สัมภาษณ์พิเศษ : สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ออท.ไทยประจำฝรั่งเศส ประเมินภาพรวมสัมพันธ์ไทย-ยุโรป

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

หมายเหตุ“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ “สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว” เอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส ในฐานะเอกอัครราชทูตอาวุโสของไทยในยุโรป หลังการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง เมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการทำงานเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-ยุโรปในภาพรวมว่าเป็นไปในทิศทางใด หลังจากที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้กลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับตั้งแต่เมื่อปลายปี 2560 ที่่ผ่านมา

การประชุมเอกอัครราชทูตไทยในยุโรปและเอเชียกลางเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมทูตรายภูมิภาค หลังจากที่การประชุมเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลกครั้งก่อน เราได้หารือกันเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการต่างประเทศ 5 เอส (Security-Sustainability-Standard-Status-Synergy) โจทย์ของการหารือในครั้งนี้คือจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างไร เมื่อมองจากบริบทปัจจุบันของไทยที่เรากำลังกลับสู่ประชาธิปไตย เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เรามีโครงการขนาดใหญ่มากมาย อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) โครงการไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของไทยในภูมิภาคที่โดดเด่น

ปัจจุบันอียูมีปัญหาภายใน ทำให้เขาต้องมองออกไปหาโอกาสของภูมิภาคในที่ต่างๆ ด้วย ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีภาวะซบเซา ทำให้อาเซียนมีความน่าสนใจขึ้นมา การที่ไทยจะเป็นฐานไปสู่อาเซียนจะต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ประเทศต่างๆ เขาเห็นความสำคัญของเราได้อย่างไร และยังต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุก

งานการทูตในปัจจุบันต้องคิดและทำทุกอย่างเพื่อสื่อภาพของไทยในเรื่องเหล่านี้ นั่นก็คือ การเมืองที่กำลังกลับสู่ประชาธิปไตย โอกาสในเชิงธุรกิจที่ประเทศไทยกำลังกลับคืนมาอีกครั้ง และบทบาทของเราในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรามีบทบาทมากกว่าความเป็นประเทศไทย ทูตไทยในยุโรปจะต้องพูดสิ่งเหล่านี้ออกไป ต้องให้ยุโรปเห็นว่าไทยกำลังขับเคลื่อนและมีความก้าวหน้าอย่างไร

Advertisement

2 ปีที่ผ่านมา การทำงานของเราในยุโรปเป็นการชี้แจง ตั้งรับ ขณะนี้ต้องสื่อสารออกไป ทุกคนต้องพูดในทิศทางเดียวกันโดยกระทรวงต้องป้อนข้อมูลให้

เราไม่ได้พูดถึงเพียงแค่การประสานงานกับภาครัฐของประเทศต่างๆ เท่านั้น แต่ยังต้องสร้างกลุ่มพันธมิตรของเราที่มีความเข้าใจและช่วยออกไปพูดให้เรา นอกจากนี้ในยุโรป รัฐสภา และองค์กรไม่แสวงผลกำไร(เอ็นจีโอ) ก็มีความสำคัญ เราต้องทำงานร่วมกับพวกเขาด้วย

ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเราให้เดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย เราต้องสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของเรากับอียู มีการผลักดันการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อียู ปัจจุบันไทยเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่สำคัญของอียูในภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป(อาเซม) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่จะใช้ในการทำงานร่วมกันต่อไป

Advertisement

ในส่วนของการดำเนินงานรายประเทศ เราต้องทำงานแบบมีเข็มทิศ จะกระจัดกระจายไม่ได้ เราต้องดูว่าประเทศใดที่จะมีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนกับเรา ประเทศใดเป็นประเทศที่มีน้ำหนักในอียู ประเทศใดเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับไทยและมีโอกาสที่จะขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น และประเทศใดเป็นประเทศที่มีความสนใจในภูมิภาคของเรา

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะมุ่งเน้นแต่ประเทศใหญ่ เพราะบางประเทศอาจมีศักยภาพในด้านใดด้านหนึ่ง เราอาจจะแยกกลุ่มประเทศออกมาเป็นประเทศในกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบครอบคลุมรอบด้านที่จะต้องให้ความสนใจ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี ออสเตรีย สเปน และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการลงทุนในไทยมาก และประเทศที่มีความร่วมมือระหว่างกันเป็นด้านๆ ก่อนที่จะมาดูเข็มทิศว่าเราจะทำอะไรร่วมกันกับประเทศเหล่านี้ต่อไป และอาจการมีการทำแผนปฏิบัติการกับประเทศที่สำคัญ โดยดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเข้ามาร่วมทำงานกับเราในกลุ่มเหล่านี้

ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการทำงานของเอกอัครราชทูตไทยในยุโรปคือการสร้างเครือข่าย สื่อข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ โดยกระทรวงต้องป้อนข้อมูลต่างๆ ให้สถานทูตสามารถเอาไปใช้ได้ ทุกคนต้องพูดให้ตรงกัน ที่สำคัญที่สุดคือต้องรับช่วงต่อให้ได้ เพราะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้องมาจากทั้งสองส่วนคือภายในและภายนอกประเทศควบคู่กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image