‘เสข วรรณเมธี’ ทูตไทยประจำยูเอ็น แจงประเด็นนักปกป้องสิทธิฯไทย

หมายเหตุ – “มติชน” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานของนายแอนดรู กิลมอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการยูเอ็นด้านสิทธิมนุษยชน และชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนของไทย ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ

นายแอนดรู กิลมอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ด้านสิทธิมนุษยชน ได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมรายงาน “ความร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น” โดยได้มานำเสนอรายงานดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน(เอชอาร์ซี)แห่งยูเอ็น สมัยที่ 39 ที่นครเจนีวา ในวันที่ 19 กันยายน โดยเนื้อหาของรายงานเป็นการนำเสนอภาพรวมของความร่วมมือและแสดงความห่วงกังวลต่อปัญหาการโต้ตอบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นรายงานนี้ไม่ใช่เรื่องของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยรวม

นายกิลมอร์ได้ยอมรับก่อนการนำเสนอรายงานว่ารายงานดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมภาพรวมทั้งหมดของการตอบโต้ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่จะได้จากประเทศที่ภาคประชาสังคมยังมีความแข็งขัน ในขณะที่ประเทศที่ปิดกั้นภาคประชาสังคม ก็จะไม่มีการส่งข้อมูลให้กับทางสำนักงานของนายกิลมอร์ หรือไม่ก็ไม่สามารถส่งข้อมูลให้กับกลไกพิเศษของยูเอ็นได้ ดังนั้นจึงเป็นการทำรายงานบนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับมา เขาไม่สามารถที่จะนำข้อมูลของทุกประเทศมาใส่ไว้ในรายงานฉบับนี้ได้

ในการนำเสนอรายงานนายกิลมอร์ไม่ได้พูดถึงประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ และไม่ได้หยิบยกเรื่องของประเทศไทยขึ้นมากล่าวถึงแต่อย่างใด แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งใน 38 ประเทศที่มีการพาดพิงถึงในรายงานดังกล่าวก็ตาม

Advertisement

หลังการนำเสนอรายงานโดยนายกิลมอร์ มีการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ได้แสดงความเห็น ซึ่งผมได้ชี้แจงต่อที่ประชุมใน 3 ประเด็น ประเด็นแรกผมได้บอกว่า แม้รายงานดังกล่าวจะมีประโยชน์ในการช่วยแจ้งเตือนแก่รัฐ อย่างไรก็ดีกรณีที่มีการพาดพิงถึงไทยแสดงให้เห็นว่ารายงานยังมีข้อบกพร่องของการรวบรวมข้อมูล และมีการด่วนสรุปโดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน ในกรณีของบุคคลที่อยู่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นคดีใหม่ที่ปรากฎในรายงานนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ได้เป็นการตอบโต้การที่บุคคลทั้งสองได้ร่วมมือกับกลไลด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น

ประการต่อมา เราได้ย้ำถึงท่าทีของไทยที่มีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างเต็มที่กับกลไกของยูเอ็น ที่ผ่านมารัฐบาลได้เชิญคณะทํางานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของยูเอ็น (UN Working Group on Business and Human Rights – WG on BHR) ให้มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 4 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการของกลไกพิเศษภายใต้ยูเอ็นอีกหลายอาณัติ อาทิ ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็น และผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา อีกทั้งยังเปิดให้ผู้เสนอรายงานเหล่านี้ได้พบปะหารือกับผู้แทนภาคประชาสังคมอย่างเสรีในช่วงที่เดินทางเยือนประเทศไทย

ประการสุดท้าย ได้พูดถึงการดำเนินการของรัฐบาลที่พยายามสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เช่น การร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงเทพ ในการจัดทำคู่มือเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อออกมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังบรรจุเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562-2566

Advertisement

มีประเทศที่ร่วมชี้แจงในเวทีดังกล่าวเกือบ 50 ประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าประเทศที่ถูกพาดพิงทั้ง 38 ประเทศจะขึ้นชี้แจง บางประเทศไม่ส่งคนมาร่วมรับฟังการเสนอรายงานดังกล่าว ขณะที่บางประเทศ อาทิ ชาติตะวันตก ก็พูดสนับสนุนการทำงานของนายกิลมอร์ บางประเทศเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีรายงานนี้ แต่วิธีการในการจัดทำรายงานไม่ครอบคลุม ด่วนสรุป และมีข้อมูลที่ผิดพลาดหลายประการ หลายประเทศที่ถูกพาดพิงถึงก็ตั้งคำถามว่าได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องของข้อมูลหรือไม่ เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรายงาน

นายกิลมอร์พูดในเชิงวิชาการถึงสิ่งที่เขาเป็นห่วงเพราะเห็นว่ากรณีและคดีต่างๆ มีเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยแนวโน้มสำคัญของการโต้ตอบที่เพิ่มขึ้นมี 3 ประการหลัก ประการแรกคือการใช้ข้ออ้างเรื่องการปราบปรามการก่อการร้ายและการกล่าวหาบุคคลนั้นๆ ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย หรือไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ประการต่อมาคือการใช้มาตรการทางกฎหมาย การเมือง การบริหาร รวมทั้งใช้มาตรการแบบเลือกปฏิบัติ เช่น มีมาตรการจำกัดเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศที่ให้แก่องค์กรภาคประชาสังคม และประการสุดท้าย คือการจำกัดการให้การรับรองตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้เข้าร่วมการประชุมของยูเอ็นได้ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มสำคัญที่เขาสังเกตุเห็นจากการรวมรวมข้อมูลในปีนี้

ในความเป็นจริง คนที่รับผิดชอบในการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ คือนางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และอดีตประธานาธิบดีชิลี 2 สมัย ซึ่งในการเปิดประชุมยูเอ็นเอชอาร์ซีเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา เขาไม่ได้พาดพิงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยเลย ดังนั้นในภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยไม่ได้ตกเป็นเป้า ส่วนรายงานฉบับดังกล่าวก็เป็นการพูดถึงเฉพาะผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา นางบาเชเลต์ได้พบกับเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรประจำยูเอ็นจากชาติสมาชิกในเอเชีย-แปซิฟิก ผมได้พูดให้เขาทราบว่า หน่วยงานของยูเอ็นที่เจนีวาเปรียบเสมือนบ้านของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น แต่การทำงานเรื่องนี้ก็มีบางเรื่องอยู่ที่สำนักเลขาธิการยูเอ็นที่นิวยอร์ก รวมถึงในองค์กรอื่นๆ ดังนั้นข้าหลวงใหญ่ฯ ต้องประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เพราะปัญหาที่พบในรายงานของนายกิลมอร์แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีการประสานข้อมูลกัน เพราะข้อมูลความคืบหน้าต่างๆ ได้มีการส่งให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ผู้เสนอรายงานพิเศษของยูเอ็นหรือกลไกประจำอนุสัญญาไปแล้ว แต่ไม่มีการแจ้งข้อมูลล่าสุดให้สำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์กรับทราบ ดังนั้นเมื่อรัฐภาคีส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานของยูเอ็นที่เจนีวา ก็ควรต้องมีการส่งข้อมูลให้หน่วยงานของยูเอ็นทุกที่รับทราบ จะได้ไม่เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image