ถอดบทเรียน ‘จิตวิทยา’ จากยูโร 2020

REUTERS/Justin Setterfield

ถอดบทเรียน ‘จิตวิทยา’ จากยูโร 2020

สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการแข่งขันกีฬานอกจากผลแพ้ชนะหรือเสมอที่เป็นบทสรุปของการแข่งขันแล้ว ก็คือ “อารมณ์ร่วม” ในเกม ทั้งจากตัวคนเล่น กรรมการ และผู้ชม

ยิ่งเข้ารอบลึก ยิ่งใกล้จุดไคลแมกซ์ของเกม สถานการณ์ยิ่งกดดันและบีบคั้น ใครที่รู้จักจัดการ “ใจ” ของตัวเองได้ดี ก็มักผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเตะและโค้ช ถ้ารู้จักนำหลักจิตวิทยามาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ อาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป

ศึก ยูโร 2020 ก็เช่นกัน นักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากหลากหลายสำนัก ต่างวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ และถอดบทเรียนออกมาอย่างน่าสนใจ

Advertisement

ดร.เบนซ์ นาเนย์ ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปและเคมบริดจ์ เขียนบทความถึงยูโรหนนี้ว่า หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ยูโร 2020 ต่างจากฟุตบอลเมเจอร์รายการที่ผ่านๆ มา ก็คือการนำระบบ VAR มาใช้

REUTERS/Justin Setterfield

จากเดิมที่การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการในสนาม ณ เวลาเกิดเหตุอย่างเดียว ตอนนี้มีเทคโนโลยีภาพช้าหลากหลายมุม และความเห็นของกรรมการคุมห้อง VAR มาช่วยเสริมด้วย

ดร.นาเนย์หยิบประเด็นเรื่องการ “ฟาวล์” มาวิเคราะห์ว่า ความที่ปัจจุบันเทคโนโลยีล้ำสมัยขึ้น ไม่ใช่แค่ VAR ที่ทำให้โอกาสที่นักเตะจะตบตากรรมการเพื่อเรียกจุดโทษหรือเรียกใบเหลืองใบแดงให้คู่แข่งน้อยลง แต่ยังมีมุมกล้องที่มีความคมชัดระดับ 4K ส่งภาพช้าไปฟ้องแฟนบอลทั่วโลกอย่างทันเหตุการณ์อีกด้วย

Advertisement

กระนั้น เราก็ยังเห็นช็อตการล้มกลิ้ง ร้องโอดโอยในสนามที่คุ้นเคย ตามด้วยช็อตโวยวายถ้ากรรมการตัดสินไม่เป็นดังใจ หรือถ้าเป็นฝ่ายทำฟาวล์ ก็ยังทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ ประท้วงกรรมการว่าตัวเองไม่ได้ทำหน้าตาเฉย

ดร.นาเนย์ตั้งคำถามว่า กรณีที่เป็นการ “ตบตา” ที่เสี่ยงจะโดน “ประจาน” ด้วยภาพช้าคมชัดระดับ HD ไปทั่วโลก ทั้งที่รู้อย่างนั้น ทำไมนักเตะถึงยังทำกันเป็นปกติ?

REUTERS/Frank Augstein

เรื่องนี้อธิบายด้วยหลักจิตวิทยาได้เป็น 3 เหตุผลหลักๆ หนึ่งคือ ความเคยชิน เพราะนักฟุตบอลทำแบบนี้กันมาเป็นปีๆ เป็นทศวรรษ จู่ๆ จะให้หยุดทำไปเลยไม่ใช่เรื่องง่าย

สองคือ การรักษาหน้า หรือยอมเสี่ยง เพราะถึงจะมีกล้องมากมายจ้องจับจังหวะสำคัญ ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่มุมมองอาจไม่ชัดเจน เพราะในท้ายที่สุด อำนาจตัดสินใจสุดท้ายก็ยังเป็นของกรรมการในสนาม

ข้อสุดท้าย ดร.นาเนย์บอกว่าเป็นมุมมองด้วยหลักจิตวิทยาล้วนๆ ว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าคนอื่นจะมองเรายังไง แต่สำคัญตรงเรามองสิ่งนี้ยังไง เข้าข่ายภาวะ “ความไม่ลงรอยกันทางการรับรู้” หรือ “ความขัดแย้งทางปัญญา” (cognitive dissonance)

ดร.นาเนย์อธิบายว่า หากนำทฤษฎีมาจับ ย่อมอธิบายได้ว่า นักเตะไม่อยากยอมรับว่าตัวเองเป็นพวกตุกติก เล่นไม่ซื่อ หรือเป็นคนไม่ดี ไม่สำคัญว่าคนอื่นจะมองว่าเขาเป็นพวกขี้โกงอย่างไร อย่างน้อยที่สุด ตัวเขาเองยังต้องการที่จะมองตัวเองว่าเป็นคนดี ใส่ซื่ออยู่นั่นเอง!

