‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ กับผลเยือนอาเซมที่ดีที่สุด

หมายเหตุ “มติชน” – นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับผลสำเร็จของการเดินทางเพื่อไปร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป(อาเซม) ครั้งที่ 12 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม

ดอน ปรมัตถ์วินัย (แฟ้มภาพ)

การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป(อาเซม)เป็นการประชุมที่มีผู้นำที่สำคัญทั้งฝ่ายเอเชียและยุโรปมาหารือพร้อมกัน จนเป็นที่ปรากฎให้เห็นชัดเจนว่าทั้งสองภูมิภาคสามารถเชื่อมโยงกันได้ เพราะมีผลประโยชน์ผูกพัน มีเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกันได้ สิ่งที่เห็นร่วมกันชัดเจนคือการสนับสนุนความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและระหว่างภูมิภาค

การประชุมครั้งนี้ถือว่าที่ดีที่สุดในการประชุมผู้นำอาเซมที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเข้าร่วม ตั้งแต่ครั้งแรกที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย และที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมในปีนี้ ฝ่ายไทยก็ไม่ได้เพียงแต่ไปพูดหรือแสดงความเห็นในเวทีต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่เรายังมีข้อเสนอในเชิงสร้างสรรค์ว่าเราพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยความยั่งยืนทางทะเล(Maritime Sustainability) เพราะหลังจากที่ไทยทำเรื่องการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู)อยู่ ซึ่งเรื่องนี้โยงไปถึงความยั่งยืนของการจับปลาและการทำประมงที่เราจำเป็นต้องคิดไม่ใช่แค่เรื่องการจับปลาอย่างเดียว

ประเทศไทยเรามีประสบการณ์แล้วจากการทำงานเรื่องไอยูยู เรารับรู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ จึงเสนอตัวที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชดังกล่าวในกรอบของการสร้างความยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ถือเป็นคาถาสำคัญระดับโลก ไม่วาจะในกรอบสหประชาชาติ(ยูเอ็น)และในประเทศต่างๆ หลายประเทศก็ให้ความสำคัญ รัฐบาลไทยก็มีคำขวัญว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ฉะนั้นเวทีอาเซม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเอเชีย-ยุโรป สามารถทำได้อยู่แล้ว ตั้งแต่การจัดเวิร์กช็อป และการพบปะผู้แทนระดับสูง

Advertisement

สิ่งที่ไทยเสนอทำให้เกิดความเข้าใจจากผู้รับฟังว่าเราไม่ได้เป็นประเทศที่เอาแต่พูด แต่เรายังลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องเหล่านี้ การจัดประชุมก็เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง แต่ถ้านำผลของการประชุมไปปฏิบัติก็จะยิ่งเกิดผล ไทยไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่เรามีบทบาทสร้างสรรค์ต่อประชาคมระหว่างประเทศด้วย

เมื่อพูดถึงท้องทะเล มันเป็นอีกอาณาเขตหนึ่ง ที่เรามักลืมไปว่าความกว้างใหญ่ไพศาลของโลกอยู่ในทะเล มหาสมุทร ซึ่งขณะนี้โลกเดินไปสู่เรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว สมัยก่อนประเทศที่พัฒนาแล้วจะไปมิติอวกาศ ประเทศกำลังพัฒนาจะเล่นทางบกอยู่ตลอด แต่ขณะนี้กำลังพูดถึงด้านมหาสมุทร น้ำ เรือ ต้องไม่ลืมว่าในอาเซียน เราเป็นประเทศที่อยู่ในมหาสมุทรและท้องทะเลเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ล้วนเป็นประเทศเกาะ อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในแผ่นดินใหญ่ เราให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเรื่องท้องทะเลในมหาสมุทร ความร่วมมือในบริบทที่ท่านนายกฯนำเสนอต่อที่ประชุมที่เป็นแนวใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นความสนใจของโลก และเราก็เห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้

ความเชื่อมโยงทั้งหลายที่้เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ของเราเรื่องไอยูยู แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับนานาประเทศก็มีคุณค่าในตัว เรานำประสบการณ์นี้มาใช้ ทำให้คุณค่าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองภูมิภาคเสมือนไร้รอยต่อ ทำได้ต่อเนื่องต่อไป สิ่งที่ทำเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เขาจะได้ประสบการณ์ของเราที่จะเป็นผู้นำเสนอการประชุมดังกล่าวนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าจะมีคนที่สามารถมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมาก องค์ความรู้และนวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อไปค่อนข้างมาก เรื่องนี้อย่างน้อยทำให้เราเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างยุโรปกับเอเชีย และเข้ากันได้ดีกับบทบาทของเราในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า และที่เราทำในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(แอคเมคส์) ก็มีประเทศที่เสนอตัวมาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของเราในกรอบแอคเมคส์ โดยประเทศต่างๆ ก็เอาเรื่องที่เขาสนใจมาเชื่อมโยงด้วย
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดคุยกันคือเรื่องพหุภาคีนิยม ซึ่งถือเป็นกฎเกณฑ์ที่คอยกำหนดบทบาทของนานาประเทศและการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อโลกและภูมิภาค ท่านนายกฯได้พูดถึงหลักการในการแก้ไขปัญหาว่าต้องตั้งอยู่บนหลัก 3 เอ็ม คือ ความไว้ใจซึ่งกันและกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

