แก๊งคอลเซ็นเตอร์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาละวาด หลอกลวงประชาชนเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ ใช้วิธีการกล่าวอ้างว่า เจ้าของหมายเลขเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จากนั้นหลอกล่อให้โอนเงิน ประชาชนหลายรายตกเป็นเหยื่อ สูญเสียเงินทอง หลายรายรู้ทันตอบโต้และบันทึกเทปการตอบโต้เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ทางราชการได้เตือนว่า หากมีหมายเลขแปลกๆ ที่ไม่คุ้นเคยติดต่อเข้ามา อย่าพูดคุยด้วย อาจเสียทรัพย์สิน มีการทำเพลงรณรงค์เตือนประชาชนอย่าโอนเงินง่ายเกินไป เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กวาดล้างจับกุมคนร้ายได้หลายครั้ง ทั้งใน กทม. และที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา แต่ก็ยังมีเหตุเกิดขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด เหยื่อเป็นพิธีกรสาวชื่อดัง ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเป็น ผกก.สภ.เมืองระนอง หลอกเอาเงินกว่า 1 ล้านบาท

ภาครัฐและเอกชนได้ให้ข้อปฏิบัติกับประชาชนว่า เมื่อได้รับการติดต่อให้ทบทวนทันทีว่าข้อมูลที่มิจฉาชีพโทรมา เป็นความจริงหรือไม่ เช่น มีบัญชี บัตรเครดิต หรือได้มีการทำธุรกรรมตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่ จากนั้นต้องไม่ทำรายการหรือโอนเงิน มิจฉาชีพจะหลอกให้โอนเงินผ่าน ATM โดยให้เลือกเมนูภาษาอังกฤษ มิจฉาชีพจะถือสาย บอกขั้นตอนการโอนจนกว่าโอนเงินสำเร็จ ต้องไม่ให้ข้อมูล ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงรหัสต่างๆ ในทุกๆ ช่องทาง ตรวจสอบข้อมูลโดยขอหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และวางสายเพื่อติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงาน หรือสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง และนอกจากระวังภัยที่เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว ควรให้ความรู้เรื่องกลโกงกับคนรอบตัว เช่น ผู้สูงอายุในครอบครัว หรือคนที่มีแนวโน้มจะถูกหลอกลวงได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม แก๊งดังกล่าวยังออกอาละวาด อย่างต่อเนื่อง ท้าทายการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ ทำให้มีคำถามว่า มิจฉาชีพเหล่านี้ได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนไปทำมาหากินได้อย่างไร การสื่อสารสมัยใหม่โดยเฉพาะการค้าออนไลน์อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ก็ควรมีระบบที่ป้องกันความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ทางราชการ นอกจากปราบปรามแก๊งดังกล่าว ควรปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลของประชาชน มิให้มิจฉาชีพเข้าถึงได้ง่ายๆ ดังที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image