ตามทูตไทยไปเยือนลาว (2)

คณะของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว นำโดยท่านเอกอัครราชทูตเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ ออกเดินทางจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา ในเมืองหงสา แขวงไซยะบุรี มุ่งหน้าต่อไปยังเมืองไซยะบุรี เมืองเอกของแขวงไซยะบุรี เพื่อเยี่ยมชมโครงการใหญ่ระดับเกิน 100,000 ล้านอีกโครงการหนึ่งของนักลงทุนไทย นั่นคือโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เขื่อนไซยะบุรี

ชื่อของเขื่อนไซยะบุรี เป็นที่รู้จักและคุ้นหูมานาน ค่าที่ดูเหมือนจะเป็นโครงการสร้างเขื่อนที่ได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง แต่การก่อสร้างโครงการต้องล่าช้ากว่ากำหนด เพราะมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยา การวางไข่ซึ่งเป็นธรรมชาติของปลาในแม่น้ำโขงที่จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ด้านบน ไปจนถึงการสัญจรทางน้ำ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงหรือกระทั่งเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแบบฝายน้่ำล้น ที่จะไม่มีการกักเก็บน้ำเหมือนเขื่อนทั่วไปที่เรารู้จัก ทำให้ต้องมีการศึกษาและปรับเปลี่ยนแบบเพื่อแก้ไขข้อห่วงกังวลต่างๆ ที่หลายฝ่ายพูดถึง

เยี่ยมชมเขื่อนไซยะบุรี

บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ช.การช่าง จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการผ่านบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ทุ่มงบประมาณเพิ่มลงไปอีก 20,000 ล้านบาท ไปกับการปรับปรุงโครงการก่อสร้างของเขื่อนไซยะบุรี เพื่อตอบสนองข้อห่วงกังวลของทุกฝ่ายดังกล่าว

ออท.ไทยกับรองเจ้าแขวงไซยะบุรี

การก่อสร้างจึงล่าช้าออกไปเป็นปี มีการทำ “ทางปลาผ่าน” เพื่อให้ปลาสามารถอพยพได้ทุกฤดูกาล ทำ “ทางเรือผ่าน” ที่มีช่องพักควบคุมระดับน้ำเพื่อให้การสัญจรทางเรือไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการออกแบบสิ่งต่างๆ ที่ว่ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นองค์ความรู้ที่ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด กระทั่งกังหันที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็เป็นกันหันชนิดแกนตั้งที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ที่ใบพัดจะหมุนช้า และทำให้ปลาที่หลุดเข้าไปยังช่องทางดังกล่าวมีโอกาสรอดมากขึ้น ไปจนถึงการจัดทำระบบที่ช่วยระบายตะกอนในท้องน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

Advertisement
กงสุลสัญจรทำหนังสือเดินทางให้คนไทย

ยิ่งได้ฟังรายละเอียดต่างๆ ของโครงการก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความยากลำบากที่ต้องอาศัยความทุ่มเทของคนทำงาน เพราะขนาดเสาส่งไฟฟ้า 1 ต้น ก็ยังมีน็อตมากถึง 10,000 ตัว บริษัทต้องให้พนักงานเดินตรวจสายส่งทุกต้น ซึ่งทอดยาวตลอดระยะทางกว่า 197 กิโลเมตรกว่า 430 ต้นไปตามทิวเขา งานเพียงเท่านี้ก็ต้องใช้เวลานานและต้องใส่ใจทุกรายละเอียด กว่าที่องค์ประกอบต่างๆ ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจะแล้วเสร็จ

เมื่อได้เห็นเขื่อนไซยะบุรีจากจุดชมโครงการด้านบนก็ตกตะลึงกับความใหญ่โต ยิ่งเมื่อได้ลงไปสำรวจโครงการก่อสร้างในจุดต่างๆ ก็ยิ่งเห็นว่าถึงความยิ่งใหญ่ของเขื่อนแห่งนี้่ ซึ่งมีการใช้ปูนมากถึง 4 ล้านคิวในการก่อสร้าง จนกลายเป็นเขื่อนไซยะบุรีคร่อมแม่น้ำโขงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าแบบฝายน้ำล้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ มีการทำสัญญาซื้อขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 95% และอีก 5% ขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ทั้งนี้คาดว่ากังหันน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าหัวแรกน่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าออกจำหน่ายได้ภายในปลายปี 2561 นี้

