สัมภาษณ์พิเศษ 2 ทูตไทยมองทิศทางสัมพันธ์ ไทย-อังกฤษ-อียู

หมายเหตุ – “มติชน” สัมภาษณ์เอกอัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ และเอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียมและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป(อียู) ถึงทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษและอียู หลังปลดล็อความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับมาได้ระยะหนึ่งว่ามีพัฒนาการที่น่าสนใจอย่างไร

มนัสวี ศรีโสดาพล
เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียม และสหภาพยุโรป

หลังวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ที่สหภาพยุโรป(อียู) มีมติปลดล็อคการดำเนินความสัมพันธ์เต็มรูปแบบกับไทย จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนหลายประเทศในอียู ตามด้วยการเยือนอังกฤษและฝรั่งเศสของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองประเทศถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในอียู

การเดินทางมาเยือนของท่านนายกรัฐมนตรีเป็นการเชิญชวนนักลงทุนจากอียูให้มาลงทุนในไทยในระดับที่สูงที่สุด จากในอดีตที่เป็นเพียงเอกอัครราชทูตและสถาบันต่างๆ ของไทย ซึ่งฝ่ายอียูแสดงความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เพราะถือเป็นโอกาสที่ฝ่ายการเมืองของเราสามารถไปอธิบายยุทธศาสตร์อีอีซีว่ามีความสำคัญอย่างไร การลงทุนดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเชื่อมโยงถึงเพื่อนบ้านในอาเซียนและจีนรวมถึงเอเชียโดยรวมได้อย่างไร เมื่อฝ่ายการเมืองมาชี้แจง ก็มีน้ำหนักมากขึ้นและสามารถดึงนักธุรกิจรายใหญ่ให้มาร่วมรับฟังและรับรู้โครงการพัฒนาที่เป็นเมกกะโปรเจคของไทยได้

Advertisement

นับตั้งแต่อียูปลดล็อคไทยมีการเยือนระดับรัฐมนตรีระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งสามารถหาหรือกันได้ทุกเรื่อง รวมถึงรัฐมนตรีรายสาขาที่เน้นเฉพาะทาง ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องดี โดยการเยือนที่เกิดขึ้นมีทั้ง 2 ทาง คือจากไทยไปอียู และฝ่ายอียูมาเยือนไทย

ขณะที่ประเด็นการสนทนาก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การจะมีการเลือกตั้งเหมือนเช่นในสมัยก่อน แต่เป็นการหารือแบบครอบจักรวาลในทุกมิติ ซึ่งเป็นที่มาของการประชุมเอกอัครราชทูตไทยประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางกับท่านรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งมีการเชื่อมโยงการปฏิรูปประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี กับยุทธศาสตร์การทำงานขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าเราจะทำงานกับอียูต่อไปอย่างไร

นอกจากนี้มีการพูดคุยกันว่ายุโรปถือเป็นหุ้นส่วนของไทยในหลายหลายเรื่องที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของเรา โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดมาตรฐานและการพัฒนาที่ยั่งยืน

Advertisement

สิ่งที่เราทำกับอียูไม่ว่าจะเป็นเรื่องประมง ป่าไม้ หรือแรงงาน ก็ล้วนแต่เป็นการยกระดับมาตรฐานของไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความยังยืนในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทย ความยั่งยืนในการทำประมง และความยั่งยืนของการรักษาทรัพยากรทางทะเลและป่าไม้ การยกมาตรฐานดังกล่าวยังรวมถึงการที่อียูเป็นหุ้นส่วนที่คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำกับไทย อาทิ เรื่องความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนอีกด้วย

เราต้องมองว่าอียูไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์เพื่อให้เราทำตาม แต่เป็นการช่วยยกระดับกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้เกินไปกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ การยกระดับมาตรฐานของเราจะทำให้เกิดมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ ซึ่งสอดรับกันทั้งหมดและเป็นผลดีกับไทยเอง

ที่ประชุมทูตมองไปในทิศทางเดียวกันว่าอียูสามารถเป็นหุ้นส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ของเราได้ในขณะที่อียูก็มองไทยว่าจะสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้ด้วย จากนี้เป็นหน้าที่ของทูตที่จะต้องไปดูแลความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและอียูว่าจะมีองค์ประกอบในด้านใดเพิ่มเติมได้บ้าง เบื้องต้นเห็นว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ เป็นสาขาที่เราสามารถร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนกับอียูได้

ปัจจุบันอียูสนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งไทยสามารถใช้จังหวะที่เราจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าเพื่อทำงานในเรื่องนี้ต่อไป หลังจากที่ 3 ปีที่ผ่านมาที่ไทยรับหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียู ซึ่งทำให้อียูมองว่าไทยมีบทบาทสำคัญ นอกจากนี้ไทยยังมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศเพื่อนบ้านและมีผลประโยชน์ที่ต้องการจะเห็นประเทศเพื่อนบ้านมีความก้าวหน้าและพัฒนาต่อไป จึงมีความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบอนุภูมิภาค ซึ่งเราสามารถดึงอียูให้เข้ามาเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาได้

