คอลัมน์ วิเทศวิถี : โอกาสของไทยในยุโรป

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนประเทศเยอรมนีและฟินแลนด์ ก่อนที่จะบินไปประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางที่ประเทศสวีเดน การเดินทางครั้งนี้นับเป็นการเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่ได้เดินทางไปเยือนครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งผลการเยือนก็เป็นที่น่าพอใจไม่ต่างจากครั้งแรก

นับตั้งแต่อียูปลอดล็อกและประเทศฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2560 ความสัมพันธ์ไทย-อียู ก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการเยือนไทยของรัฐมนตรีจากหลายชาติสำคัญของยุโรป ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การเยือนในระดับรัฐมนตรีระหว่างกันหลายกระทรวง แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้เดินทางเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส สองชาติสำคัญของยุโรปอย่างเป็นทางการมาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และอาจจะมีการเดินทางเยือนประเทศในยุโรปอื่นตามมาอีกในอนาคต


แน่นอนว่าในระหว่างการหารือมีการพูดคุยถึงการกลับสู่ประชาธิปไตยของไทย รวมไปถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นเรื่องของค่านิยมและจุดยืนที่ประเทศในยุโรปยึดมั่น แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ถึงกับจะเอามาเป็นเงื่อนไขในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่เช่นนั้นประเทศสำคัญในยุโรปหลายประเทศ คงไม่ตอบรับการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกับที่รัฐมนตรีดอนก็พร้อมที่จะตอบคำถามเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นก็คงไม่เดินทางมาเยือนยุโรปเช่นกัน แถมยังเลือกเดินทางเยือนประเทศที่หลายคนอาจมองว่าเป็นของแข็งเสียด้วยซ้ำ

ระหว่างหารือ ประเด็นสถานการณ์การเมืองในไทยเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายเรื่องที่มีการพูดคุยกัน ขณะที่การพูดคุยในเรื่องอื่นๆ ครอบคลุมทั้งประเด็นความร่วมมือทวิภาคีที่หลากหลาย โครงการเมกะโปรเจคขนาดใหญ่ของรัฐบาล อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และไทยแลนด์ 4.0 ไปจนถึงประเด็นปัญหาในภูมิภาค

Advertisement

แต่ที่ดูจะได้รับความสนใจมากกว่าเรื่องของไทยคือสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะเรื่องโรฮีนจา เพราะไทยถูกมองว่าเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด ซึ่งมีข้อมูลและความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าชาติตะวันตก ทำให้ไม่ว่าจะไปพูดคุยกับประเทศใดในระยะหลัง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ในการเดินทางเยือนยุโรปครั้งนี้ ไทยกลายเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อให้ประเทศต่างๆ มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้รับทราบมุมมองของรัฐบาลเมียนมา รวมถึงช่องทางที่ประเทศต่างๆ จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาต่อไปในอนาคต

แม้จะตกอยู่ท่ามกลางการปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งการดำเนินนโยบายในบางเรื่องบางราวอาจทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมา รวมถึงคำถามเกี่ยวกับหลักการบางประการที่ถือเป็นค่านิยมสำคัญที่ยุโรปยึดถือ อาทิ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ แต่ในภาพรวมแล้วสถานการณ์ต่างๆ ในขณะนี้ถือว่าแทบจะไม่มีปัญหาแล้ว และประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังจะรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า

ท่ามกลางปัญหาที่ประเทศในยุโรปต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเบร็กซิท การต่อต้านผู้อพยพ สงครามการค้า หรือแม้แต่ความร่วมมือภายใต้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต)ระหว่างยุโรปกับสหรัฐที่กำลังมีความตึงเครียดเกิดขึ้น สถานการณ์ในไทยขณะนี้ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่น่าห่วงกังวล หากทุกอย่างเดินหน้าไปตามกรอบเวลาของโรดแมปที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

ความสัมพันธ์ไทย-ยุโรปจะไม่มีประเด็นปัญหา เว้นแต่ว่าเราจะขัดขาตัวเองจนล้มเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image