Advertisement

นายยันยง สีปะเสิด รองเจ้าแขวงไซยะบุรี ซึ่งได้เดินทางมาร่วมชมเขื่อนไซยะบุรีร่วมกับคณะของสถานเอกอัครราชทูตไทย ได้กล่าวแสดงความชื่นชมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีว่าเป็นโครงการที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาตนได้ทราบถึงข่าวด้านลบที่มีต่อโครงการทั้งจากประชาชนชาวไทยและลาว แต่ผู้บริหารของแขวงไซยะบุรีก็ได้เข้ามาติดตามการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะผลกระทบต่อธรรมชาติและสัตว์น้ำที่มีแหล่งอาศัยบริเวณเขตก่อสร้างเป็นระยะ

รองเจ้าแขวงไซยะบุรียังได้ขอให้เอกอัครราชทูตไทยช่วยชี้แจงความเป็นจริงต่อประชาชนที่ยังมีความเข้าใจผิดต่อโครงการ ทั้งยังบอกด้วยว่าลาวและไทยจะต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีประสบความสำเร็จ อันจะนำไปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าที่ทั้งสองประเทศสามารถใช้ได้ต่อไป

ท่านทูตเกียรติคุณให้สัมภาษณ์หลังเยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสาและโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 100,000 ล้านบาทของคนไทยในลาวว่า ในฐานะที่เป็นคนไทย การได้มาเห็นโครงการขนาดใหญ่ทั้งสองโครงการดังกล่าวทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่การลงทุนของนักธุรกิจไทยประสบความสำเร็จ

ท่านทูตเกียรติคุณกล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ได้มุ่งหวังที่จะดำเนินธุรกิจโดยยึดประโยชน์กับตนเองเพียงฝ่ายเดียว แต่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชนในละแวกที่โรงงานมาตั้งอยู่ และยังทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดคือโครงการลงทุนของคนไทยทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังมีการแนะนำอาชีพ สอนให้ตั้งสหกรณ์ รวมถึงการสอนชาวบ้านให้ปลูกพืช เนื่องจากลาวเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก่อนที่จะมีโครงการเข้ามา

อย่างไรก็ดีหลังจากได้มาเยี่ยมชมโครงการทั้ง 2 โครงการแล้ว ท่านทูตเกียรติคุณมองว่า สิ่งที่ยังอาจไม่ครอบคลุมคือสายส่งไฟฟ้าภายในประเทศลาวเอง ที่จะช่วยให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องมีการส่งไฟฟ้ากลับเข้าไปในไทยก่อนแล้วจึงจะส่งกลับเข้าไปในลาวอีกครั้งทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น และทำให้รู้สึกว่าการซื้อไฟฟ้ากลับไปกลับมีราคาแพงกว่าไฟฟ้าที่ขายมาให้ไทย แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในทางธุรกิจ ดังนั้นหากในอนาคตมีการลงทุนพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ก็จะดึงดูดนักลงทุนและจะทำให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าและมากกว่าสำหรับฝ่ายลาว

ในฐานะเอกอัครราชทูตไทย ท่านทูตเกียรติคุณได้ฝากให้แขวงไซยะบุรีให้ความคุ้มครองดูแลนักลงทุนไทย เท่าที่ได้หารือกัน ทางแขวงก็พอใจกับการลงทุนของคนไทย และเห็นว่าโครงการทั้งสองถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสำหรับโครงการที่คล้ายๆ กันที่จะเกิดขึ้นในลาวต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาและดูแลชุมชนในสังคมที่โครงการไปตั้งอยู่ เพราะการลงทุนของไทยในต่างประเทศควรเป็นการลงทุนเพื่อร่วมกันพัฒนาที่ทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ แม้ว่าจะทำได้ไม่ง่าย แต่ก็จะทำให้การลงทุนนั้นประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ถือโอกาสที่ท่านทูตเกียรติคุณเดินทางมาเยี่ยมชมโครงการขนาดใหญ่ของคนไทยในลาว สถานเอกอัครราชทูตไทยยังได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร เพื่อทำหนังสือเดินทางให้กับคนไทยที่มาทำงานในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไปพร้อมๆ กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image