ตามทูตไทยไปเยือนลาว (จบ)

นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ในฐานะที่คร่ำหวอดในวงการและมีบทบาทต่อเนื่องในสภาธุรกิจไทย-ลาวมายาวนานเกือบ 10 ปี เล่าว่า หากดูภาพรวมทิศทางการลงทุนของคนไทยในลาวเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลลาวได้มีการปรับแก้กฎหมายต่างๆ เมื่อครั้งเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงจนน่าดีใจ ทิศทางของการค้าการลงทุนไปจนถึงการค้าขายชายแดนก็ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทั้งหมดมีส่วนเอื้อกัน

จตุรงค์ บุนนาค

ในส่วนของธุรกิจจุลภาค เมื่อผลประกอบการดีขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี)ของลาวดีขึ้น ธุรกิจทั้งภาคการบริการรวมถึงการอุปโภคบริโภคก็ดีขึ้น ขณะที่ในส่วนมหภาค เงื่อนไขต่างๆตั้งแต่ลาวเข้าเป็นสมาชิกดับเบิลยูทีโอ ก็ทำให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้เอื้อกับการลงทุนมากขึ้นก็มีส่วนช่วยเช่นกัน

 

ปัจจุบันจีนยังครองอันดับหนึ่งของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในลาว โดยเฉพาะเมื่อจีนเข้ามาลงทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ขณะที่ไทยกับเวียดนามสลับกันครองอันดับ 2 และ 3 อย่างไรก็ดีประธานสภาธุรกิจไทย-ลาวมองว่า ยังคงมีโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในลาว ไม่ว่าจากการลงทุนเพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งต้องมีคนงานเข้ามามากกว่า 10,000 คน ขณะที่ในลาวยังมีทรัพยากรบุคคลจำกัด จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะเข้าไปต่อยอดได้ นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจเกี่ยวกับอาหารการกินและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็น่าสนใจเช่นกัน โดยเข้ามาในลักษณะการร่วมทุนกับคนลาว ทั้งนี้รัฐบาลลาวรู้สึกว่าการลงทุนของคนไทยในลาวเป็นการลงทุนที่มีคุณภาพซึ่งเป็นเรื่องน่าดีใจ

Advertisement

เมื่อถามถึงประเด็นที่น่าเป็นห่วง คุณจตุรงค์บอกว่า เป็นเรื่องทัศนคติของนักลงทุนไทยเองว่าเมื่อเข้ามาลงทุนในประเทศที่มีวัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกันมักจะลืมและไม่เข้าใจ ว่าทำไมกฎหมายหรือนโยบายบางอย่างเขาไม่เหมือนกับเรา เราต้องยอมรับและปรับทัศนคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ลาวกำลังมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการพัฒนา นอกจากนี้หากทำธุรกิจในลาวควรต้องจัดหาแหล่งเงินทุนให้ดี หากหวังว่าจะมาหาแหล่งลงทุนในลาวจะลำบาก

ในอดีตคนที่เข้ามาลงทุนในลาวหลายคนมักจะพูดว่า การทำธุรกิจในลาวอาศัยเพียงคอนเน็คชั่นอย่างเดียว แน่นอนว่าคอนเน็คชั่นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องเคารพกฎหมาย หากทำผิดกฏหมายใครก็ช่วยลำบาก อีกทั้งนักธุรกิจจะต้องพยายามศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนที่จะเข้ามาลงทุน เรามีสถานเอกอัครราชทูตไทยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทูตพาณิชย์ สภาธุรกิจไทย-ลาว และสมาคมนักธุรกิจไทยในลาว ที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงหรือให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

เป้าหมายในการเดินทางไปยังแขวงต่างๆ ในสปป.ลาวครั้งแรกหลังรับตำแหน่งของท่านเอกอัครราชทูตเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ นอกจากจะเป็นการเดินทางเพื่อไปดูการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มูลค่าของคนไทยแล้ว ท่านทูตเกียรติคุณ ยังใช้โอกาสนี้เพื่อดูลู่ทางทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในลาวและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีกด้วย

Advertisement

ระหว่างการเดินทางออกจากจังหวัดน่านเข้าไปยังเมืองหงสา แขวงไซยะบุรีของลาว ท่านทูตเกียรติคุณได้ไปรับฟังการบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ที่จุดผ่านแดนห้วยโก๋น ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนสำคัญแห่งหนึ่งระหว่างไทย-ลาว แต่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่รวมถึงการจัดสร้างอาคารสถานที่เพื่อรองรับการเป็นจุดผ่านแดนถวาร เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบในจุดผ่านแดนหลายแห่งตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ท่านทูตเกียรติคุณ กล่าวว่าแขวงไซยะบุรีตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลาวซึ่งติดกับพื้นที่ใน 6 จังหวัดของไทยประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ดังนั้นย่อมมีกิจกรรมทางชายแดนทั้งเรื่องการค้าขายและการผ่านแดนไปมา ทั้งนี้ตลอดแนวชายแดนทั้งหมดมีจุดผ่านแดนถาวรเพียง 2 แห่ง คือที่จ.น่านและจ.อุตรดิตถ์ หลังจากลงไปดูพื้นที่จริงพบว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เรายังไม่สามารถที่จะพัฒนาด่านถาวรห้วยโก๋น เป็นช่องทางสำคัญในการไปมาหาสู่ของสองประเทศ รวมถึงการเดินทางของนักท่องเที่ยวและการบรรทุกสินค้า เพราะยังไม่สามารถพัฒนาด่านให้สมบูรณ์ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ต้องมีการดำเนินการขอใช้ที่ดินเพื่อสร้างด่านและการรวมศูนย์หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียวกัน อีกทั้งภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ไม่มีที่ราบมาก พอขณะที่การใช้ขอใช้ที่ดินก็มีขั้นตอนที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก และแม้จะผ่านขั้นตอนแล้วการก่อสร้างด่านถาวรในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่ราบก็ยังถือเป็นงานที่ท้าทาย