อีกหนึ่งองค์ประกอบของการแข่งขันฟุตบอลที่มักเกี่ยวพันกับจิตวิทยา คือ การดวลจุดโทษ เพราะในท้ายที่สุดจะต้องมีนักเตะอย่างน้อย 1 คน ต้องแบกรับความรู้สึกผิดที่ตัวเองยิงไม่เข้าจนทีมตกรอบน็อกเอาต์

เหมือนอย่าง แกเร็ธ เซาธ์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษคนปัจจุบัน ซึ่งยิงพลาดในเกม ยูโร 96 กับเยอรมนีตะวันตก หรือ โรแบร์โต้ บาจโจ้ “โกลเด้นบอย” ของทีมชาติอิตาลีใน ฟุตบอลโลก 1994 กับบราซิล

อีเอสพีเอ็น สื่อกีฬาชื่อดัง เขียนถึงการดวลจุดโทษไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้รักษาประตูจะไม่มีวันเป็นผู้แพ้ ยกเว้นเขาต้องออกไปยิงเอง ซึ่งนั่้นคือสถานการณ์ที่ ดาบิด เด เคอา นายทวารแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องเผชิญ ตอนดวลจุดโทษพ่าย บียาร์รีล ในศึกยูโรป้าลีก รอบชิงชนะเลิศ หลังจากไม่มีใครยิงพลาดเลยทั้ง 2 ทีม

REUTERS/Franck Fife

ทอม ยัง นักจิตวิทยากีฬา กล่าวว่า สำหรับผู้รักษาประตูแล้ว การรับลูกจุดโทษกดดันน้อยกว่าการทำหน้าที่ในเกม ถือเป็นความท้าทาย และเป็นโอกาสให้เขากลายเป็นฮีโร่ของทีม

ขณะที่ เอริก สตีล อดีตโค้ชผู้รักษาประตูของแมนฯยูเสริมว่า กฎปัจจุบันที่บังคับให้นายทวารต้องเหยียบเส้นประตูอย่างน้อยหนึ่งขา โดยมีทั้งผู้ช่วยผู้ตัดสินและ VAR คอยจับจ้องอย่างใกล้ชิด ทำให้จากเดิมสถานการณ์ 50-50 กลายเป็นฝ่ายยิงได้เปรียบ 70-30 และช่วยลดแรงกดดันให้ผู้รักษาประตูไปด้วย

ด้าน แยน เราช์ นักจิตวิทยากีฬาอีกราย หยิบยกสถานการณ์การดวลจุดโทษระหว่าง ฝรั่งเศส กับ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทุกคนยิงไม่พลาด กยกเว้นซุปเปอร์สตาร์แดนน้ำหอม คีเลียน เอ็มบัปเป้ ที่ยิงไปติดเซฟของ ยานน์ ซอมเมอร์ นายทวารสวิส

เราช์บอกว่า จังหวะนั้นคล้ายซอมเมอร์จะหลอกให้เอ็มบัปเป้สับสน ด้วยการขยับไปทางซ้ายของตัวเองนิดหนึ่ง ล่อให้เอ็มบัปเป้ยิงไปอีกทาง แล้วตัวเองก็พุ่งปัดเอาไว้ได้

ตรงนี้เท็จจริงอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่สิ่งหนึ่งที่อธิบายได้แน่นอนคือ เอ็มบัปเป้ไม่มีสมาธิในจังหวะนั้น ถึงหลายคนจะชอบคิดว่าการดวลจุดโทษมีเรื่องดวงเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เราช์บอกว่าไม่จริง นี่คือการดวลกันแบบตัวต่อตัว เป็นเรื่องของความสามารถ ทักษะ และเรื่องใจ

เผลอๆ ข้อหลังนี่แหละที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image