การเปล่ง ขอโทษ จุดตัด เส้นแบ่ง การเมือง การเมือง ยุค คสช.

การเปล่งคำ “ขอโทษ” พร้อมกับตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีบุกเข้าไปจับกุม “นายสุวิทย์” ณ วัดอ้อน้อย นครปฐม สำคัญ
สำคัญเพราะว่ามาจาก “นายกรัฐมนตรี”

สำคัญเพราะว่ามาจาก “รองนายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”

เห็นได้จาก 2 คนนี้มิได้ออกมากล่าวคำ “ขอโทษ” ด้วยตนเอง หากอาศัยปาก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกกระทรวงกลาโหม

นี่เป็นเรื่องอย่าง “ทางการ”

Advertisement

จึงไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนในการด้าน “พระศาสนา” หากแต่ยังส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อระบบการบริหารราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นี่ย่อมเป็นเรื่องของ “บ้านเมือง”

ในที่สุดแล้ว นี่ย่อมเป็นเรื่องของ “การเมือง”

ถามว่าคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามดำเนินการจับกุม พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม อยู่บนพื้นฐานอย่างไร
คำตอบ คือ เป็นไปตาม “หมายจับ” ของศาลอาญา

Advertisement

1 คดีอั้งยี่ซ่องโจร จากกรณีสั่งการให้กลุ่มการ์ด กปปส.รุมทำร้ายตำรวจสันติบาลที่ลงพื้นที่หาข่าวการชุมนุมพร้อมปล้นทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557
1 ปลอมแปลงพระปรมาภิไธย ภปร และ สก เอาไว้หลังพระนาคปรก 1 ในปฐพี

ขณะเดียวกัน ภายหลังการจับกุมและส่งฟ้องศาล ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ความหนักเบาของข้อหา หากปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจยุ่งเหยิงพยานหลักฐานจึงไม่อนุญาตปล่อยตัว

ส่งผลให้ต้องนิมนต์พระจากวัดเสมียนนารีสึกออกจากความเป็นพระ กลายเป็น “ข.ช.สุวิทย์”

คํา “ขอโทษ” อันมาจากนายกรัฐมนตรี และจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงกลายเป็นความละเอียดอ่อน
ละเอียดอ่อนกระทั่งอาจกลายเป็น “จุดตัด” ในทางการเมือง

นามของ “ข.ช.สุวิทย์” หรือ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ ในห้วงที่ดำรงอยู่ในสถานะแห่ง “พุทธะอิสระ” นั้นเป็นนามที่ไม่ธรรมดาในทางการเมือง
เพราะมีส่วนตั้งแต่ยุค “พันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย”

เมื่อเข้าสู่ยุค “กปปส.” พุทธะอิสระได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแกนนำ อันมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้า

กลายเป็นพลังในการ “ชัตดาวน์”

จึงเท่ากับว่า นายสุวิทย์มีบทบาทอย่างสำคัญทั้งก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

พลอยทำให้คำ “ขอโทษ” มีน้ำหนัก

สะท้อนสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่าง นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ กับนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ยืนยัน “สถานะ” ทางความคิด ทางการเมือง

ไม่ว่าในที่สุดแล้วคดีของ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ จะลงเอยอย่างไร แต่การออกมา “ขอโทษ” ของนายกรัฐมนตรี กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีผลสะเทือน

กลายเป็น “เส้นแบ่ง” อย่างสำคัญ

กลายเป็น “รูปธรรม” สะท้อนถึงรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายใต้โครงสร้างการรัฐประหารตั้งแต่เมื่อปี 2549 กระทั่งปี 2557

เส้นแบ่งนี้จะมีผลสะเทือนต่อ “คสช.” อย่างลึกซึ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image