เรื่องที่อียูความเป็นห่วงเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เขาต้องพูดอยู่แล้ว เพราะประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของหลักการสำหรับเขา แม้แต่ในประเทศสมาชิก อียูก็มีการกดดันกันเองในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เพราะเป็นค่านิยมที่เขายึดถือ

พิษณุ สุวรรณะชฎ
เอกอัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ

ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างกันกลับสู่ภาวะปกติเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเยือนของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดหน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ

สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือทำให้คนทั้งสองฝ่ายเห็นกันและกันมากขึ้น(visibility) ต้องมีความตระหนักรู้(awareness) ว่าเราจำเป็นต้องร่วมมือกันแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ภารกิจของสถานทูตจะยึดโยง 2 เรื่องนี้เป็นหลัก

แต่ละปีมีคนอังกฤษถึง 1 ล้านคนเดินทางไปเยือนไทย ดังนั้นเขารู้จักเรา แต่จะทำอย่างไรให้เขารู้ไม่ใช่แค่เรื่องท่องเที่ยว แต่ต้องรู้ด้วยว่าเรามีอะไรดี อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) และไทยแลนด์ 4.0

ขณะที่คนไทยมาอังกฤษปีละ 200,000 คน ก็ควรต้องรู้เรื่องเบร็กซิท รู้ว่าอังกฤษเป็นเจ้าแห่งฟินเทคของโลก มีวิทยาการต่างๆ ที่ไทยสามารถเรียนรู้จากเขาได้ สถานทูตต้องทำ 2 สิ่งนี้ในภาวะที่ความสัมพันธ์กลับเข้าสู่สภาพปกติ

หากเราเห็นกันและกันมากขึ้น และมีความตระหนักรู้ซึ่งกันและกัน ทุกอย่างก็จะหมุนไปได้เอง

ปัญหาเบร็กซิททำให้อังกฤษหันมาสนใจแต่เรื่องภายในประเทศมากขึ้นหรือไม่

ในช่วงแรกอังกฤษอาจพุ่งความสนใจไปที่เบร็กซิทมาก สังคมอังกฤษค่อนข้างวิตกกังวลกับอนาคต ประกอบกับช่วงนั้นถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่เข้มข้น แต่ก็เหมือนทุกสังคมอังกฤษมีฝ่ายการเมืองดูแลนโยบาย ขณะที่ เอกชนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ภาคเอกชนของเขารู้ดีและเห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอาเซียนขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือว่ามีความสำคัญ เมื่อความสัมพันธ์กลับสู่สภาวะปกติเขาก็มีแรงกดดันจากภาคเอกชนไปยังรัฐบาล ซึ่งเป็นที่มาของการนำไปสู่การเยือนของท่านนายกรัฐมนตรีที่นำความสัมพันธ์ให้กับสู่สภาวะปกติ

หลังจากนี้เชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายจะชัดเจนมากขึ้น ทุกวันนี้แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เร่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเทศของเราให้มากขึ้น อาเซียนทุกประเทศก็ทำเช่นกัน แต่ความสำคัญทางยุทธศาสตร์และสถานะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยถือว่ามีแต้มต่อ และมีตัวชี้วัดหลายตัวซึ่งชี้ให้เห็นว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับไทยและสนใจความเป็นมาเป็นไปของเราเช่นกัน

อังกฤษมีกองทุนสนับสนุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ของอังกฤษให้ไปทำธุรกิจทั่วโลก เงินที่อยู่ภายใต้กองทุนดังกล่าวมี 55 พันล้านปอนด์ เขาตั้งงบประมาณ 22 พันล้านปอนด์ให้กับ 10 ประเทศในอาเซียน ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งที่เขาให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในจำนวนนี้ 4.5 พันล้านปอนด์ให้กับไทย ซึ่งยิ่งทำให้เห็นว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับไทย

นี่เป็นเพียงตัวชี้วัดเล็กๆ อันหนึ่งที่ทำให้เห็นความสำคัญที่อังกฤษให้กับเรา โดยเงินที่รัฐบาลอังกฤษให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีของเขาจากเข้าไปลงทุนในทุกภาคส่วนของไทย ทั้งในไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี ขณะที่ปัจจุบันเงินลงทุนของอังกฤษในไทยก็มีอยู่เยอะมากอยู่แล้ว อาทิ จาร์ดีนแมธทีสัน และเทสโก้โลตัส หลังจากนี้เราจะได้เห็นการลงทุนของอังกฤษในไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก

ขณะที่ในระหว่างการเดินทางเยือนของท่านนายกรัฐมนตรี สิ่งที่ผู้นำทั้งสองหยิบยกมาหารือกันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประเด็นทวิภาคีของสองประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนและเรื่องที่สำคัญต่างๆในภูมิภาค อาทิ ความมั่นคงในรูปแบบใหม่และเรื่องที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่านับแต่นี้ไปความสัมพันธ์และไทยอังกฤษมีแต่จะก้าวหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image