‘ดอน’ ประชุมทูตไทยในยุโรป เยือนเยอรมนี-ฟินแลนด์

หมายเหตุ “มติชน” นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยในยุโรปรวม 24 แห่ง ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังเดินทางเยือนเยอรมนีและฟินแลนด์อย่างเป็นทางการ “มติชน” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ถึงผลการเยือนยุโรปครั้งที่ 2 และการประชุม ออท.-กสญ.ไทยในยุโรป หลังว่างเว้นการหารือกันมานาน

การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตามปกติเราไม่ค่อยได้จัดประชุมตามภูมิภาคมากนัก แต่ขณะนี้เห็นว่าเป็นจังหวะที่เหมาะ เพราะเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรป (อียู) มีความหลากหลาย และมีประเทศต่างๆ ที่สำคัญอยู่มาก เราไม่ได้วัดความสำคัญที่เงินลงทุนหรือมูลค่าการค้าเท่านั้น แต่ยังพูดถึงความเป็นประเทศในภูมิภาคที่มีความสำคัญกับไทยมาแต่ไหนแต่ไร หลายประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยเกิน 100 ปี

การหารือครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะมาเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ และทิศทางที่จะเดินไปในส่วนของรัฐบาลกับการดำเนินนโยบายในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อที่จะได้มีความเป็นเอกภาพ มีความชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่แค่ต่อไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับประเทศในยุโรปในลักษณะ win-win โดยเฉพาะในวันนี้ที่ไทยกำลังดำเนินนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งถือเป็นเมกะโปรเจคสำคัญ และยังมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 บทบาทของสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ในยุโรปจะเข้ามาเสริมการทำงานได้ เพราะโครงการเหล่านี้ก็ได้รับความสนใจจากต่างประเทศอยู่แล้ว

Advertisement

ขณะเดียวกันอาเซียนยังเป็นเวทีสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์กับยุโรป เพราะมีการติดต่อพูดคุยกันมา 40 กว่าปีแล้ว ต่างฝ่ายต่างเห็นประโยชน์ที่มีอยู่ระหว่างกัน โดยในปีที่ผ่านมาอียูได้เข้าร่วมประชุมในเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(อีเอเอส) เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นศักราชใหม่และแนวปฏิบัติใหม่ที่สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-อียูได้เกิดขึ้นแล้ว

ปัจจุบันเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีชีวิตชีวาและมีอนาคตแห่งการเติบโตสูง เรามีประเทศสำคัญของโลกอยู่ในภูมิภาค ซึ่งมีบทบาททั้งด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงสังคมและวัฒนธรรม เราจึงต้องมองต่อไปข้างหน้าว่าเราจะสามารถทำอะไรร่วมกันกับยุโรปได้ต่อไป

การประชุมทูตจึงเป็นโอกาสที่แต่ละสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่จะต้องไปสร้างความชัดเจนให้กับภารกิจของตนเอง ซึ่งต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะนำเอาภารกิจที่ตั้งเป้าไว้ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีหัวใจคือการบูรณาการภายใต้ผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ ของไทยในต่างประเทศ หรือทีมไทยแลนด์ และยังต้องรวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาชน ชุมชนไทยในต่างประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย ขณะเดียวกันเวลาทำงาน สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ต้องทำงานให้มีทั้งความกว้างและความลึก ต้องลับคมให้เรื่องต่างๆ เกิดประโยชน์เพิ่มเติมให้มากยิ่งขึ้น

สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ต้องไม่เพียงแต่ทำให้เรารับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ แต่ต้องช่วยกันมองถึงสิ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงกลับไปยังประเทศไทยได้ ในลักษณะของการเพิ่มมูลค่าให้กับเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องเดิมที่มีอยู่แล้วหรือเรื่องใหม่ๆ เราเชื่อว่าแต่ละประเทศมีของดีและจุดแข็งที่บางครั้งยังไม่ถูกค้นพบ ซึ่งสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในส่วนที่สามารถเสริมเข้ากับอีอีซีและไทยแลนด์ 4.0 เราจะได้นำจุดแข็งของเขามาเชื่อมกับเรา เพื่อหาช่องทางประสานประโยชน์ทั้งสองฝ่ายให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

ได้มีการประเมินภาพรวมหลังอียูปลดล็อกการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับหรือไม่

พัฒนาการจากวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ที่อียูได้มีมติปลดล็อกการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับจนถึงขณะนี้ ชัดเจนว่าทุกประเทศในอียูเห็นว่าประเทศไทยมีบทบาทในตัวเอง และในฐานะสมาชิกของอาเซียนที่มองข้ามไม่ได้ การมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ใช่ต้องมาเริ่มใหม่ เพราะในความเป็นจริงไทยและอียูยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในด้านวิชาการ เทคโนโลยี การค้า การลงทุน แต่เมื่อปลดล็อกก็ทำให้เวทีต่างๆ เปิดกว้างขึ้น และสร้างความมั่นใจมากยิ่งขึ้นกับผู้ที่เข้ามาลงทุนและมีปฏิสัมพันธ์จากอียู เพราะถือว่านโยบายหลักของอียูได้ปรับใหม่ ดังนั้นเราจึงเห็นโอกาสเพิ่มขึ้น จากการเยือนในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศก็เป็นการเยือนในระดับผู้นำเกิดขึ้นตามมา
เราเข้าใจการดำเนินนโยบายของอียูที่ผ่านมา เพราะเป็นการทำตามกฎเกณฑ์ของเขาว่าอาจมีความแตกต่างกับจังหวะก้าวของเราได้ การฟื้นความสัมพันธ์มันเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานระหว่างกัน

เมื่อพูดถึงประเทศไทยไม่มีเรื่องใดที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะอียูหลายประเทศมีความสัมพันธ์กับไทยมากกว่า 100 ปี ที่ผ่านมาก็เป็นที่รับทราบถึงนโยบายของไทยว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็มีความคงเส้นคงวง ไม่เคยเปลี่ยนโยบาย มีแต่ปรับให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้จะเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลเลือกตั้งก็ดี รัฐบาลรัฐประหารก็ดี ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมจนเป็นที่รับรู้กัน สิ่งที่ชัดเจนในรัฐบาลปัจจุบันคือการวางโรดแมปเพื่อปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก

ครั้งนี้ถือเป็นการเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ของรัฐมนตรีต่างประเทศ ในภาพรวมพอใจกับการเยือนครั้งนี้หรือไม่

ถือเป็นโอกาสที่เราได้มาตอบคำถามในสิ่งที่เขาให้ความสนใจ โดยเขาไม่ได้ติดใจสอบถามอะไร หรือซักไซ้ไล่เลียงเพิ่มเติมจากที่ได้มีการพูดคุยกัน เชื่อว่าเขาเข้าได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา เพราะเขาเฝ้ามองอยู่ จึงได้มีมติให้กลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับไทยทุกระดับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2560 หลังจากอียูปลดล็อกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ที่ผมเดินทางเยือนอิตาลี เบลเยี่ยม และอียูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ตามด้วยการเยือนของท่านนายกรัฐมนตรีที่ประเทศอังกฤษกับฝรั่งเศส และการเยือนของผมครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นและการยอมรับจากประเทศสำคัญในอียู

ทั้งเยอรมนีและฟินแลนด์ได้แสดงความห่วงกังวลในเรื่องใดหรือไม่

ที่พูดตลอดคือเขาหวังว่าเราจะกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักการที่เขาพูดมาแต่เดิม เราไม่ติดใจเพราะเราก็พยายามทำเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็คือการเดินไปข้างหน้าร่วมกันนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image