว เป็นจุดขายช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว

“ที่ผ่านมาการสนับสนุนของ อพท. ทำให้บ้านหินเทิน หมู่บ้านเล็กๆ ด้านทิศตะวันตกของตำบลใกล้เทือกเขาตะนาวศรี เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ช่วยพัฒนาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าอาหารพื้นบ้านให้โดดเด่น ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม ควบคู่กับไปกับการทำการเกษตรดั้งเดิม ที่จะช่วยให้ชุมชนเติบโต มั่นคงอย่างยั่งยืน” กำนันภัทรดนัยสรุป

ด้าน “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้อำนวยการ อพท. ระบุว่า พื้นที่ท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก มีความโดดเด่นที่หลากหลาย สามารถพัฒนาสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในด้านอาหารและด้านศิลปวัฒนธรรมที่เป็นจุดขายสำคัญของตลาดในปัจจุบัน และชุมชนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

“แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างดี ที่พร้อมจะพัฒนาต่อยอดทรัพยากรอาหารที่มีอยู่ สอดคล้องกับนโยบายของท่าน ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน” ผู้อำนวยการ อพท.สรุป

เป็นแผนงานส่วนหนึ่งของ อพท.ที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวชุมชนกลับมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมและช่วยกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จางหาย

หวังว่าวันนั้นจะมาถึงในอีกไม่นานนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image