คอลัมน์ วิเทศวิถี : จริงหรือที่ ‘ยูเอ็น’ จับตาปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยได้กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการระบุในรายงานประจำปีของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 38 ประเทศที่มีการพาดพิงถึงในรายงานดังกล่าว จนนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องไปพูดชี้แจงข้อเท็จจริงในมุมมองของไทยถึงความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่ปรากฎในรายงานดังกล่าว

หากติดตามเนื้อหาของรายงานในรายละเอียดก็จะเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ปรากฎในรายงานนี้ไม่ใช่การตำหนิภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย แต่เป็นการพูดถึงการทำงานของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ว่าประสบปัญหาอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าการถูกข่มขู่คุกคามภายใต้การดำเนินมาตรการต่างๆ เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการระบุถึง ซึ่งเป็นภาพรวมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ในรายละเอียดของแต่ละประเทศก็จะมีการอ้างอิงข้อมูลจากที่ทางยูเอ็นได้รับจากองค์กรสิทธิมนุษยชหรือผู้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ เป็นหลัก

กระทั่งนายแอนดรู กิลมอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการยูเอ็น ซึ่งเป็นผู้นำเสนอรายงานดังกล่าวก็ยังยอมรับว่า เนื้อหาที่ปรากฎในรายงานนั้นไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะยูเอ็นมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้นข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่จะมาจากประเทศที่องค์กรสิทธิมนุษยชนมีความเข้มแข็งเท่านั้น

Advertisement

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายประเทศที่มีการกระทำที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ถูกระบุถึงในรายงาน ยกตัวอย่างง่ายๆ แม้แต่ประเทศเกาหลีเหนือ ก็ไม่อยู่ในรายงานของนายกิลมอร์เช่นกัน และย่อมต้องส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรายงานในระดับหนึ่ง

หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ต้องยอมรับว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นที่จับตามองของเวทีระหว่างประเทศมากนัก ตรงข้ามกับกรณีโรฮีนจาในเมียนมา เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงพูดคุยในเวทีประชุมปีนี้อย่างกว้างขวาง ถึงขนาดที่มีการจัดเวทีเพื่อการรับฟังข้อมูลและถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันเป็นการเฉพาะ ขณะที่กรณีวิสามัญฆาตกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดในฟิลิปปินส์ยังถูกจับตามองมากกว่าเรื่องในประเทศไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะดำรงตนอยู่บนความประมาทได้ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การดำเนินงานของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศได้รับการรับรองว่าจะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น แต่ด้วยเหตุที่ไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร จะน้อยจะมาก คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ยังเป็นของแสลงสำหรับรัฐบาลอยู่ในระดับหนึ่ง

Advertisement

สิ่งใดที่ทำมาแล้วและเป็นเรื่องดี รัฐบาลก็ต้องเดินหน้าทำต่อไป สิ่งใดที่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เราก็ต้องเร่งทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image