ไขข้อข้องใจ ทำไม ‘ยูโร’ ทำเข้าประตูตัวเองถล่มทลาย?

มัตส์ ฮุมเมลส์ กองหลังเยอรมนี สกัดเข้าประตูตัวเองในนัดแรก (REUTERS/Alexander Hassenstein)

ไขข้อข้องใจ ทำไม ‘ยูโร’ ทำเข้าประตูตัวเองถล่มทลาย?

ศึก ยูโร 2020 มีสถิติใหม่เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่สถิติหนึ่งที่เรียกว่าเหนือกว่าสถิติเดิมอย่างกระจุยกระจาย ต้องยกให้สถิติการทำเข้าประตูตัวเองของผู้เล่นทีมตั้งๆ

ก่อนหน้ายูโรหนนี้จะเปิดฉาก สถิติการทำเข้าประตูตัวเองใน 15 ทัวร์นาเมนต์ของรายการนี้ที่ผ่านมา รวมกันทั้งสิ้น 9 ประตู

การทำเข้าประตูตัวเองครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยูโรเกิดขึ้นเมื่อปี 1976 เมื่อ อันทอน ออนดรุส ของเชกโกสโลวาเกียทำเข้าประตูตัวเองในเกมเตะรอบรองชนะเลิศกับเนเธอร์แลนด์ที่เบลเกรด

กว่าจะมีลูกถัดมาต้องรอถึง 20 ปี ตอนที่ ลูโบสลาฟ เปเนฟ ของบัลแกเรียพลาดทำประตูให้ฝรั่งเศส ส่วนคนสุดท้ายที่ทำประตูตัวเองก่อนทัวร์นาเมนต์ยูโร 2020 คือ แกเร็ธ แม็คออลีย์ ผู้เล่นไอร์แลนด์เหนือ ในยูโร 2016

Advertisement

แต่มาปีนี้ แม้จะเพิ่งเตะรอบก่อนรองชนะเลิศไปเพียงครึ่งทางก็มีการทำเข้าประตูตัวเองไปแล้ว 10 ครั้ง มากกว่าสถิติของยูโร 15 ทัวร์นาเมนต์ก่อนหน้านี้รวมกัน โดยประตูที่สร้างสถิติดังกล่าวคือ จังหวะที่ลูกยิงของ ฆอร์ดี้ อัลบา แฉลบ เดนิส ซากาเรีย ผู้เล่นสวิสเป็นประตูขึ้นนำของสเปน

เดนิส ซากาเรีย ทำเข้าประตูตัวเองรายล่าสุด (REUTERS/Kirill Kudryavtsev)

ก่อนหน้าซากาเรีย มีนักเตะที่ได้รับ “เครดิต” ว่าเป็นคนทำประตูทีมตัวเองแล้ว 9 คน คือ เมอรีห์ เดมิราล, วอยเช็ก เชซส์นี่ย์, มัตส์ ฮุมเมลส์, รูเบน ดิอาส, ราฟาเอล เกร์เรโร่, ลูคัส ฮราเด็คกี้, มาร์ติน ดูบราฟก้า, ยูไรจ์ คุชก้า และ เปดรี้

ไอนิวส์ สื่ออังกฤษ พยายามหาคำตอบว่าทำไมยูโรหนนี้หนเดียวถึงทำสถิติยิงเข้าประตูตัวเองกันถล่มทลายขนาดนี้ โดยถามความเห็นของคนในแวดวงลูกหนังยุโรปหลายคน ดังนี้

Advertisement

จอร์จส์ ลีเคนส์ (อดีตกุนซือทีมชาติเบลเยียม 2 สมัย)

“ยูโรหนนี้ กองหลังโฟกัสที่บอลกันเยอะ แต่ไม่ค่อยใส่ใจสถานการณ์รอบตัวเท่าที่ควร ทำให้เกิดการทำเข้าประตูตัวเองแบบเฟอะฟะหลายครั้ง แต่ก็แสดงให้เห็นว่านักเตะเครียดหรือกดดกันขนาดไหน ทำให้การตัดสินใจในเสี้ยววินาทีไม่ดีพอ

ยูไรจ์ คุชก้า ยืมคุมเส้นแต่กลายเป็นทำบอลเข้าประตูตัวเอง (REUTERS/Julio Munoz)

“ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะกองหลังไม่ค่อยคุยกันด้วยหรือเปล่า อาจจะเป็นปัญหาที่การสื่อสารด้วยส่วนหนึ่ง บางทีพวกเขาอาจจะพยายามเล่นบอลให้เพอร์เฟกต์มากเกินไปจนลืมหลักการง่ายๆ ของการป้องกัน นั่นคือเคลียร์บอลให้ปลอดภัยไว้ก่อน”

