บทนำมติชน 21 พฤษภาคม 2565 : 3 ทศวรรษ พ.ค.35

บทนำมติชน 21 พฤษภาคม 2565 : 3 ทศวรรษ พ.ค.35

บทนำมติชน 21 พฤษภาคม 2565 : 3 ทศวรรษ พ.ค.35

มติชนสุดสัปดาห์ จัดเวทีเสวนา 3 ทศวรรษเหตุการณ์ พ.ค.2535 วิทยากร ได้แก่ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางการเมือง ดำเนินรายการโดย นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ สาระสำคัญจากผู้ขึ้นเวทีเสวนา ต่างเห็นว่า ทหารควรถอยออกจากการเมือง ขณะที่ภาคประชาชน แม้มีความตื่นตัวมากขึ้น แต่เกิดขัดแย้งแตกแยกกันมาก แกนนำที่เคยต่อต้านเผด็จการในยุคนี้ กลับเปลี่ยนท่าทีไป ทำให้พลังของประชาชนอ่อนแอลงไป

รศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ผ่านมา 30 ปีแล้ว ขอให้คืนศพผู้สูญหายให้ญาติ เพื่อยอมรับที่ผ่านมาว่าคือบทเรียน จะได้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้ ด้านรายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมซึ่งเต็มไปด้วยแถบดำคาดไว้ บัดนี้ผ่านไป 30 ปี ตามเวลา 20 ปีก็เผยได้ ถึงเวลาต้องเผย เพื่อให้จบในแง่ของข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้ช่วยกันป้องกัน ส่วนนายสมบัติกล่าวว่า ที่น่าเสียใจคือเมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 หรือ 2557 ภาคประชาชนที่ได้รับบทเรียนจากปี 2535 แตกแยกกัน ไปอยู่ในฝ่ายที่สนับสนุน หรือนิ่งเฉยต่อผู้ก่อการยึดอำนาจ ทำให้ภาคสังคมอ่อนแอลงและไม่สามารถดำรงบทบาทในสิ่งที่ควรได้

พล.อ.บัญชรกล่าวว่า ยังจำความรู้สึกตัวเองหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ได้ คิดว่าถึงเวลาที่กองทัพจะถอนตัวออกจากการเมือง บ้านเมืองจะไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น แต่รัฐประหารปี 2557 ไม่รู้ว่าทหารไปยั่วยุให้ประชาชนออกมาเรียกทหาร หรือประชาชนต้องการทหารจริงๆ ฉะนั้นจะยกภาระทั้งหมดมาให้ทหารถอดตัวเองออกไปยังไม่พอ พีชคณิตการเมืองไทยซับซ้อน ไม่ใช่แต่ X หรือ Y แต่เป็น XYZ ยังมีกลุ่มทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่อย่างน้อยการถอดทหารออกมา ตัวแปรก็น้อยลง

Advertisement

เหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค. 2535 เป็นผลจาก
รัฐประหาร 2534 และมีผลต่อเนื่องมาถึงรัฐประหาร 2549 และ 2557 การรัฐประหารที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง จะอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติ แต่ทุกครั้งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ เป็นไปในทางลบมากยิ่งขึ้น ทุกฝ่ายจึงต้องสรุปบทเรียน และยอมรับที่จะใช้กลไกประชาธิปไตยแก้ปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image