คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ในวันที่เศษสตางค์ถูกมองข้าม

บลูมเบิร์ก

นับจากการทำธุรกรรมทางการเงินบนปลายนิ้วที่ให้ความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผ่านบริการอี-แบงค์กิ้ง บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือการชำระเงินผ่านแอพพ์ทางโทรศัพท์มือถือ นั่นทำให้คนเราตอนนี้ไม่จำเป็นต้องแตะเงินสดกันมากขึ้น

แนวโน้มนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การหมุนเวียนในระบบของเหรียญเงินเยน สกุลเงินญี่ปุ่น ที่เป็นเหรียญมูลค่า 1 เยน ลดลงไปมาก เพราะผู้คนเลือกหันไปชำระเงินด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่เงินสดมากขึ้นแทน จนเป็นผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดผลิตเหรียญเงินใหม่มูลค่า 1 เยนไปในหลายช่วงเวลา พร้อมกับการเก็บเหรียญเงินที่ชำรุดเสียหายออกไปจากระบบ

ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระบุว่า จำนวนเหรียญ มูลค่า 1 เยน ที่มีการใช้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2560 มีอยู่ที่ 37,800 ล้านเหรียญ โดยมีจำนวนลดลงไปราว 8 เปอร์เซ็นต์จากในปี 2545 ที่เหรียญ 1 เยนมีใช้อยู่ในระบบมากที่สุดคือ 41,000 ล้านเหรียญ

ในทางกลับกันผลสำรวจของบีโอเจยังพบว่าการชำระหนี้ชำระเงินกันในช่วงปี 2559 ยังเป็นการชำระด้วย อี-มันนี (e-money) หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านเยนในระบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึง 7 เท่า!

Advertisement

เหรียญมูลค่า 1 เยน ซึ่งเป็นเหรียญที่มีค่าน้อยที่สุดของสกุลเงินเยนญี่ปุ่น ทำจากอลูมิเนียมน้ำหนักเบา ใช้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่เหรียญละ 3 เยน มีการใช้อย่างมากเมื่อญี่ปุ่นเริ่มมีการเก็บภาษีการบริโภค 3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2532 นั่นทำให้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นต้องปั๊มเหรียญ 1 เยน ป้อนเข้าสู่ระบบมากกว่า 2,000 ล้านเหรียญในแต่ละปี เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจากปี 2531 ภายใต้ความคาดหวังว่าดีมานด์เหรียญ 1 เยนในระบบจะมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2534 เหรียญ 1 เยนมีใช้หมุนเวียนในระบบมากกว่า 35,000 ล้านเหรียญ จากที่ในปี 2528 มีอยู่ในระบบ 24,600 ล้านเหรียญ

ทว่าปริมาณความต้องการใช้เหรียญ 1 เยน เริ่มลดลงเรื่อยๆหลังจากอัตราภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นถูกปรับเพิ่มเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2540 จนในช่วงปี 2554-2556 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้ยุติการผลิตเหรียญ 1 เยนใหม่ โดยเพียงจำกัดการผลิตเหรียญ 1 เยน ไว้ที่ราว 500,000-700,000 เหรียญ เพื่อให้นักสะสมได้เก็บสะสมไว้เท่านั้น

ในปี 2557 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นกลับมาเริ่มผลิตเหรียญ 1 เยนอีกครั้งเมื่อมีการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ความต้องการใช้เหรียญ 1 เยน ยังคงลดลงไปเรื่อยๆ ผลจากความนิยมใช้ช่องทางการชำระเงินชำระหนี้ด้วยวิธีการต่างๆที่ไม่ต้องใช้เงินสดกันอย่างแพร่หลาย จนส่งผลให้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นยุติการผลิตเหรียญ 1 เยนลงอีกครั้งในปี 2559

Advertisement

มีการคาดการณ์กันว่าหากในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการบริโภคขึ้นไปอีกที่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างรวมถึงสินค้าอาหารอาจจะยังถูกเก็บที่อัตรา 8 เปอร์เซ็นต์ต่อไปก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าความต้องการใช้เหรียญ 1 เยนในการใช้จ่ายและการแลกเปลี่ยนก็น่าจะลดลงไปเรื่อยๆอย่างแน่นอน

ที่ญี่ปุ่นก็อาจจะเดินไปถึงวันที่เหรียญ 1 เยน หายไปจากระบบในที่สุด โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างโดยไม่ต้องใช้เงินสด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image