Advertisement

พร้อมกันนี้ ท่านนายกฯยังได้พูดและนำเสนอให้เห็นถึงเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเกิด เพื่อให้สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่มันกิดขึ้นในยุคโลกดิจิตอล ซึ่งในบริบทนี้ท่านนายกฯ เสนอการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อความเชื่อมโยงด้านดิจิตอลและเทคโนโลยีในภายหน้า ซึ่งจะเป็นการต่อยอดด้านความยั่งยืน

การประชุมอาเซมครั้งนี้มันมีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เข้ากับเหตุการณ์ได้ดี นอกจากนี้ยังมีการประชุมผู้นำอาเซียน-อียู โดยในฝ่ายอาเซียนผู้เข้าร่วมประชุมมีสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานปัจจุบัน และไทย ในฐานะประเทศที่กำลังจะรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า และเลขาธิการอาเซียน ฝ่ายอียูมาครบ อาทิ นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป นายฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เป็นโอกาสที่ได้พูดคุยกันกันถึงบทต่อไปที่สองภูมิภาคจะร่วมมือกัน ขณะนี้สิงคโปร์รับหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียูต่อไปอีก 3 ปี ขณะที่ไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ จึงเป็นโอกาสในการหารือระหว่างฐานะประธานอาเซียนใหม่ และประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียูใหม่

ที่ประชุมได้พูดคุยเรื่องการค้าการลงทุน สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาค ความเห็นหุ้นส่วนโดยธรรมชาติระหว่างกัน พหุภาคีนิยม แม้ใช้เวลาไม่มากแต่ถือว่าเป็นประโยชน์ และได้วางรากฐานที่ดีไว้ให้กับอาเซียน-อียู ภายใต้ 2 ประเทศที่มีบทบาทในการทำงานร่วมกันต่อกันไป ซึ่งถือเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ทำให้การเดินทางไปครั้งนี้เกิดประโยชน์

ในส่วนของการหารือทวิภาคี ได้พบกันทั้งหมด 9 ประเทศ เพราะมีเวลาไม่มากนัก แต่ความสำคัญไม่ใช่จำนวนประเทศที่มีการพบปะกันเท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือการพบกันดังกล่าวต้องเกิดประโยชน์ เมื่อหารือกันแล้วต้องติดตามผล และสิ่งที่ได้ต้องเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งสองฝ่ายต่อไป

การที่เขามาพูดคุยกับเราเพราะรู้ว่าวันข้างหน้าเราจะมีบทบาทในฐานะประธานอาเซียน แม้เราจะเป็นรัฐบาลรัฐประหารแต่ก็ได้สร้างเสถียรภาพให้เกิดอย่างต่อเนื่อง มีความก้าวหน้าเพียงพอ

ในการหารือกับไทย ทุกวันนี้ไม่มีการมองถึงปัญหาที่ผ่านมาแล้ว แต่เขามองไปยังอนาคต การที่มาหารือโดยรู้ว่าเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง เขาก็มาแตะมือกับเรา ก็เพราะรู้ว่าเราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานแข็งแรงเพียงพอที่เขาจะผูกพันและติดต่อด้วย

ทั้งการประชุมอาเซม อาเซียน-อียู และการหารือทวิภาคีต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือว่าได้ใช้เวลาที่เดินทางไปค้างเพียง 1 คืนอย่างคุ้มค่า เป็นการใช้เวลาทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม และประเทศชาติ

ไทยเป็นประเทศที่มีฐานที่แข็งแรง เป็นแหล่งกำเนิดเรื่องต่างๆ ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญมาจวบจนทุกวันนี้ ไม่ว่าการประชุมผู้นำอาเซมครั้งแรก อาเซียน ไปจนถึงเอซีดี ก็มีกำเนิดจากไทยเช่นกัน คนไทยทั้งหลายน่าจะรับรู้ว่าเราต้องประคับประคองและผลักดันเรื่องต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิ อาเซียน หรือบทบาทที่เราทำคือผู้แทนอาเซียนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้าเรามีเรื่องกระทบภายในบ้านน้อยลง ก็จะทำให้เรามีเวลาและสมาธิมากขึ้น มีโอกาสทำอะไรที่มีคุณค่ามากขึ้น ในกรอบที่กว้างขึ้นทั้งต่อเราและต่อโลก
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่านนายกฯ ต้องเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเอเปค ผู้นำอาเซียน และเยือนฝรั่งเศสเพื่อร่วมงานรำลึกครบ 100 ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ่งเหล่านี้เป็นภาระหน้าที่ด้านการต่างประเทศที่ต้องทำ เพราะเป็นภารกิจของประเทศที่ต้องเดินต่อไปข้างหน้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายประชาชนเป็นศูนยกลางของรัฐบาลนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image