บทนำหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : ตกแล้วตกอีก

บทนำหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : : ตกแล้วตกอีก

 

บทนำหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : ตกแล้วตกอีก

เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้ง 13 ฉบับ เสนอโดยพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ถูกตีตกระเนระนาดไป 12 ฉบับ เพราะ ส.ว.ลงคะแนนให้ไม่ถึง 1 ใน 3 ตามเกณฑ์ในมาตรา 256 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยมีเสียงสนับสนุนตามเกณฑ์เพียง 1 ฉบับ คือร่างฉบับที่ 13 เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ สาระสำคัญให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือก ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ก็ส่อว่าจะล่มอีก เพราะยังมีอีก 8 มาตราในรัฐธรรมนูญที่ยังระบุ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อตามเดิม มิได้แก้ให้สอดคล้องกัน

ตอกย้ำอีกครั้งถึงจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ ที่ให้น้ำหนักเสียง ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 ซึ่งเท่ากับ 84 คน มากกว่าเสียง ส.ส.เกือบทั้งสภา ดังปรากฏว่า ร่างแก้ไขหลายฉบับ ส.ส.ลงคะแนนสนับสนุน 400 ถึง 440 เสียง หรือเท่ากับกว่า 80% ของสภาผู้แทนฯ แต่ร่างเหล่านี้ก็ต้องตกไป ยิ่งหากพิจารณาว่า ส.ส.ทั้งสภามาจากระบบเลือกตั้ง แต่ ส.ว.มาจากการคัดเลือกของเครือข่ายอำนาจ ยิ่งทำให้เห็นถึงความลักลั่นของตรรกะที่ใช้ในการยกร่าง

Advertisement

นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์
มสธ. สรุปปัจจัยที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญล่มครั้งแล้วครั้งเล่าว่า 1.การดำรงคงอยู่ของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลที่มีอำนาจพิเศษไว้ถ่วงดุลกับสภาผู้แทนฯ 2.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบ ก่อให้เกิดความซับซ้อนและเงื่อนไขยุ่งยาก 3.พลังทางสังคมที่จะเป็นแรงผลักดันยังไม่มากเพียงพอ เนื่องจากการแบ่งขั้วทางสังคมการเมืองยังมีอยู่ในความขัดแย้งของสังคมไทย 4.อำนาจรัฐแทรกแซงกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของสังคมไทยอยู่ตลอด และ 5.แม้ พ.ร.บ.ประชามติผ่านสภา แต่มาตรา 9 ระบุการทำประชามติยังต้องขอ ครม. ทำให้ฝ่ายบริหารยังได้เปรียบ โดยสรุปเห็นชัดว่า ผู้กุมอำนาจรัฐไม่ต้องการคืนประชาธิปไตยและขัดขวางผ่านกลไกต่างๆ ของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image