เอริก ธอร์เวดต์ (อดีตผู้รักษาประตูท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และทีมชาตินอร์เวย์)

“ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งน่าจะเป็นอาการล้า ขนาดช่วงโปรแกรมแข่งปกติ นักเตะก็ล้ากันอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนต้องลงเตะถี่มาก จึงน่าจะล้ากันพอสมควร

อูไน ซิมอน เดินไปเก็บบอลแบบเซ็งๆ หลังรับลูกส่งคืนหลังของเปดรี้พลาด (REUTERS/Wolfgang Rattay)

“ในฐานะผู้รักษาประตู สิ่งที่เกิดกับอูไน ซิมอน (ในเกมกับโครเอเชีย) เป็นฝันร้ายที่สุด ผมเองก็เคยทำเข้าประตูตัวเองตอนไปเยือนคริสตัล พาเลซ ครั้งนึง ช่วงเวลานั้นจะติดค้างอยู่ในความทรงจำ แต่จังหวะของซิมอน ทางทัวร์นาเมนต์ให้เป็นเปดรี้ทำเข้าประตูตัวเอง เพราะฉะนั้น ซิมอนคงต้องเลี้ยงปลอบใจเขาสักหน่อย”

มาร์ก เบอร์ตัน (อดีตโค้ชอคาเดมีสโมสรบาร์นสลีย์)

“การทำเข้าประตูตัวเองบางลูกในยูโรหนนี้มาจากจังหวะแปลกๆ 2-3 ครั้ง อย่างลูกที่มาร์ติน ดูบราฟก้า นายทวารสโลวาเกีย กระโดดชกบอลเข้าประตูตัวเอง ซึ่งเรื่องแบบนี้บางทีก็เกิดขึ้นได้

“แต่การทำเข้าประตูตัวเองส่วนใหญ่ในยูโรหนนี้เกิดจากการที่ฝ่ายบุกทำเกมจากด้านข้างแล้วเปิดบอลไปยังพื้นที่อันตราย ซึ่งบางครั้งกองหลังก็มีเวลาตัดสินใจไม่มาก อย่างเกมระหว่างโปรตุเกสกับเยอรมนีในรอบแรกที่รูเบน ดิอาส ทำเข้าประตูตัวเอง เพราะจังหวะนั้น โธมัส มุลเลอร์ ของเยอรมนีไม่โดนบอล ดิอาสไม่มีทางเลือกจึงต้องแหย่ขาออกไปหวังสกัด

“ในจังหวะแบบนี้ บางวันเหลี่ยมบอลโดนแล้วข้ามคานออกไป แต่บางวันก็พุ่งเข้าไปตุงตาข่าย นอกจากนี้ยังมองว่า การที่ฟุตบอลยุคนี้พยายามให้ผู้รักษาประตูทำหน้าที่เหมือนกองหลังอีกคนก็มีส่วนทำให้เกิดการทำเข้าประตูตัวเองบ่อยขึ้นเช่นกัน”

มาร์ติน ดูบราฟก้า ปัดลูกเข้าประตูแบบเหลือเชื่อ (Photo by Julio MUNOZ and – / POOL / AFP)

ไทเลอร์ ฮีปส์ (หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และเทคโนโลยีกีฬา สโมสรโมนาโก)

“ถ้าวิเคราะห์การทำเข้าประตูตัวเองแต่ละลูก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่อันตราย อย่างสโมสรโมนาโกเอง เมื่อฤดูกาลก่อนเราทำการวิเคราะห์ข้อมูลว่าประตูส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณไหน และทำประตูกันอย่างไร

“สำหรับยูโรหนนี้ การทำเข้าประตูตัวเอง 4 ลูกเกิดจากการเปิดบอลใกล้เส้นหลัง ยิ่งบอลมาเร็วยิ่งยากต่อการป้องกัน, 2 ลูกมาจากการแฉลบในกรอบเขตโทษ, 2 ลูกจากจังหวะเล่นลูกตั้งเตะ และ 2 ลูกเป็นจังหวะผิดพลาดที่ไม่ค่อยเกิด

“ทีมที่เล่นตั้งรับลึก นักเตะต้องตื่นตัวและทำหน้าที่ป้องกันกันหนักมาก ขณะเดียวกันก็มักจะเพิ่มโอกาสในการเล่นผิดพลาดได้ง่ายในสถานการณ์ที่บีบคั้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นในยูโรหนนี้”

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image