ขณะที่การสร้างด่านถาวรของฝั่งลาวได้รับเงินกู้จากกระทรวงการคลังของไทย ทางลาวได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่การสร้างด่านฝ่ายไทยล่าช้าเพราะมีข้อจำกัดเรื่องระเบียบต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เสียดายโอกาสหากเราไม่สามารถทำด้านถาวรที่มีบริการต่างๆ ครบถ้วนได้แล้วเสร็จ จึงเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องมาหารือกันอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้การพัฒนาด่านชายแดนของไทยทั่วประเทศเสร็จลุล่วงโดยเร็ว ซึ่งการพัฒนาได้เร็วเท่าไหร่ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนทั้งสองฝ่ายได้มากขึ้นเท่านั้น เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องผลักดันกันต่ออย่างจริงจังต่อไป

หลังเดินทางออกจากแขวงไซยะบุรี คณะของสถานเอกอัครราชทูตไทยได้มุ่งหน้าต่อไปยังเมืองหลวงพระบาง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของลาว

หากพูดถึงภาพรวมของเส้นทางในการเดินทางจากจ.น่านของไทยเข้าไปยังเมืองหลวงพระบางของลาวโดยรถยนต์ ถือว่าถนนโดยรวมค่อนข้างใช้การได้ดี แม้ว่าถนนบางส่วนจะไม่ได้ลาดยางทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายย่ำแย่ มีเพียงถนนช่วงที่ออกจากเมืองหงสาตรงเข้าไปยังเมืองไซยะบุรี ที่ถนนอาจมีปัญหาบ้างเนื่องจากรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่าน แต่ถนนจากเมืองไซยะบุรีตรงเข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง มีสภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่สองข้างทางก็เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวสบายตา

จากเมืองไซยะบุรีไปถึงหลวงพระบางใช้เวลาเพียงไม่นาน เราก็เดินทางมาถึงได้โดยง่าย อย่างไรก็ดีทราบว่าทางลาวกำลังพัฒนาสร้างถนนเส้นใหม่จากเมืองหงสาไปยังหลวงพระบาง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ซึ่งจะสามารถลดเวลาการเดินทางลงไปเกือบครึ่งหนึ่งจากปัจจุบันที่ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง เส้นทางดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเส้นทางที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่อยากเดินทางมายังหลวงพระบางอีกเส้นทางหนึ่ง

ที่หลวงพระบาง ท่านทูตเกียรติคุณได้พบกับนักธุรกิจไทยที่มาทำงานในหลวงพระบางกว่า 70 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารมืออาชีพที่เข้ามาบริหารงานโรงแรมที่มีอยู่จำนวนมากในหลวงพระบาง นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่เป็นเจ้าของโรงแรมและเข้ามาลงทุนในการผลิตน้ำประปา

ท่านทูตเกียรติคุณบอกว่า การพบนักธุรกิจไทยที่เข้ามาทำงานในหลวงพระบางสะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้คนไทยไม่เพียงแต่เข้ามาลงทุนในลาว แต่ยังมีความสามารถจนได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาบริหารโรงแรมเป็นจำนวนมาก หลายคนพูดตรงกันว่าหลวงพระบางเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจโรงแรมก็ไปได้ดี การพบปะกันครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวของคนไทยซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีโอกาสบ่อยนัก ทำให้เห็นว่าในอนาคตเครือข่ายคนไทยที่อยู่ในหลวงพระบางกับสถานทูตน่าจะร่วมมือกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป

คณะของสถานทูตไทยยังได้เข้าเยี่ยมคาราวะนายบัวคำ นามมะวง รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง และหารือกับนายสะเวย สีลาวัน หัวหน้าห้องการมรดกโลกหลวงพระบาง ทำให้ได้ทราบถึงข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการรับมือกับความท้าทายในการสร้างสมดุลย์ระหว่างการรักษาวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแส กับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลั่งไหลมายังเมืองหลวงพระบาง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งเมืองเช่นนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

ภารกิจสุดท้ายของการเดินทางในครั้งนี้คือการมอบพื้นศาลาวัดและสื่อการเรียนการสอนให้กับวัดป่าผาโอ แขวงหลวงพระบาง ซึ่งถือเป็นศูนย์การศึกษาเล่าเรียนสำคัญของแขวงหลวงพระบางและแขวงทางภาคเหนือของลาว โดยปัจจุบันมีพระสงฆ์และสามเณรลาวที่มาจากชนเผ่าต่างๆ มาเล่าเรียนถึงกว่า 500 รูป แต่ทางวัดมีสถานที่รองรับการค้างคืนพักแรมไม่เพียงพอ

การมอบพื้นไม้และสื่อการเรียนการสอนครั้งนี้สะท้อนถึงความใกล้ชิดระหว่างไทย-ลาว ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิด แต่ยังมีความผูกพันในฐานะที่เป็นเมืองพุทธเหมือนกันอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image